มหาวิทยาลัย นำนวัตกรรม-ปรับพื้นที่ ลดภาระแบ่งเบาโรงพยาบาล

มหาวิทยาลัย นำนวัตกรรม-ปรับพื้นที่ ลดภาระแบ่งเบาโรงพยาบาล

มทร.อีสานดัดแปลงหุ่นยนต์เก็บกู้สู้วิกฤติโควิด -19 ช่วยแบ่งเบาบุคลากรทางการแพทย์ ลดการสัมผัสผู้ป่วย ขณะที่จุฬาฯ เตรียมเปิดห้องพักใน2 อาคาร รองรับสมาชิกประชาคมจุฬาฯ-ผู้ป่วยจากรพ.จุฬาฯ พักฟื้นจากการติดเชื้อ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่พัก

การเตรียมพร้อมรับมือช่วยเหลือกันเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ลุกลามขยายตัวและมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เกินกำลังที่หลายๆ โรงพยาบาลขนาดใหญ่จะรองรับได้

158521313971

หุ่นยนต์เก็บกู้สู้วิกฤติ ลดแพทย์สัมผัสผู้ป่วย

ดร.ปฐมาภรณ์ ชัยกูล อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด 19 ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและอาจติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานอย่างหนักและเสี่ยงกับการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19

“มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น นำโดย อ.บุญกิจ อุ่นพิกุล ผู้ช่วยอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น  อ.ประสาท ภูปลื้ม อ.พิศาล มูลอำคา อ.ทศพล แจ้งน้อย อ.เอกวุฒิ แสนคำวงษ์ อ.ศักดิ์นรา สุวรรณบำรุง และ นักศึกษาสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ และวิศวกรรมเครื่องกล มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น  จึงมีแนวคิดในการดัดแปลงหุ่นยนต์กู้ระเบิดที่สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานสู้วิกฤตไวรัสโควิด 19 เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ลดการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ด้วยการทำงานผ่านรีโมทคอลโทล เพื่อใช้ในการขนส่งอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ การรับเสื้อผ้าจากผู้ติดเชื้อ โดยไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง”ดร.ปฐมาภรณ์ กล่าว

158520649738

ทั้งนี้ หุ่นยนต์เก็บกู้สู้วิกฤติโควิดชุดแรกจะมีการส่งมอบให้กับโรงพยาบาลสิรินธร  ต.โนนสมบูรณ์ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น และภายหลังการหารือกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล แพทย์และพยาบาล เราจะทราบว่าจะผลิตเพิ่มอีกจำนวนเท่าไร หากโรงพยาบาลใดสนใจสามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น 150 ถนนศรีจันทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000 โทรศัพท์ 043-283-707

CU V Care รองรับประชาคมจุฬาฯติดโควิด-19

.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินไวรัสโคโรนา 2019 เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พยายามเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระ โดยการจัดตั้งโครงการ CU V Care เพื่อรองรับบุคลากรและนิสิตจุฬาฯที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นจนสามารถกลับไปดูแลตัวเองได้ ตลอดจนผู้ที่เข้าข่ายการสืบค้นโรคหรือ PUI (ผู้เข้าข่ายสงสัยว่าจะติดเชื้อเพราะสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ)

158520650968

ภายใต้โครงการ CU V Care ทางมหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงอาคารจุฬานิเวศน์ สำหรับบุคลากรหรือนิสิตที่ติดเชื้อ COVID-19 และได้รับการรักษาจนมีอาการดีขึ้น และหอพักจำปาสำหรับผู้ที่เข้าข่ายการสืบค้นว่าติดเชื้อหรือไม่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาคมจุฬาฯ ลดปัญหาปัญหาเตียงคนไข้ ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่ไม่เพียงพอ

มหาวิทยาลัยได้วางแผนในการดูแลบุคลากรและนิสิตกลุ่มนี้ในด้านสุขภาพ โดยศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ สำนักบริหารระบบกายภาพ จะได้ร่วมกันดูแลความเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆของการใช้ชีวิตของบุคคลทั้งสองกลุ่มโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆยกเว้นค่าอาหาร

