‘เงินลงทุน’ หายไปไหน? เมื่อทุก ‘สินทรัพย์’ ถูกเทขาย
MSCI World Index ดัชนีชี้วัดตลาดหุ้นโลก ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากประมาณ 2,400 จุด มาแตะระดับ 1,700 จุด หรือลดลงประมาณ 29%
ขณะที่ "ราคาทองคำ" แม้จะมีช่วงที่พุ่งขึ้นไปแตะระดับ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ล่าสุดทองคำก็เป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงไปทำจุดต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ที่ 1,451 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือลดลงเกือบ 7% จากราคาปิดเมื่อปลายปี 2562
เช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอย่าง ‘น้ำมัน’ ที่ปรับลดลงมาต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำสุดใกล้เคียงกับปี 2559
ขณะที่ ‘ตราสารหนี้’ ที่ดูเหมือนจะยังเป็นสินทรัพย์เดียวที่ยังพอให้ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาเป็นบวกได้ในปีนี้ จากยีลด์ อายุ 10 ปี ซึ่งลดลงต่ำเพียงประมาณ 1% ล่าสุดก็เริ่มเห็นยิลด์ขยับขึ้นมาเป็น 1.35% จากราคาหน้าตั๋วที่ลดลง สะท้อนว่า แรงขายในตลาดบอนด์เริ่มมีมากขึ้นเช่นกัน
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้เรียกว่า ปรากฎการณ์ ‘Capitulation’ คือการที่คนส่วนใหญ่ไถ่ถอนเงินลงทุนออกจากทุกๆ สินทรัพย์
“เหมือนกับว่าทุกคนยอมแพ้ เพื่อถือเงินสด” ซึ่งเป็นสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นในวิกฤตต่างๆ อย่าง ‘ทองคำ’ ซึ่งเดิมทีคนมองว่าจะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ สุดท้ายก็ปรับตัวลง
ดูเหมือนจะมีเพียงสินทรัพย์เดียวที่ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกในปี 2563 คือ พันธบัตรรัฐบาล ที่แม้ว่าจะมีอัตราผลตอบแทนลดลงมาต่ำกว่า 1% แต่ก็ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกจากส่วนต่างราคา (Capital gain) โดยพันธบัตรรัฐบาลไทยเป็นบวกราว 2.5% ส่วนของสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 3.3%
แม้ว่าจะมีการขายทำกำไรในพันธบัตรเหล่านี้ออกมาบ้าง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เห็นสัญญาณของการไถ่ถอนอย่างรุนแรงเหมือนในสินทรัพย์อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะถือเงินสดไว้จำนวนมาก แต่จากสถิติในอดีตมีโอกาสน้อยมากที่จะเห็นการฟื้นตัวในลักษณะ V-shape เมื่อเหตุการณ์เลวร้ายคลี่คลายลง เพียงแต่ว่าระยะเวลาในการฟื้นตัวรอบนี้อาจจะไม่ได้ยาวนานเหมือนในวิกฤตที่ผ่านมา
“เมื่อดูจากดัชนี VIX (Volatility Index) ซึ่งปรับขึ้นเร็วมาก จากระดับปกติคือ 15 ขึ้นมาทะลุ 80 ในเวลาเพียง 1 เดือน ขณะที่วิกฤตในปี 2552 ดัชนี VIX ขยับจาก 15 ไป 80 ใช้เวลาถึง 6 เดือน สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุน price in ข่าวร้ายต่างๆ อย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก เพราะฉะนั้นการปรับตัวลงในครั้งนี้จึงน่าจะเป็นแบบ เจ็บเร็ว จบเร็ว”
เบื้องต้นคาดการณ์ว่าการปรับตัวอาจจะใช้เวลาเพียง 3 – 6 เดือน จากเดิมที่มักจะใช้เวลาถึง 6 – 12 เดือน สำหรับการฟื้นตัวกลับมาในจุดเดิม
“เทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในเอเชีย ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่ถูกหั่นประมาณการกำไรลดลงหนักที่สุดถึง 14% ทิ้งห่างอันดับ 2 คือ ตลาดหุ้นฮ่องกง ซึ่งโดนหั่นประมาณการกำไรลง 9% เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเท่ากับว่าในเชิงปัจจัยพื้นฐานของไทย (เทียบกับประเทศอื่น) อาจจะไม่ดีนัก ทำให้ตลาดหุ้นไทยก็น่าจะเป็นเป้าหมาย (ของการลงทุน) ในลำดับท้ายๆ”
ขณะที่ บล.ยูโอบีเคย์เฮียน ระบุว่า ตลาดหุ้นโลกยังปรับลดลงต่อเนื่อง โดยหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงจนติดระดับหยุดพักการซื้อขาย (Circuit breaker) ที่ 7% ก่อนกลับมาซื้อขายและปิดปรับตัวลดลงราว 12% (เมื่อ 17 มี.ค. 2563) ขณะที่หุ้นยุโรปปรับตัวลดลง 4-6% สำหรับราคาทองคำและน้ำมันดิบฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย หลังจากการปรับลดลงแรงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับขึ้น แสดงถึงแรงขาย ก่อให้เกิดคำถามกับนักลงทุนว่าเงินไปไหน?
สถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้เกิดการชะงักทั้งอุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply) ของสินค้าและบริการทั่วโลก ส่งผลให้ธุรกิจขาดรายได้ ขณะที่ยังมีแรงกดดันด้านรายจ่าย จึงทำให้กิจการจำนวนมากจำเป็นต้องระดมสภาพคล่องผ่านการกู้ยืม การขายสินทรัพย์ต่างๆ และการระงับแผนการลงทุนและใช้เงินต่างๆ รวมถึงการซื้อหุ้นคืน
อย่างไรก็ตาม หุ้นหลายตัวเริ่มต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน เป็นการยากที่จะตอบว่าแรงกดดันด้านสภาพคล่องจะทำให้ตลาดเคลื่อนไหวผิดเพี้ยนและปรับลดต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานไปนานเพียงใด อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่าราคาหุ้นหลายตัวในปัจจุบันได้ปรับลงต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานระยะยาว หรือต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในระยะยาว เพียงแต่นักลงทุนที่เข้าลงทุนในช่วงนี้อาจต้องรับความเสี่ยงความผันผวนราคาและผลประกอบการที่จะชะลอในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้