'200 ซีอีโอ' รื้อแผนธุรกิจ รับ 'COVID-19'
ซีอีโอกว่า 33% หวั่นสถานการณ์ลากยาวไตรมาส 3 จี้รัฐอัดฉีดสภาพคล่อง ยกเว้นภาษี กระตุ้นลงทุน - ซีอีโอ 55 % ประเมินรายได้ปีนี้ต่ำกว่าปี 62
จากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 (COVID-19) ยังคงสั่นคลอนความเชื่อมั่น และความมั่นใจในการลงทุนของภาคธุรกิจ
แม้รัฐบาลจะพยายามจัดมาตรการรับมือทั้งในเชิงการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงมาตรการอัดฉีดเงินเพิ่มกระตุ้นกำลังซื้อ ผ่อนคลายกฏเกณฑ์การชำระหนี้ รวมถึงการยืดหนี้ เพื่อประคับประคองภาคธุรกิจที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก
“กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจความคิดเห็น 200 ซีอีโอองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีก และไอทีดิจิทัลถึง "แผนรับมือของภาคธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19" และข้อเสนอแนะต่อภาครัฐทั้งในมุมของการรับมือโรคโควัด-19 และมาตรการฟื้นความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ
- ลดค่าใช้จ่าย-รักษาสภาพคล่อง
จากผลสำรวจ พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แผนรับมือของภาคธุรกิจมุ่งเน้นไปที่การ “ลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กร” มากที่สุด 32.6% รองลงมา คือ พยายามรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ 25.4% อย่างไรก็ตาม มีซีอีโอจำนวนไม่น้อยเตรียมปรับแผน พร้อมดิ้น “หาตลาดใหม่ทดแทน” ขณะที่ 11.9% ของการสำรวจ ซีอีโอมีแผนชะลอลงทุน และลดเป้ารายได้ในปี 2563 นี้ลง
สถานการณ์ครั้งนี้ ล้วนส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ซีอีโอ ยอมรับว่า วิกฤติโควิด-19 กระทบต่อธุรกิจ โดยมากกว่า 43.7% บอกว่า กระทบกับธุรกิจปานกลาง หรือมากกว่า 25% ขณะที่มีซีอีโอจำนวนไม่น้อย 20.1% ยอมรับว่า ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ครั้งนี้มากหรือสะเทือนธุรกิจมากกว่า 50% ขณะที่ซีอีโอ 30.7% รับว่า ได้รับผลกระทบน้อย หรือน้อยกว่า 10% มีเพียงซีอีโอแค่ 5.5% เท่านั้นที่ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบเลย
อย่างไรก็ตาม เมื่อให้ประเมินการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซีอีโอมากกว่า 38% เชื่อว่า จะสามารถยุติได้ไตรมาส 2 ขณะที่ซีอีโออีกกว่า 32.2% คาดว่าสถานการณ์จะยุติไตรมาส 3 อย่างไรก็ตาม ซีอีโอ อีก 12.1% ประเมินว่า สถานการณ์น่าจะลากยาวไปถึงไตรมาส 4 และอีก 17.6% เชื่อว่า “ประเมินได้ยาก”
ซีอีโอเกินครึ่ง หรือมากกว่า 55% ประเมินภาพรวมการเติบโตธุรกิจปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว “ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้”
ซีอีโออีกราว 29.8% ระบุว่า การเติบโตของธุรกิจปีนี้น่าจะทรงตัว และ ซีอีโอ 15.2% ระบุว่า “เท่าเดิม”
วิกฤติครั้งนี้ แน่นอนว่า สะเทือนต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะกำลังซื้อที่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อคนออกจากบ้านน้อยลง ทำกิจกรรมนอกบ้านต่างๆ น้อยลงจากปกติ ทำให้การหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ ที่ต้องอาศัยกำลังซื้อ หยุดชะงักลง ยิ่งในภาคการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาเป็นเหมือนเครื่องยนต์หลักในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ แต่ครั้งนี้ได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อทุกประเทศใช้มาตรการป้องกัน ปิดกั้นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศที่สุ่มเสี่ยง ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับนักท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส
ด้วยเหตุนี้ ผลสำรวจ พบว่า ซีอีโอเกินครึ่ง หรือมากกว่า 55% ประเมินภาพรวมการเติบโตธุรกิจปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว “ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้” ซีอีโออีกราว 29.8% ระบุว่า การเติบโตของธุรกิจปีนี้น่าจะทรงตัว และ ซีอีโอ 15.2% ระบุว่า “เท่าเดิม”
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทย จะได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดีที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ผลสำรวจครั้งนี้ ซีอีโอมากกว่า 53%
“ไม่เชื่อมั่น” มาตรการรับมือของภาครัฐต่อการแก้ปัญหาของโรคโควิด-19 ขณะที่ มีซีอีโอ 46.7% เชื่อมั่นต่อมาตรการรับมือของภาครัฐ
- ซีอีโอฝากถึงรัฐเร่งอัดฉีดธุรกิจ
