กลุ่มบริษัทเค.อี. กางแผนสู้วิกฤติ! ชู ‘เทคโรดแมพ-ครีเอทีฟ-ยูนีค’
สถานการณ์โควิด-19 ห้วงจำกัดของการใช้ชีวิต! ทำให้ไลฟ์สไตล์ในประจำวันของผู้คนที่เคยมาใช้บริการ “คอมมูนิตี้มอลล์” หรือ “ไลฟ์สไตล์มอลล์” ต้องเปลี่ยนแปลงชั่วคราว เป็นโอกาส! ในการใช้ช่วงเวลาวิกฤติ “ปรับ” เพื่อเตรียมพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจเมื่อกดปุ่มไฟเขียว!
ศุภานวิต เอี่ยมสกุลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เค.อี. กล่าวว่า หลังจากกรุงเทพมหานครประกาศให้ศูนย์การค้าปิดบริการชั่วคราว ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ร้านอาหารประเภทดีลิเวอรีและเทกโฮม ธนาคาร ร้านขายอาหารสัตว์ หรือ ร้านขายของจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย.นี้
เค.อี. เร่งทำความเข้าใจกับร้านค้าถึงมาตรการดังกล่าว โดยศูนย์การค้าทั้ง 10 แห่งภายใต้การบริหารของ “กองรีท BKER” ปฏิบัติตามแนวทางของภาครัฐและกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหาแนวทางความร่วมมือหากกรณีสถานการณ์ยืดเยื้อ!
เบื้องต้น มีนโยบายให้ความช่วยเหลือร้านค้า ได้แก่ ให้ส่วนลดร้านค้า ประสานธนาคารเพื่อจัดการด้านการเงินให้ร้านค้า สนับสนุนและเพิ่มช่องทางด้านการตลาด ใช้สื่อประชาสัมพันธ์การสั่งอาหารจากร้านอาหารในโครงการ
ด้านกลยุทธ์การเติบโตได้มุ่งพัฒนาศักยภาพโปรเจก 10 แห่งให้มีผลประกอบการที่ดีขึ้น ทั้งด้านการบริหารรายได้ และการบริหารต้นทุน
ส่วนการลงทุนใน “ทรัพย์สินใหม่”ปัจจุบันมีกว่า 40 แห่ง ที่แสดงความสนใจและให้ทำการศึกษา อยู่ในกรุงเทพฯ 68% ต่างจังหวัด 22% และต่างประเทศ 10%
ปัจจุบัน กองรีท BKER บริหารศูนย์การค้า 10 โครงการ ได้แก่ ซีดีซี คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์, เดอะคริสตัล เอกมัย-รามอินทรา, เดอะคริสตัล เอสบี ราชพฤกษ์, อมอรินี รามอินทรา, แอมพาร์ค จุฬา, เพลินนารี มอลล์ วัชรพล, สัมมากร รามคำแหง รังสิต ราชพฤกษ์ และเดอะซีน มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 11,300 ล้านบาท พื้นที่กว่า 5 แสนตร.ม. คิดเป็นพื้นที่ขาย 1.4 แสนตร.ม.
"สถานการณ์ขณะนี้เรายังได้ปรับการบริหารงาน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในทุกด้าน ซึ่งได้จัดทำ KE Tech Road Map ในการพัฒนาทุกด้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานทุกกลุ่มธุรกิจ"
กวินทร์ เอี่ยมสกุลรัตน์ กรรมการ บริษัท เค.อี. รีท แมเนจเมนท์ จำกัด กล่าวเสริมว่า กลยุทธ์หลักของศูนย์การค้าทั้ง 10 แห่ง วางคอนเซปต์ชัดเจนในการเน้นสร้างสังคมชุมชนที่ให้ไลฟ์สไตล์แบบ “Welcoming-Creative-Unique” สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งอย่างชัดเจน
ทั้งนี้จะมีการ “ปรับเพิ่มร้านค้าให้ตรงกลุ่ม” และเพิ่มแบรนด์ดังในเซ็กเตอร์ที่เป็นความต้องการในชีวิตประจำวัน อาทิ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฟิตเนส ทำให้อัตราการเช่าพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลดีต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าเช่าในอนาคต ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนแบรนด์ชั้นนำ 30%
การสร้างบรรยากาศใหม่ หรือ “Experiential place-making” เช่น การมีสถานที่ที่เป็นคอมมูนิตี้ มีทติ้งเพลส หรือเป็นสถานที่สามารถทำงานได้ในบรรยากาศสบายๆ
การใช้เทคโนโลยีในการบริหารงานทุกขั้นตอน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ (Tech and operations platform) การเพิ่มความสามารถในการลดค่าใช้จ่ายในการบริหารศูนย์จากการมี economies of scale (Cost reduction through synergy)
ปัจจุบัน สามารถลดค่าใช้จ่ายประเภทเอาซอร์สคอนแทร็คเบื้องต้น ได้แก่ ยามและแม่บ้านได้กว่า 20% ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากการบริหารที่มีประสิทธิภาพลงได้กว่า 5%
นอกจากนี้ มุ่งเน้น “Sustainability” ด้วยการนำแนวทาง “ลด” หรือประหยัดพลังงานอย่างยั่งยืน ปัจจุบันได้ทำสัญญาในการทำโซลาร์เซล ที่ ซีดีซี เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าราว 20% ซึ่งจะมีแผนงานในโครงการ อื่นๆ ด้วย
อีกแนวทางสำคัญ คือ การเข้าไปลงทุนในทรัพย์สินหรือโครงการใหม่ที่มีคุณภาพในอนาคต หรือ Quality asset investment
สำหรับแบรนด์ใหม่ที่จะทยอยเปิดให้บริการในโครงการต่างๆ เช่น ซีดีซี คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ มีร้านแซบอินดี้, แจ๊ส โซฟา, จากัวร์, แลมป์วิช, บีวิช, มหาจักร และ เอส เค โฮม เดอะ คริสตัล เอกมัย-รามอินทรา ร้านโอ้กะจู๋, เพนกวินชาบู, ชงเจริญ, Never Say Cut และ Skinda Clinic เดอะ คริสตัล เอส บี ราชพฤกษ์ ร้านมอสเบอร์เกอร์, สดอร่อย, เฟรชมี, Tenjo, Mr. DIY และ Verala Clinic อมอรินี่ ร้านโนบิชา, Jetts, Daruma เพลินนารี มอลล์ ร้าน Mr.DIY สัมมากรเพลส รามคำแหง ร้านสลัดแฟคตอรี่ และเฟรชมี สัมมากรเพลส รังสิต ร้านโนบิชา สัมมากรเพลส ราชพฤกษ์ ร้านสตาร์บัคส์ และ เอ ตา บับเบิ้ล ที เดอะซีน ทาวน์อินทาวน์ จะมีร้านบาร์บีคิว พลาซ่า และ มาซารุ ซูชิ ให้บริการเพิ่ม