เตรียมแผนช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ในระยะต่อไปจุฬาฯ มีแผนจะขยายการช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อรายอื่นๆ จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นอกเหนือจากสมาชิกประชาคมจุฬาฯที่มีอาการดีขึ้นแล้วให้เข้ามาพักที่อาคารดังกล่าวด้วย รวมทั้งประสานงานกับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ เพื่อใช้อาคารในพื้นที่เชิงพาณิชย์ของจุฬาฯ ในการรับผู้ป่วยมาพักเพิ่มขึ้น

“นโยบายของจุฬาฯ ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยและการดูแลสุขภาพของประชาคม    จุฬาฯ ให้ดีที่สุด สถานการณ์ COVID-19 จุฬาฯส่งผลกระทบอย่างมาก เราจึงได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการดูแลเรื่องสุขภาพ จัดสถานที่รองรับ และมีระบบดูแลสุขภาพทางใจด้วย จึงอยากให้ความมั่นใจว่าจุฬาฯ มีระบบในการดูแลสุขภาพประชาคมจุฬาฯ เป็นอย่างดีตามมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อและ PUI มีสุขภาพที่ฟื้นคืนมาอย่างดีที่สุด” .นพ.ดร.นรินทร์ กล่าว

ใช้จุฬานิเวศน์- หอพักจำปา บริการกลุ่มแรก 50 เตียงแล้ว

.นพ.ดร.สมบัติ ตรีประเสริฐสุข ผู้ช่วยอธิการบดีด้านแผนและยุทธศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการเตรียมความพร้อมของจุฬาฯ ในเรื่องที่พักสำหรับผู้ป่วยกลุ่มที่ติดเชื้อ COVID-19  และ PUI ว่าจะใช้จุฬานิเวศน์สำหรับรองรับกลุ่มแรกและหอพักจำปาสำหรับกลุ่มหลัง โดยจะสามารถรองรับได้ประมาณที่ละ 50 เตียง  ซึ่งได้มีการเตรียมระบบรองรับทางด้านกายภาพและด้านการแพทย์ไว้พร้อมให้บริการได้ตั้งแต่   วันพุธที่ 25 มีนาคมเป็นต้นไป

158520656430

ดูแล 2 ระดับ ช่วยแบ่งเบาบุคลากรทางการแพทย์

สำหรับวิธีการคัดเลือกผู้ที่จะมารับบริการที่ CU V Care  ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จะคัดเลือก  ผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่มาก และต้องเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการสังเกตอาการจากโรงพยาบาลมาแล้วว่ามีอาการดีขึ้นและปลอดภัยเพียงพอที่จะส่งกลับมาให้จุฬาฯ ดูแลต่อ โดยมีทีมแพทย์ พยาบาลจากศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ คอยประสานติดตามอาการผู้ป่วยทุกวัน ถ้ามีอาการแย่ลงก็จะส่งกลับไปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพื่อตรวจรักษาต่อไป 

ทั้งนี้ การดูแลจะแบ่งออกเป็น2 ระดับคือ ผู้ที่เป็น PUI ไม่แสดงอาการจะให้ดูแลตัวเองเหมือนคนปกติ มีห้องพักส่วนตัวให้แต่ใช้ห้องน้ำรวมที่อาคารจำปา ส่วนผู้ป่วยที่มีผลเลือดจากการทดสอบตามมาตรฐานเป็นบวก ก็จะจัดให้อยู่ห้องเดี่ยว มีห้องน้ำในตัวที่อาคารจุฬานิเวศน์  ทั้งสองอาคารมีอาหารให้บริการ มีการจัดการเรื่องขยะอย่างเป็นระบบ และมีระบบติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยภาพรวมน่าจะช่วยลดการติดเชื้อระหว่างคนในครอบครัวของสมาชิกประชาคมจุฬาฯได้เพราะไม่ต้องกลับไปอยู่ปะปนกันที่บ้าน

158520656436

ในส่วนของบุคลากรที่เข้ามาช่วยในโครงการนี้จะเป็นอาสาสมัครซึ่งส่วนใหญ่มาจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่สำนักบริหารระบบกายภาพ คนงาน คนสวน ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อน จำนวน 40 คน  อาสาสมัครเหล่านี้จะได้รับการอบรมเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจในการดูแลป้องกันตัวเองในด้านต่างๆ จากอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านโรคติดเชื้อ จัดทำคู่มือสรุปข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติเพื่อป้องกันตนเอง วิธีการดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดทีมบริหารที่เฝ้าระวังจัดการเรื่อง COVID-19 โดยตรง ช่วยแก้ปัญหาต่อไป