ผลสำรวจ 200 ซีอีโอที่ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้จัดทำขึ้น ยังเปิดให้ซีอีโอได้เสนอความคิดเห็นต่อมาตรการรับมือของภาครัฐในแง่ของการป้องกันโรค รวมถึงมาตรการช่วยภาคธุรกิจจากผลกระทบวิกฤติในครั้งนี้ด้วย
ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ข้อเสนอแนะจากซีอีโอ พบว่า ส่วนใหญ่แนะให้รัฐมีมาตรการในเรื่องการลดหย่อนภาษี ปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงออกเงินกู้ให้ธุรกิจในอัตราดอกเบี้ยต่ำ การพักชำระหนี้ ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ในส่วนของการลดภาษี มีทั้งข้อเสนอการปรับลดอัตราภาษี จาก 7% เป็น 5% ในระยะเวลา 1 ปี เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเพิ่มงบประมาณสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี
“รัฐควรใช้นโยบายทางภาษีตามฐานทางธุรกิจ เข้าช่วยเหลือในระยะเปลี่ยนผ่านของโรค ลดภาษีในอัตราพิเศษในช่วงเยียวยา กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่ออัตราพิเศษชั่วคราว ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกับธุรกิจที่กระทบ ขณะที่ สนับสนุนให้มีมาตราการรองรับฉุกเฉินกรณีแพร่ระบาดเกินระดับ 3 เร่งการใช้จ่ายภาครัฐ สนับสนุนการใช้จ่าย ท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างเร่งด่วน หรือ หารือกับภาคเอกชนตั้งวอร์รูมดำเนินการสื่อสารให้ชัดเจน”
ซีอีโอ ส่วนใหญ่เห็นว่า รัฐต้องหามาตรการที่ทำให้เกิดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด การผ่อนหลักเกณฑ์ทางสินเชื่อ เพื่อรักษาสถานภาพ และให้เอกชนสามารถเข้าสู่แหล่งเงินทุนได้ทันท่วงที
“ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง รัฐควรให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมากผ่านแบงก์เฉพาะกิจ และหรือแบงก็พาณิชย์ ขณะที่ ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบประกันภัย เพื่อคุ้มครองความเสียหายจากโควิด-19 ด้วยการนำเบี้ยไปลดหย่อนภาษี หรือออกแบบประกันรายย่อยโดยรัฐจ่ายเบี้ยประกันให้เหมือนกับประกันภัยข้าวนาปี”
นอกจากนี้ รัฐควรวางแผนการจ้างงานใหม่ๆ ทั้งชั่วคราวและถาวรให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงานด้วย กระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือน
พร้อมเร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวโดยเร็ว และหามาตรการที่ทำให้คนในประเทศมั่นใจในความปลอดภัยเพื่อให้คนกล้าออกมาใช้จ่ายและออกมาเที่ยวในประเทศ
- เปิดข้อเสนอแนะ ‘ซีอีโอ’ ถึง ‘รัฐบาล’
ส่วนข้อเสนอแนะมาตรการรับมือโควิด-19 ซีอีโอ จำนวนไม่น้อยแนะว่า ต้องการให้ภาครัฐ “เข้มงวด” การใช้กฎหมายเกี่ยวกับโรคระบาดร้ายแรง เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย
มีมาตรการที่เด็ดขาด จับจริง สำหรับคนที่ผิดกฎ รัฐต้องควบคุมการแพร่ระบาด ชะลอการเข้าสู่เฟส 3 ให้ได้ กักตัวผู้ป่วยและผู้เข้าข่ายในพื้นที่ของรัฐที่กำหนดไว้ พร้อมควบคุมการผลิตและการจัดจำหน่ายหน้ากากอนามัยให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเตรียมแผน สถานที่และทีมรับมือการเข้าสู่เฟส 3
รัฐควรป้องกันการเข้ามาของคนจากประเทศกลุ่มเสี่ยงอย่างเข้มงวด คัดกรองการเข้าออกชาวต่างชาติ มีมาตราการตรวจสอบการกักตัวแบบจริงจัง 14 วัน สำหรับคนที่มีความเสี่ยง และควรพ่นแอลกอฮอล์หรือยาฆ่าเชื้อโรคตามที่สาธารณะ ตามท้องถนน ได้ฟรี หรือมีงบประมาณในการช่วยเหลือในภาคเอกชนที่พ่นแอลกอฮอล์ตามที่สาธารณะหรือตามห้าง รถไฟฟ้า หรือสถานที่ที่คนไปมากๆ พร้อมให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ คัดกรองข่าวสารที่ไม่ถูกต้องเพื่อให้ประชาชนปฏิบัติได้
“มาตราการของรัฐ ต้อง ชัดเจน เข้มงวด ไม่ใช่ ต่างคนต่างทำ ควรมีนโยบายเร่งด่วนกำหนดยุทธศาสตร์ ปิดเที่ยวบินจากประเทศกลุ่มเสี่ยง จัดตั้งองค์กรศูนย์กลางในการออกมาตรการควบคุมต่างๆ ประชาสัมพันธ์ ให้ข่าวที่จริง เราเห็นว่า รัฐควรปรับปรุงการสื่อสารข้อมูลถึงประชาชน ควรใช้ช่องทางหลักในการประชาสัมพันธ์ แบบเข้าใจง่ายให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้สึกไม่ทำตัวเป็น big spreader ให้ความรู้ข้อเท็จจริง จากแหล่งเดียว ลดการ bully ข่าว ลดกระแสดราม่าในโซเซียล เพิ่มความรู้เรื่องสุขอนามัยและชีวอนามัย”
อย่างไรก็ตาม มีซีอีโอ จำนวนไม่น้อยอยากเห็นภาครัฐ และส่วนที่เกี่ยวข้องในไทยร่วมทดลอง ยา หรือ วัคซีน ที่มีการผลิต เพื่อดูผลและปรับใช้ในการรักษาโรคโควิด-19ด้วย
ขณะที่ วิกฤติครั้งนี้ รัฐควรตั้งเป็นนโยบายเร่งด่วนวาระแห่งชาติ สร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วนว่า รัฐสามารถควบคุมและรับมือกับสถานการณ์ได้ มีการตรวจโรคโควิด-19 ในประเทศได้ฟรี ซึ่งรัฐบาลต้องรับภาระตรงนี้ รวมถึงหน้ากากอนามัย ควรกันไว้ให้กลุ่มคนที่จำเป็นมากๆ ก่อน