ภัยแล้งหนุนราคาข้าว 'ไทย-เวียดนาม' ในตลาดโลกสูงสุดรอบ 6 ปี
ในขณะที่ภัยแล้งส่งผลให้ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อย่างไทยและเวียดนามผลิตข้าวได้น้อย ราคาข้าวในตลาดโลกกลับพุ่งติดลมบน ท่ามกลางกระแสแตกตื่นซื้อข้าวในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 จนทำให้สต็อกข้าวเริ่มร่อยหรอในขณะนี้
ข้อมูลจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ระบุว่า ราคาส่งออกข้าวสารที่ปลูกในไทย สูงถึง 550 ดอลลาร์หรือประมาณ 18,000 บาทต่อตัน นับเป็นราคาสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2556 ส่วนราคาส่งออกข้าวสารจากเวียดนามทะลุ 400 ดอลลาร์หรือประมาณ 13,100 บาทต่อตัน ถือเป็นราคาที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2561
เดือน ก.พ. กระทรวงเกษตรสหรัฐ คาดการณ์ว่า การค้าข้าวทั่วโลกในปีนี้จะมีปริมาณ 45.3 ล้านตัน ลดลง 7 แสนตันจากที่คาดการณ์ในเดือน ม.ค. ขณะเดียวกันทั่วโลกจะผลิตข้าวได้ประมาณ 500 ล้านตันต่อปี แต่ส่วนใหญ่สำหรับบริโภคภายในประเทศ
กระทรวงเกษตรสหรัฐ ระบุว่า ในปี 2561 ไทยส่งออกข้าวราว 11.1 ล้านตัน คิดเป็นส่วนแบ่ง 23% ขณะที่เวียดนามส่งออกข้าว 6.6 ล้านตัน คิดเป็นส่วนแบ่ง 14% โดยทั้งสองประเทศมีส่วนแบ่งตามหลังเพียงอินเดียประเทศเดียว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ส่งออกข้าวในไทย คาดการณ์ว่า ปีนี้ปริมาณการส่งออกจะลดลงเหลือเพียง 7.5 ล้านตันเท่านั้น ส่วนเวียดนามก็ไม่น่าจะส่งออกข้าวเพิ่มเช่นกัน
- 2 ปัจจัยดันราคาข้าว
สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ประกอบด้วย 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือ ภาวะแล้ง พื้นที่ปลูกข้าวหลักของไทยอยู่ตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนพื้นที่หลักของเวียดนามอยู่ตามแนวแม่น้ำโขง
แต่ขณะนี้ ทั้งสองประเทศต่างเผชิญกับวิกฤติภัยแล้ง โดยเฉพาะในเวียดนามที่ปริมาณฝนตกในพื้นที่ต้นน้ำลดลงราว 30% จากระดับปกติในเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว สถาบันวิจัยด้านเกษตรอินทรีย์ในเวียดนาม ประเมินว่า ภัยแล้งครั้งนี้รุนแรงกว่าเมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในช่วง 2-3 ปีหลัง
อีกปัจจัยคือ การสร้างเขื่อนที่กำลังเฟื่องฟู พื้นที่ต้นน้ำแม่น้ำโขงในภาคใต้ของจีนเป็นที่ตั้งของเขื่อน 11 แห่ง และจีนยังมีแผนสร้างเพิ่มอีกราว 10 แห่ง โครงการนี้ส่งผลให้กระแสน้ำในแม่น้ำโขงลดลงและน้ำทะเลหนุนเข้ามาแทนที่ เพราะเวียดนามอาศัยน้ำจากแม่น้ำโขงสำหรับเกษตรกรรม
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดการณ์ว่า หากภัยแล้งยังอยู่ไปจนถึงเดือน มิ.ย. ปริมาณข้าวสารในไทยที่ได้จากการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน ก.พ.-ก.ค. ปีนี้ จะลดลงครึ่งหนึ่ง
- ฟิลิปปินส์เล็งนำเข้าเพิ่ม
ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2562 ด้วยยอดสั่งซื้อประมาณ 2.9 ล้านตัน มักนำเข้าข้าวจากเวียดนามและบางส่วนจากประเทศไทย แต่ขณะนี้รัฐบาลมะนิลาเตรียมนำเข้าข้าวเพิ่มอีก 3 แสนตัน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีข้าวเพียงพอ ในช่วงที่ประเทศกำลังพยายามจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ เวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ได้ระงับการส่งออกข้าวเป็นการชั่วคราว เพื่อให้มั่นใจว่ามีข้าวเพียงพอสำหรับรับมือการระบาดในประเทศ แต่คาดว่า เวียดนามจะยกเลิกการระงับการส่งออกภายในสัปดาห์นี้ โดยรัฐบาลฮานอยกำลังกำหนดโควตาการส่งออกอยู่
ความต้องการข้าวของฟิลิปปินส์มีขึ้นในช่วงที่ราคาข้าวส่งออกมีราคาสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยเฉพาะจากไทย ขณะเดียวกัน ความกังวลเรื่องความมั่นคงด้านอาหารของโลกเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากหลายประเทศจำกัดการซื้ออาหารจำเป็นในช่วงที่ประชากรราว 1 ใน 5 ของโลกใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การปิดเมือง เพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19