‘ไวรัสโคโรน่า’ อยู่ในอากาศได้นานกว่าที่คิด?
ผลวิจัยล่าสุดชี้ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 มีชีวิตรอดอยู่ในอากาศได้เกือบ 3 ชั่วโมง นานกว่าที่ผลวิจัยจีนก่อนหน้านี้คาดว่าไวรัสนี้ลอยอยู่ในอากาศได้ 30 นาที แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์ตั้งคำถามว่าผลวิจัยล่าสุด “เกินจริง” หรือไม่
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (เอ็นอีเจเอ็ม) เมื่อวานนี้ (17 มี.ค.) พบว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 สามารถมีชีวิตอยู่รอดภายนอกร่างกายมนุษย์ได้นานพอ ๆ กับไวรัสต้นตอโรคซาร์สที่เคยระบาดเมื่อช่วงปี 2544-2546
ขณะเดียวกัน เมื่อรวมกับปัจจัยอื่น ๆ โดยเฉพาะความสามารถในการแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้ไม่แสดงอาการป่วย จึงทำให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงและกระจายเป็นวงกว้างมากกว่าโรคซาร์ส
นอกจากนี้ คณะนักวิจัยได้ใช้เครื่องพ่นละออง เพื่อจำลองการไอหรือจามของมนุษย์ และพบว่า ยังมีเชื้อไวรัสปะปนอยู่ในอากาศแม้จะผ่านไปนานเกือบ 3 ชั่วโมง
งานวิจัยดังกล่าวร่วมจัดทำขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (ยูซีแอลเอ) และมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน
- ขัดแย้งผลวิจัยจีน
อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยล่าสุดขัดแย้งกับผลการศึกษาโดยทีมนักระบาดวิทยาของรัฐบาลจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วซึ่งพบว่า เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ล่องลอยอยู่ในอากาศได้อย่างน้อย 30 นาที และกระจายไปไกลถึง 4.5 เมตร มากกว่าระยะปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลก แนะนำให้อยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อ 1-2 เมตร
นักวิจัยจีนพบว่า เชื้อไวรัสต้นตอโรคโควิด-19 สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายวันบนวัตถุที่มีฝอยละอองจากระบบทางเดินหายใจตกลงบนพื้นผิว ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหากมีใครสัมผัสฝอยละอองบนวัตถุแล้วไปสัมผัสใบหน้า
แต่ระยะเวลาที่เชื้ออยู่บนวัตถุขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อุณหภูมิ และชนิดของวัตถุ เช่น ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน 2-3 วันบนแก้ว ผ้า โลหะ พลาสติก หรือ กระดาษ
ผลการศึกษานี้รวบรวมจากนักวิจัยในมณฑลหูเป่ย์ ที่สอบสวนโรคกรณีการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน (cluster) เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา ช่วงที่มีการเดินทางมากที่สุดเพื่อฉลองเทศกาลตรุษจีน
- ยังมีข้อกังขา
นอกจากนี้ ผลการศึกษาล่าสุดของสหรัฐยังพบว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ สามารถอยู่รอดได้ประมาณ 2-3 วันบนพื้นผิวที่เป็นพลาสติกและสแตนเลส และอยู่ได้นานสูงสุด 24 ชั่วโมงบนกระดาษแข็ง สอดคล้องกับรายงานที่สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ (เอ็นไอเอช) ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐ เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ก่อน
หลังจากผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ถูกโพสต์ลงบนเว็บไซต์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก่อนจะผ่านกระบวนการทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญ ปรากฏว่า ได้รับความสนใจจากผู้อ่านอย่างมาก และมีนักวิทยาศาสตร์บางคนวิจารณ์ว่า รายงานฉบับนี้อาจให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เชื้อจะแพร่กระจายทางอากาศ “เกินจริง”
ผู้วิจารณ์ตั้งคำถามว่า เครื่องพ่นละอองสามารถเลียนแบบละอองฝอยที่เกิดจากการไอหรือจามของมนุษย์ได้จริงหรือไม่
ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการติดเชื้อไวรัสคือ การสัมผัสกับละอองฝอยจากระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ ซึ่งเชื้อที่ออกมาในรูปนี้จะอยู่รอดได้เพียงไม่กี่วินาทีหลังจากที่ผู้ป่วยไอหรือจาม
- เทียบไวรัส ‘โรคซาร์ส’
คณะวิจัยในสหรัฐได้ทำการทดสอบแบบเดียวกันกับไวรัสโรคซาร์ส จนพบว่า ไวรัสทั้ง 2 ชนิดมีระยะเวลาในการอยู่รอดภายนอกร่างกายพอ ๆ กัน
อย่างไรก็ตาม ความเหมือนในข้อนี้ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จึงแพร่กระจายในวงกว้างจนมีผู้ติดเชื้อมากถึง 2 แสนคน และคร่าชีวิตผู้ป่วยไปแล้วเกือบ 8,000 คนทั่วโลก ขณะที่โรคซาร์สมีผู้ติดเชื้อเพียงราว 8,000 คน และเสียชีวิตไม่ถึง 800 คน
“ความแตกต่างในลักษณะทางระบาดวิทยาของไวรัส 2 ชนิดนี้ อาจมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ปริมาณเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนบน และโอกาสที่ผู้ติดโรคซาร์ส จะปล่อยและแพร่เชื้อไวรัสขณะที่ยังไม่แสดงอาการป่วย” คณะนักวิจัยระบุ
งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการเว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการจับต้องใบหน้า หรือใช้มือปิดปากขณะไอและจาม และควรพ่นสเปรย์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อบนพื้นผิวต่าง ๆ อยู่เสมอ