นวัตกรรมห้องคัดกรอง-ตรวจเชื้อโควิด ลดความเสี่ยงติดเชื้อแพทย์-พยาบาล

นวัตกรรมห้องคัดกรอง-ตรวจเชื้อโควิด  ลดความเสี่ยงติดเชื้อแพทย์-พยาบาล

แพทย์พยาบาล ถือเป็นด่านหน้าในการรองรับผู้ป่วยโควิด การทำงานจึงจำเป็นต้องจัดระบบ และจัดหาอุปกรณ์ป้องกันลดการติดเชื้อ ขณะเดียวกัน ขั้นตอนการเก็บตัวอย่าง (Swab) หากมีนวัตกรรมเข้ามาช่วย จะสามารถลดควเสี่ยงและประหยัดทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดได้ดี

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม โรงพยาบาลราชวิถีสามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้จำนวน 37 ราย มีจำนวนห้องไอซียู 4 เตียง และสำรองเผื่ออีก 4 เตียง รวม 8 เตียง นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงห้องไอซียูเพิ่มเติมหากในอนาคตมีจำนวนผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้น เรามีบุคลากรทั้งหมดราว 4,000 คน เป็นทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญดูแลโควิด-19 จำนวน 20 คน พยาบาลที่เรียนทางด้านควบคุมการติดเชื้อมีประสบการณ์ ผ่านการอบรม ประมาณ 30 คน ซึ่งสามารถดูแลผู้ป่วย ใส่ชุด PPE ได้ ถอดเป็น ดูแลขยะ ป้องกันการติดเชื้อได้ ส่วนพยาบาลทั่วไปจะมีการฝึกทักษะเพิ่มเติม

ปัจจุบัน ทางโรงพยาบาลฯ มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาแล้ว จำนวน 28 ราย เป็นผู้ป่วยหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 1 ราย ผู้ป่วยหายใจเหนื่อย ใส่เครื่อง High Flow จำนวน 2 ราย ซึ่งมีการดูแลอย่างใกล้ชิด สำหรับผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลมาแล้ว 5-7 วันและอาการดีขึ้น จะทำการย้ายไปที่โรงพยาบาลสนามของกรมการแพทย์ และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเอาเตียงที่ว่างสำหรับดูแลผู้ป่วยที่มีอาการมากกว่า เช่น ปอดบวม เหนื่อยหอบ ซึ่งส่วนใหญ่ คือ ผู้สูงอายุ และผู้ที่เสี่ยงสูง

“ในส่วนของเคสส่งต่อ หากเป็นผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจเราไม่รับส่งต่อ เพราะกลัวการแพร่กระจายเชื้อระหว่างทาง แต่หากเคสทั่วไป ไม่รุนแรง เรารับส่งต่อมาตลอด แบ่งเบา หมุนเวียน ซึ่งเอกชนก็ช่วยเยอะ และเราก็ช่วยเอกชนอยู่ มีการกระจายชุด PPE และ ยา ให้ภาคเอกชนด้วย” นายแพทย์สมเกียรติ กล่าว   

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อไปว่า สำหรับบุคลากรเพียงพอในระดับหนึ่ง รวมถึงความเชี่ยวชาญ และการหมุนเวียนสับเปลี่ยนเพื่อไม่ให้เหนื่อยมาก มีอุปกรณ์ป้องกัน ที่พัก สวัสดิการ รวมถึงมีประชาชนเอาขนม อาหาร มาบริจาค ซึ่งเรากระจายให้กับบุคลากรทุกฝ่ายไม่ใช่แค่ดูแลโควิด-19 เพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ สำหรับยาปัจจุบัน ถือว่ายังมีเพียงพอ เพราะเพิ่งได้มาเพิ่ม 40,000 เม็ด กระจายไปทั่วกทม. 18,000 เม็ด ต่างจังหวัด 18,000 เม็ด สำรองไว้เป็นกองกลาง 4,000 เม็ด และเดือนหน้าจะมีเพิ่มเข้ามาอีก 1 แสนเม็ด

