‘หมอเสริฐ’ ส่อยกธงขาวเทคโอเวอร์ ‘บีเอช’ ทุบราคาหุ้นรูดต่ำสุดรอบ 6 ปี
ราคาหุ้น บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือ BH เมื่อ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา เปิดการซื้อขายดิ่งลงทันที 21 บาท หรือลดลง 16.34% จากวันทำการก่อนหน้า แม้ส่วนหนึ่งจะถูกกดดันจากการขึ้นเครื่องหมาย XD สำหรับการจ่ายเงินปันผล 2.05 บาทต่อหุ้น
แต่ประเด็นหลักที่เข้ามากดดันมากกว่า คือ การที่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS ของกลุ่ม
ของกลุ่ม ‘หมอเสริฐ’ หรือ นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ส่อแววจะยกเลิกการทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด (Tender offer) ของ BH ตามที่ได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้
ภายหลังการประกาศที่จะทำเทนเดอร์หุ้นโดย BDMS ราคาหุ้นของ BH กระโดดขึ้นมาทันทีจาก 112 บาท เมื่อ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา และซื้อขายอยู่ในช่วง 125 – 130 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับที่ BDMS ต้องการจะทำคำเสนอซื้อที่ 125 บาท
อย่างไรก็ตาม การจะทำเทนเดอร์ของ BDMS ในครั้งนี้ ต้องรอการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน รวมถึงต้องผ่านการพิจารณาของกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อีกด้วย แต่นั่นอาจจะไม่ใช่อุปสรรคเท่ากับการที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าของ BH อยู่เดิมอย่าง ตระกูลโสภณพนิช ดูเหมือนจะไม่ได้ต้องการที่จะปล่อย BH หลุดมือไป
และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ ตระกูลโสภณพนิช ตัดสินใจให้ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL ใช้สิทธิแปลงสภาพหุ้นกู้ที่ถืออยู่ส่วนหนึ่ง และเข้ามาถือหุ้น BH เพิ่มเติมอีกเกือบ 10% ซึ่งทำให้สัดส่วนการถือหุ้นรวมกันของกลุ่มโสภณพนิช เพิ่มขึ้นแซงหน้า BDMS ในที่สุด
ในมุมของการแย่งชิงหุ้น BH กันระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 กลุ่ม ดูเหมือนจะจบลงไปแล้ว และกลุ่มของโสภณพนิชก็น่าจะพึงพอใจกับผลลัพธ์ในท้ายที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน การเทนเดอร์ที่ส่อแววล่มในครั้งนี้ ส่งผลให้ปัจจัยที่ช่วยค้ำราคาหุ้นไว้ก่อนหน้านี้หมดไป
นายปริญญ์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การปรับตัวลงของหุ้น BH สะท้อนการที่ BDMS อาจจะยกเลิกแผนในการทำเทนเดอร์ ซึ่งประกาศไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่คาดไว้นัก เพราะถึงแม้ว่า BDMS จะเดินหน้าทำเทนเดอร์ต่อ ก็มีโอกาสที่บริษัทจะไม่สามารถเข้าซื้อหุ้นได้ทั้งหมด 100%
“หลังจากที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ (ตระกูลโสภณพนิช) ให้ทาง บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เข้ามาถือหุ้น BH เพิ่มก่อนหน้านี้ สะท้อนให้เห็นแล้วว่าเขาไม่ค่อยยินดีนักที่จะให้ BDMS เข้าทำเทนเดอร์ ส่วนราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงมานอกจากจะสะท้อนเรื่องเทนเดอร์แล้ว ยังสะท้อนถึงโอกาสการเติบโตของ BH ที่ค่อนข้างจำกัดหลังจากนี้”
แนวโน้มการเติบโตระยะสั้นของ BH น่าจะทำได้ไม่ดีนัก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดที่ยังไม่มียารักษาโดยตรง และยังไม่มีวัคซีน จึงคาดว่าจำนวนผู้ป่วยที่มาใช้บริการของ BH จะลดลงในครึ่งปีแรก โดยบริษัทคาดว่ารายได้ในปีนี้จะทรงตัวถึงติดลบ 2% จากปีก่อน ขณะที่เราคิดว่ารายได้อาจจะแย่กว่าที่บริษัทคาดไว้ ถ้าหากสถานการณ์การระบาดยังดำเนินต่อไป
โดยรวมเราปรับสมมติฐานในการประมาณการ และได้รวมผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามาไว้ในประมาณการด้วย ทำให้ประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ลดลงอีก 26.9% เหลือ 3.17 พันล้านบาท และปี 2564 ปรับลดลงจากเดิม 24.5% เหลือ 3.35 พันล้านบาท บนสมมติฐานที่ว่าอัตรากำไรขั้นต้นลงเหลือ 43% และ 44% (จากเดิมปีละ 44%) และปรับเพิ่มสัดส่วนค่าใช้จ่ายการขายและบริหารต่อยอดขายเป็นปีละ 21% (จากเดิมที่ 17.5% และ 18.0%) สะท้อนถึงการที่มีผู้ป่วยต่างชาติมาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ลดลง 32% จากปีก่อน โดยสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติดคิดเป็นประมาณ 33% ของรายได้
หากพิจารณาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแล้ว บริษัทจึงยังไม่มีแผนลงทุนในโครงการที่มีนัยสำคัญในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่สัดส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิของบริษัทอยู่ในระดับต่ำมาก ดังนั้น จึงคาดว่าบริษัทจะเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผลเป็น 65% ในปี 2563 - 2564 จาก 62% และ 51% ในปี 2562 และ 2561 อย่างไรก็ตาม หากประเมินมูลค่าหุ้นระยะยาวของ BH ด้วยวิธี DCF มูลค่าหุ้นที่เหมาะสมอยู่ที่ 140 บาท เพียงแต่ในระยะสั้น หุ้นของ BH มีโอกาสจะเติบโตค่อนข้างจำกัด
สำหรับราคาหุ้นที่ลดลงไปแตะระดับ 107.5 บาท ล่าสุดนี้ เป็นจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 6 ปี และเป็นจุดต่ำสุดเท่ากับที่เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา หากราคาหุ้นลดลงไปต่ำกว่าระดับนี้ ก็จะเป็นการทำจุดต่ำสุดใหม่อีกครั้ง