เขาใหญ่ นำร่องการจัดการขยะครบวงจร I Green Pulse
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติฯและกรมควบคุมมลพิษ เมื่อเร็วๆนี้ สำหรับการดำเนินโครงการ“ต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ"
ทั้งนี้ เพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ และสนับสนุนการบริหารจัดการขยะพลาสติกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสู่เป้าหมายการใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
นายวราวุธศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ความร่วมมือฯ ดังกล่าว เพื่อสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) สร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดมลพิษ และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ
ทส.ได้มีการจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกพ.ศ. 2561 – 2573 เพื่อเป็นกรอบและทิศทางในการบริหารจัดการขยะพลาสติกของประเทศ และได้มีการขับเคลื่อนการลดเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
ความร่วมมือในการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงดังกล่าว จะเป็นการสนับสนุนการบริหารจัดการขยะพลาสติกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ สู่เป้าหมายการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
ทั้งนี้ ได้มีการคัดเลือกอุทยานแห่งชาติที่เป็นที่นิยมลำดับต้นๆ ของประเทศอย่างเขาใหญ่ เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินงาน และจะขยายผลไปยังอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศรวมถึงพื้นที่อื่นๆซึ่งมีทั้งสิ้นร้อยกว่าแห่งทั่วประเทศ
กรอบความร่วมมือในการดำเนินโครงการดังกล่าวมีระยะเวลา1ปีนับตั้งแต่มีนาคม2563ไปจนถึงมีนาคม 2564 ทส.ระบุ
โดยจะมีการดำเนินการหลักๆ 3 ด้านคือ
•การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ ทดแทนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งที่นำกลับมารีไซเคิลได้ยาก
•การส่งเสริมการบริหารจัดการขยะตั้งแต่การคัดแยกขยะ การพัฒนานวัตกรรมสนับสนุนผลิตภัณฑ์รีไซเคิลหรืออัพไซเคิลจากความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่า
•การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการใช้และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความรับผิดชอบร่วมกันในสังคม
ทางด้าน ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท กล่าวว่า GCในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ซึ่งยึดหลักการดำเนินธุรกิจด้วย Circular Economy ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาการจัดการขยะ จึงได้อาสามาร่วมทำโครงการฯ
โดย GC จะช่วยกำหนดแนวปฏิบัติตามหลัก Circular Economy ให้กับพื้นที่อุทยานฯ สนับสนุนองค์ความรู้ และดำเนินงานร่วมกับองค์กรอื่นๆในการจัดการขยะพลาสติกแบบยั่งยืน
ซึ่ง GC มีทางออกที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน (Total Solutions for Everyone) และสร้างระบบ (Platform) เพื่อแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมตลอดห่วงโซ่อุปทานครอบคลุม 4 ด้านได้แก่
•Bio-based มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ Bio Product ที่สลายตัวได้ด้วยการฝังกลบ
•Fossile-based มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยความรับผิดชอบนำขยะพลาสติกกลับมา RecycleหรือUpcycle
•Ecosytem เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้พลาสติกเพื่อให้เกิดการขยายผลในวงกว้าง
•Inclusiveness GC พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้า SMEs ให้ปรับตัวกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค
“เราคาดว่าโครงการนี้จะเป็นการสร้างต้นแบบโมเดลแห่งความสำเร็จระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นและขยายผลในวงกว้างต่อไป” CEO กล่าว