เปิดบริการให้คำปรึกษาออนไลน์ ดูแลร่างกายและจิตใจ

ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีด้านการพัฒนานิสิตและนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาฯ กล่าวถึงหอพักจำปาที่จะใช้เป็นที่พักของสมาชิกประชาคมจุฬาฯที่เป็น PUI ว่า ที่เลือกอาคารนี้เพราะเป็นอาคารหอพักนิสิตซึ่งมีบริเวณพื้นที่ที่แยกส่วน มีทางเข้าทางออกที่แยกออกจากพื้นที่อื่นๆ

แม้อาคารนี้จะใช้สำหรับ PUI แต่จะใช้มาตรฐานคล้ายคลึงกับการดูแลผู้ป่วย โดยเจ้าหน้าที่ดูแลจะได้รับการฝึกอบรมจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ดร.ชัยพรกล่าวว่าต้องขอขอบคุณนิสิตที่ย้ายตัวเองออกมาเพื่อให้หอพักว่างสำหรับปรับใช้ในสถานการณ์นี้  และยังต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เป็นอาสาสมัครในการดูแลประชาคมที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเหล่านี้

สำหรับการดูแลนิสิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทางจุฬาฯ มีหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต (Chula Student Wellness) ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนแผนการดูแลด้วยการให้บริการให้คำปรึกษาออนไลน์ในกรณีที่นิสิตมีความกังวลโดยเฉพาะในประเด็นของ COVID-19 โดยตรง

158520656524

เตรียมคู่มือการปฎิบัติตนในหอพัก แก่ผู้เข้าพักรายใหม่

ผศ.ดร.วรภัทร์ อิงคโรจน์ฤทธิ์  ผู้ช่วยอธิการบดีด้านการบริหารระบบกายภาพ จุฬาฯ กล่าวถึงการจัดที่พักสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะพักฟื้นที่อาคารจุฬานิเวศน์ว่า แต่เดิมเป็นอาคารที่พักของบุคลากรและกำลังจะได้รับการปรับปรุง มีทั้งสิ้น 4 ชั้น ขนาดห้องละประมาณ 32 ตรารางเมตร สภาพแวดล้อมมีความเหมาะสม อากาศถ่ายเทได้สะดวก และเป็นอาคารแยกจากอาคารอื่น มีระยะห่างจากอาคารอื่นไม่ต่ำกว่า 10 เมตร

มหาวิทยาลัยจะเตรียมคู่มือการปฏิบัติตนเมื่อเข้าพักอาศัย ซิมโทรศัพท์สำหรับการติดต่อสื่อสาร และของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันไว้ให้ เช่น เครื่องมือทำความสะอาด จาน ชาม พัดลม ที่นอน ถังขยะ ฯลฯ

สิ่งของที่ผู้เข้าพักต้องใช้ร่วมกัน ก็คือ ห้องซักผ้า มีชั้นละ 1 จุด รวม 4 จุด และ จุดทิ้งขยะ ซึ่งจะจัดจุดทิ้งขยะไว้ที่ชั้น 1 กรณีที่ผู้เข้าพักออกจากห้องได้แล้ว จะมีการทำความสะอาดห้องและฆ่าเชื้อตามมาตรฐานทางสาธารณสุขก่อนรับผู้เข้าพักรายใหม่ นอกจากนี้จะมีเจ้าหน้าที่ประจำและอาสาสมัครจำนวนกว่า 50 คน เพื่อปฏิบัติงานในอาคาร ซึ่งได้รับการอบรมวิธีการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลมากที่สุด

การปฏิบัติงานในแต่ละวัน จะจัดเวรผลัดเปลี่ยนกันทำงานเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ผลัดแรกเวลา 06.00 -14.00 . และผลัดสองเวลา 14.00 - 22.00 . โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและจิตอาสาทั้งหมดจะไม่มีการสัมผัสโดยตรงกับผู้เข้าพัก การติดสื่อสารหลักจะใช้วิธีออนไลน์หรือโทรศัพท์ หากจำเป็นต้องพูดคุยกัน จะกำหนดระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร  ผู้ปฏิบัติงานและอาสาสมัครทุกคนจะได้รับการตรวจเช็คสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหลังจากจบโครงการและมหาวิทยาลัยจะมีการทำประกันสุขภาพให้ทีมงานทุกคนด้วย