158582467389

“หลังจาก 3 เดือนที่ผ่านมา ทีมแพทย์และพยาบาลก็มีการปรับตัวมาตลอด ส่วนหนึ่งคือเรื่องของอัตรากำลัง เตรียมบุคลากรให้มีความพร้อม ปัจจุบันมีการลดเตียงผู้ป่วยที่เป็นโรคทั่วไปลง เพื่อเตรียมแพทย์พยาบาลมารับมือกับโควิด-19 มากขึ้น และขยายพื้นที่ในการรองรับ ไม่ว่าจะเป็นห้องผู้ป่วยหนักไอซียู หอผู้ป่วยรวมแยกโรค (Cohort Ward) อาจมีอุปสรรคเล็กน้อยเรื่องเวชภัณฑ์ในระยะแรก แต่ขณะนี้ได้รับการช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน รวมถึงเปิดรับบริจาคเพื่อสำรองหากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าว

  • คนไข้ไม่บอกประวัติ ทำแพทย์เสี่ยง

นายแพทย์สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า อัตราความเสี่ยงของทีมแพทย์พยาบาล เรียกว่ามากกว่าคนทั่วไปเพราะเป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยโดยตรง ในกรณีผู้ป่วยที่ป่วยแล้วเข้ามาอยู่โรงพยาบาลถ้าเราดูแลป้องกันอย่างดี อยู่ในห้องความดันลบ โอกาสติดเชื้อของทีมแพทย์จะน้อยมาก หรือแทบไม่มีความเสี่ยงเลย แต่หากผู้ป่วยที่สงสัยและไม่ได้บอกประวัติ มาทำฟัน หรือทำหัตถการทั่วไปเล็กน้อย มีความเสี่ยงสูงต่อบุคลากร

“สามเดือนมานี้ ยังไม่มีเจ้าหน้าของโรงพยาบาลราชวิถีป่วยแม้แต่ท่านเดียว เพราะเราดูแลเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่ บุคลากรทุกระดับต้องมีเครื่องป้องกันที่เหมาะสมตามหน้าที่ของตนเอง ตอนนี้มีการป้องกันอย่างดี โดยผลัดเปลี่ยนชุดทีมแพทย์และพยาบาล ป้องกันหากทีมไหนป่วย จะได้หยุดเฉพาะทีมนั้น ต้องมีการเตรียมการไว้ และบุคลากรของเราก็สามารถทดแทนกันได้ในระดับหนึ่ง”

“ปัญหาของเราก็คือ ผู้ป่วยที่ไม่ทราบว่ามีเชื้อหรือไม่และต้องได้รับการคัดกรอง ซึ่งเราได้เปิด คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ไว้ภายนอกโรงพยาบาล และที่ผ่านมา ต้องทำการเก็บตัวอย่าง (Swab) ในห้องความดันลบ ต้องใส่ชุดป้องกัน PPE ใส่หน้ากาก N95 ชุดกราวน์ และ หน้ากากกันกระเด็น (Face Shield) ซึ่งตรวจคนหนึ่งเสร็จก็ต้องเปลี่ยน การเก็บตัวอย่างมีความเสี่ยง เพราะมีการใกล้ชิดกับเชื้อโดยตรง” นายแพทย์สมเกียรติ กล่าว

  • คัดกรองผู้ป่วยในพื้นที่ปลอดภัย

ด้าน นายแพทย์พจน์ อินทลาภาพร อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ หัวหน้างานโรคติดเชื้อกลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี โครงการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 แนวโน้มทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงประเทศไทย ความจำเป็นในการมีสถานที่ตรวจคัดกรองอย่างปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์ ในภาวะที่ระบาดผู้ที่อยู่ในข่ายสงสัยมีมากขึ้น ทำให้ระยะเวลาในการรอคอยการให้บริการเพิ่มมากขึ้น เพราะการตรวจคัดกรองผู้ป่วยแต่ละรายต้องใช้เวลา ทั้งการซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้นที่จำเป็น และการเก็บตัวอย่าง (Swab) ที่ผ่านมา ต้องใช้อุปกรณ์ และชุด PPE รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันร่างกายซึ่งมีอย่างจำกัด  

158582467461

“ที่ผ่านมา โรงพยาบาลราชวิถี มีผู้มารับการคัดกรองเฉลี่ย 200-350 คนต่อวัน การเก็บสิ่งส่งตรวจจะเก็บเฉพาะในรายที่เข้าข่ายการสอบสวนโรค ซึ่งสามารถเก็บได้ครั้งละ 1 คน พอเก็บตัวอย่างเสร็จ ต้องเช็ดถูพื้น ทำความสะอาด และเปลี่ยนชุด ถอดถุงมือ ซึ่งใช้เวลามาก ทำให้ผู้ป่วยต้องรอเก็บตัวอย่างราว 2 ชั่วโมง ดังนั้น การลดระยะเวลาการรอคอย และลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบสถานที่ และระบบการตรวจคัดกรอง เพื่อให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และความมั่นใจทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน

  • นวัตกรรมห้องคัดกรอง-เก็บตัวอย่าง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเอสซีจี ได้ทำการส่งมอบนวัตกรรมห้องคัดกรองและตรวจผู้ที่มีความเสี่ยง ให้แก่โรงพยาบาลราชวิถี ติดตั้งบริเวณลานจอดรถ บนพื้นที่ราว 300 -400 ตารางเมตร ตอบโจทย์การใช้งานและความปลอดภัย ทั้งการแยกพื้นที่ทีมแพทย์และคนไข้ออกจากกัน มีระบบควบคุมแรงดันและคุณภาพอากาศที่เหมาะสม ช่วยลดโอกาสติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

158582467462

นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าววว่า เราคิดว่าจะทำอย่างไรในการปกป้องทีมแพทย์และพยาบาล ให้ปลอดภัยมากที่สุด เอสซีจี จึงนำเอาความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม ในการพัฒนาModular Unitเพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่ทีมแพทย์ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่

158582467374

ห้องคัดกรอง (Modular Screening Unit) รองรับผู้ป่วยได้ครั้งละ 12 ราย ในการคัดกรองว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ หลักการคือ ไม่ต้องการให้แพทย์และผู้ป่วยสัมผัสกันโดยตรง ดังนั้น แพทย์และพยาบาลจะอยู่ในห้องปิดสนิท โดยในห้องทั้งหมดจะถูกปรับความดันอากาศให้ผลักอากาศเสียออก และเพิ่ม Bio-polar Ion เพื่อจับเข้ากับโมเลกุลของเชื้อไวรัสที่อาจหลุดรอด ซึ่งทีมแพทย์ พยาบาล จะซักประวัติผู้ป่วยผ่านกระจกที่มีอุปกรณ์สื่อสาร และผู้ป่วยอยู่ทางด้านนอก โปร่ง โล่ง

158582467566

ส่วน ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) ใช้ในขั้นตอนการเก็บตัวอย่าง (Swab) จำนวน 3 ห้อง เพื่อตรวจหาเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยมีโอกาสจามได้ ดังนั้น ห้องตรวจหาเชื้อจึงแยกผู้ป่วยและแพทย์ออกจากกันอย่างชัดเจน โดยผู้ป่วยอยู่ในห้องปรับความดันอากาศ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสฟุ้งกระจาย พร้อมใช้แสงยูวีเข้มข้นสูง ฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ (UV Germicide) ประมาณ 10 นาที หลังการใช้งานห้องทุกครั้ง ซึ่งการเก็บตัวอย่าง (Swab) จะทำผ่านแผ่นอะคริลิกที่เจาะเป็นช่อง แพทย์สามารถสอดมือผ่านช่องที่มีถุงมือคลุมด้วยพลาสติกเพื่อเก็บตัวอย่าง จึงลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากผู้ที่เข้ารับการตรวจ ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการทั้งหมดจะถูกแยกเป็นส่วนย่อย ๆ (Cell) เพื่อแยกปิดได้ในกรณีฉุกเฉินที่เกิดการรั่วระหว่างห้องบุคลากรทางการแพทย์กับห้องผู้เข้ารับการตรวจ

158582467346

“Modular Screening & Swab Unit และ Modular Bathroom ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาและต่อยอดด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของทีมงาน เพื่อช่วยสนับสนุนให้การทำงานของทีมแพทย์ พยาบาล สามารถต่อสู้กับเชื้อร้ายโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย ราบรื่น และรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ มูลนิธิเอสซีจี ยังส่งมอบห้องน้ำสำเร็จรูป (Modular Bathroom) ให้โรงพยาบาลราชวิถีจำนวน 12 ห้อง ทำความสะอาดฆ่าเชื้อง่าย โดยจัดวางแยกพื้นที่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจคัดกรอง โดยตั้งเป้ามอบนวัตกรรม Modular Unit ให้ทั้งสิ้น 7 โรงพยาบาล” นายวชิระชัย กล่าวทิ้งท้าย

158582467556