ใช้ชีวิตอย่างไรยุค 'COVID -19' รู้เท่าทัน-รัฐแถลงข้อมูลจริง
ขณะนี้การใช้ชีวิตประจำวันล้วนได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทั้งสิ้น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดเสวนา เรื่อง “จะใช้ชีวิตอย่างไร ในโลกยุค COVID -19”
ขณะนี้การใช้ชีวิตประจำวันล้วนได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทั้งสิ้น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดเสวนา เรื่อง “จะใช้ชีวิตอย่างไร ในโลกยุค COVID -19” เพื่อหาคำตอบว่าขณะนี้ และหลังจากนี้หากสถานการณ์โควิด-19 มีความรุนแรง มีการระบาดมากขึ้นแล้วคนไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ ชีวิตต่อไปจะเป็นอย่างไร?
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า โรคโควิด -19 ส่งผลกระทบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การใช้ชีวิตของผู้คนขณะนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็น การทักทาย หลายประเทศทั่วโลกมองว่าอาจต้องเปลี่ยนการทักทายจากการจับมือ กอด ไปเป็นรูปแบบอื่นๆ หรือการอยู่ห่างกัน 2 เมตร ทำให้คนที่อยู่ใกล้กันก็ไม่สื่อสารกัน ต้องยืนห่างกัน เวลาไปทำงาน หรือเข้าสถานที่ต่างๆต้องมีการตรวจอุณหภูมิ หรือการกินข้าวในประเทศจีน คนหนึ่งคนจะนั่งกินอาหารเพียงคนเดียวในโต๊ะ มีคิวในการกินอาหาร ทำให้ไม่มีการปฎิสัมพันธ์ต่อกัน เป็นต้น
“เมื่อมีสถานการณ์โรคระบาดแบบนี้ ทุกคนต้องดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง ป้องกันให้ตนเองไม่ติดเชื้อ อย่าง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ และต้องเฝ้าสังเกตอาการ ถ้าตัวเองมีความผิดปกติเมื่อใดต้องรีบไปพบแพทย์ รวมถึงต้องดูแลสังคม คือ ทำอย่างไรไม่ให้ตนเองเป็นผู้แพร่เชื้อ หรือรับเชื้อ โดยต้องหลีกเลี่ยงเข้าไปในพื้นที่ชุมชน และควรปฎิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข”ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว
ทางรอดทุกคนต้องดูแลตัวเอง
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าสิ่งที่ต้องทำ คือ ทำอย่างไรให้อยู่กับโรคโควิด-19 ให้ได้ โดยต้องมีระเบียบวินัย ความเข้มงวดในการดูแล ทุกคนดูแลตัวเอง ล้างมือบ่อยๆ และล้างนานๆ ต้องมีความห่างระดับสังคม สวมใส่หน้ากากอนามัย คนปกติใส่หน้ากากผ้า เพื่อให้หน้ากากอนามัยมีเพียงพอต่อบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย รวมถึงมีมาตรการ เพื่อยืดเวลา ค้นหาองค์ความรู้ใหม่ที่มาใช้ในการรักษา มีเครื่องมือ หรือยา วัคซีนอะไรลดความรุนแรงและลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด ทุกคนช่วยกันชะลอโรคนี้ให้มาก เพื่อบรรเทาเบาบางของโรคนี้ให้ได้
“ทุกคนต้องเรียนรู้ข้อมูล เพื่อเข้าใจ ดูแลตัวเอง แทนที่จะอยู่กับความหวาดกลัว และควรเลิกนับจำนวนผู้ติดเชื้อ เพราะไม่ว่าอย่างไรเราต้องเรียนรู้และอยู่กับโรคอย่างมีความสุข อีกทั้งระยะของโรคนั้นไม่ว่าจะเป็นระยะที่2 หรือระยะที่3 เป็นเพียงการเดินทาง ไม่เกี่ยวกับความรุนแรงของโรค สำหรับผมระยะไม่ได้สำคัญอะไร ทุกคนต้องต่อสู้และเดินไปด้วยกัน"ศ.นพ.ยง กล่าว
รัฐสื่อสารชัดเจน-ข้อมูลจริง
ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ อุปนายกราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่าการสื่อสารต้องให้ประชาชนมีความรู้ทั้งสถานการณ์โรค หน้ากากอนามัย การล้างมือ โการเตรียมตัวถึงการใช้ชีวิตของผู้คน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องควรตั้งโต๊ะแถลง มีข้อมูลถูกต้องชัดเจน เป็นความจริงในการแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบ ควรมีการนำเสนอกรณีศึกษา และผู้ที่รับข้อมูลข่าวสารควรมีสติ รู้เท่าทันสถานการณ์ ทันโลก ตั้งใจปฏิบัติรักษาร่างกาย จิตใจ ตามข้อปฏิบัติที่ควรจะทำ ยินดีกับกระบวนการที่ได้รับการรักษา และช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอนาคต สงบใจสงบกายไม่โวยวาย มีสมาธิ พิจารณาด้วยปัญญาให้รอบคอบ ดูแลตัวเอง คนที่รัก มีภูมิคุ้มกันทางใจและทางปัญญา
รศ.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าตอนนี้เชื่อว่าคนไทยมีความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 มาก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงการใช้ปัญญาในการนำความรู้ไปใช้อย่างถูกต้อง ดังนั้น อยากให้คนไทยดูแลธรรมชาติ จิตใจของเราเอง ขณะเดียวกัน อยากให้ใช้โอกาสนี้ศึกษาระบบการศึกษา ทำอย่างไรในการสร้างเด็ก สร้างคนให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน มีความเป็นมนุษย์ ดูแลจิตใจตนเองและผู้อื่น ทุกคนเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน และเมื่อจบเหตุการณ์ครั้งนี้ควรนำมาเป็นบทเรียนในการสร้างคน การเปลี่ยนแปลงประเทศในด้านอื่นๆ ยุทธศาสตร์ชาติควรเปลี่ยนแปลง มีการเข้าใจวิถีชีวิตคน สร้างความมั่นคงทางจิตใจให้แก่ผู้คนได้มากขึ้น
พลิกวิกฤตตั้งศูนย์ข้อมูล 24ชม.
ตบท้ายด้วย เศรษฐกิจไทยในยุคโควิด-19 นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการจะอยู่อย่างไรในยุคโควิด -19 ในส่วนของภาคประชาชนต้องเริ่มแรกต้องมีสติ กลั่นกรองข่าว ดูแลตัวเอง และผู้อื่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อยู่แบบเพียงพอ ส่วนภาคเศรษฐกิจนั้น ต้องรู้จักพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพราะตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลได้ออกมาตรฐานเสริมสภาพคล่อง หรือการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้แก่ภาคเศรษฐกิจมากมาย ควรใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์
“โควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย การท่องเที่ยว การเกษตร แต่หอการค้าไทยเห็นวิกฤตเป็นโอกาส รัฐบาลสนับสนุนมาตรการเสริมสภาพคล่องต่างๆ เช่น การยืดหนี้ การลดค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งประชาชน นักธุรกิจ ผู้ประกอบการควรศึกษาเรื่องเหล่านี้และใช้ให้เกิดประโยชน์ มองหาลู่ทางใหม่ๆ ทั้งการขายของออนไลน์ การสื่อสารธุรกิจผ่านออนไลน์ การบริการต่างๆ ขณะที่ภาครัฐต้องมีการตั้งศูนย์รวบรวมข้อมูลทุกภาคส่วนเพื่อบริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยเหลือประชาชนให้เข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญการทำงานช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงการตั้งศูนย์ดังกล่าวต้องเพื่อพี่น้องประชาชน"นายกลินท์ กล่าว