เผยผลสำรวจโบรกฯ เกือบครึ่งยังหวังจีดีพีเป็นบวกปีนี้ มองเป้า SET ปีนี้ 1,276 จุด
สมาคมนักวิเคราะห์เผยผลสำรวจนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนกว่า 40% ยังหวังจีดีพีรวมทั้งปีเป็นบวก พร้อมประเมินเป้าหมาย SET ปีนี้ เฉลี่ย 1,276 จุด ส่วนกลยุทธ์ลงทุนช่วงนี้แนะถือเงินสด 39%
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน แถลงแผนการสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน ต่อมุมมองในด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) ในปี 2563 จากผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 20 บริษัท แบ่งเป็น 15 บริษัทหลักทรัพย์ 4 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และ 1 บริษัทโกลด์ ฟิวเจอร์ส โดย 50% ของผู้ตอบมองว่าดัชนีหุ้นไทยช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 มีแนวโน้มไปในทิศทางลบ ขณะที่ 35% มองว่าไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาสแรก (Sideways) ส่วนอีก 15% มองว่าตลาดจะเปลี่ยนแปลงเชิงบวก โดยประเมินระดับ SET เฉลี่ยที่ 1,118 จุด
ทางด้านคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาดเฉลี่ย อยู่ที่ 79.70 บาท และคาดการณ์ติดลบเฉลี่ย 9.93% จากปีก่อน โดยประเมินจุดต่ำสุดของ SET index ที่ 954 จุด ส่วนจุดสูงสุดในช่วงเดือน เม.ย. ถึงสิ้นปี คาดไว้ที่เฉลี่ย 1,323 จุด ทั้งนี้เป้าหมายของดัชนีทั้งปีโดยเฉลี่ย จากการสำรวจครั้งนี้อยู่ที่ 1,276 จุด ต่ำกว่าการสำรวจเมื่อไตรมาสแรกซึ่งมองว่าอยู่ที่ 1,679 จุด
แนวทางการจัดพอร์ตลงทุนแนะนำถือเงินสด 39% รองลงมาคือหุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย 21% หุ้นต่างประเทศ 13% ตราสารหนี้ 12% ทองคำ 7% กองทุนอสังหาริมทรัพย์ 6% ส่วนหุ้นเด่น ได้แก่ ADVANC, CPALL, CPF, INTUCH และ RATCH
สำหรับปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการขับเคลื่อนตลาดในไตรมาส 2 คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รองลงมาคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และผลประกอบการ ตามลำดับ ส่วนคาดการจีดีพีรวมทั้งปีนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามมองเฉลี่ยที่ -0.6% ขณะที่อีก 43.75% ยังใช้สมมติฐานจีดีพีเป็นบวกในปีนี้ ขณะที่ปี 2564 ไม่มีผู้ที่มองแย้งว่าตัวเลขจะออกมาติดลบ โดยส่วนใหญ่คาดจีดีพีโตเฉลี่ย 2.94% ด้านสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 2563 อยู่ที่ 39.26 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ส่วนปัจจัยที่มีผลบวกต่อตลาดหุ้นไทยในปีนี้ ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะมาจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ โดย 70% คาดการณ์ว่าจะปรับลด 0.25% รองลงมาคือ คาดว่าจะปรับลดลง 0.50% คิดเป็นสัดส่วน 25% ของผู้ตอบ
ทั้งนี้ ความเห็นจากการสำรวจเสนอแนะว่า ภาครัฐควรเร่งนโยบายการคลัง โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนให้มีกำลังซื้อ โดยจำนวน 70% ของผู้ตอบ มองว่าการชดเชยรายได้ ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลดค่าน้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ ส่วนการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ผู้ตอบ 35% เสนอให้ลดภาษีนิติบุคคล