เปิดอันดับ 'มหาเศรษฐี' เมืองไทย 'เจียรวนนท์' ครองแชมป์ ส่วน 'ธนินท์' รวยวูบ 7 หมื่นล้าน!!

เปิดอันดับ 'มหาเศรษฐี' เมืองไทย 'เจียรวนนท์' ครองแชมป์ ส่วน 'ธนินท์' รวยวูบ 7 หมื่นล้าน!!

เปิด 10 อันดับแรกทำเนียบมหาเศรษฐีของไทย "เจ้าสัวซีพี" รวยวูบ 7 หมื่นล้าน

เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งได้เริ่มชะลอตัวแล้วจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ต้องถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บุคคลร่ำรวยที่สุดจากการจัดอันดับของ Forbes ประจำปี 2020 มีทรัพย์สินรวมกันลดลงถึง 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการลดลงถึงร้อยละ 18 เหลือเพียง 1.32 แสนล้านเหรียญ ติดตามรายชื่อบุคคลในอันดับได้ที่ www.forbes.com/thailand และ www.forbesthailand.com รวมทั้ง Forbes Asia และ Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน

ที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจะได้ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ก็ยังทรุดหนักโดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องไปแล้วเกือบ 1 ใน 3 เทียบจากเดือนเมษายน 2019 เป็นผลให้มหาเศรษฐี 38 คนในทำเนียบมีทรัพย์สินสุทธิลดลง ในจำนวนนี้มี 6 คนที่ความมั่งคั่งลดลงกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังครองตำแหน่งอันดับหนึ่ง แม้ว่าทรัพย์สินของพวกเขาจะลดลง 2.2 พันล้านเหรียญ หรือราว 7 หมื่นล้านบาท ไปอยู่ที่ 2.73 หมื่นล้านเหรียญ และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้เข้าซื้อกิจการของเทสโก้ในไทยและมาเลเซียมูลค่า 1.06 หมื่นล้านเหรียญได้สำเร็จ

เฉลิม อยู่วิทยา ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังระดับโลกอย่าง Red Bull ร่วมกับตระกูลของเขา มาในอันดับที่ 2 เขาเป็นหนึ่งในแปดผู้มีรายชื่อในทำเนียบที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น แม้ภาพรวมจะย่ำแย่ โดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.99 หมื่นล้านเหรียญเมื่อปีก่อน เป็น 2.02 หมื่นล้านเหรียญในปีนี้ เจริญ สิริวัฒนภักดี จากเครือไทยเบฟเวอเรจ ขยับขึ้นมาในอันดับที่ 3 ด้วยทรัพย์สิน 1.05 หมื่นล้านเหรียญ อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินสุทธิของเขาลดลงจาก 1.62 หมื่นล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา

ตระกูลจิราธิวัฒน์ หล่นจากอันดับ 2 มาอยู่ในอันดับ 4 ในปีนี้ ด้วยความมั่งคั่งที่ลดลงกว่าครึ่งไปอยู่ที่ 9.5 พันล้านเหรียญ พวกเขาเพิ่งนำบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด  (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยนับเป็นการเสนอขายหุ้นไอพีโอครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวและนักช้อปที่ลดลงอย่างมาก ทำให้ราคาหุ้นของเซ็นทรัล รีเทล ต่ำกว่าราคาไอพีโอถึงร้อยละ 27 โดยตกลงต่อเนื่องตั้งแต่เข้าการซื้อขาย

ผู้ที่มีทรัพย์สินลดฮวบอีกคนคืออาลก โลเฮีย (อันดับ 26) มหาเศรษฐีชาวอินเดียโดยกำเนิด เจ้าพ่อธุรกิจปิโตรเคมีผู้ที่ง่วนอยู่กับการเข้าซื้อกิจการมากมาย ทรัพย์สินสุทธิของเขาลดลงจาก 2.52 พันล้านเหรียญในปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 1.09 พันล้านเหรียญ เมื่อราคาหุ้นบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส ของเขาดิ่งลงถึงร้อยละ 57  ในช่วง 11 เดือนผ่านมา

แม้ว่าราคาพลังงานทั่วโลกจะประสบภาวะตกต่ำครั้งรุนแรง มหาเศรษฐีจากวงการพลังงานของไทย 3 ใน 4 คนกลับมีทรัพย์สินงอกเงย ทั้งนี้เป็นผลจากการที่พวกเขาพุ่งความสนใจไปที่ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการหันไปหาเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น ในจำนวนนี้ มีสารัชถ์ รัตนาวะดี ผู้ที่ทำเงินเพิ่มขึ้นมากที่สุด ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 6.8 พันล้านเหรียญพุ่งขึ้น 1.6 พันล้านเหรียญ ขณะที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ของเขาเปิดโรงพลังงานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มเติม ตลอดจนเข้าดำเนินการโครงการใหม่ อาทิ ท่าเรือและถนน

ฮาราลด์ ลิงค์ (อันดับที่ 12 ทรัพย์สิน 2.3 พันล้านเหรียญ) หัวเรือใหญ่รุ่นที่สามของบี.กริม มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ขณะที่บี.กริม เพาเวอร์เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีกร้อยละ 40 และกำไรของบริษัทกระโดดขึ้นร้อยละ 34 ในปีที่ผ่านมา ภาคพลังงานที่คึกคักได้พามหาเศรษฐี 2 คนเข้าสู่ทำเนียบเป็นครั้งแรกในปีนี้ อีกหนึ่งได้แก่ วิระชัย ทรงเมตตา (อันดับ 40 ทรัพย์สิน 585 ล้านเหรียญ) ผู้ที่เข้าทำเนียบครั้งแรกหลังจากบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ ผู้ผลิตพลังไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

นายแพทย์กำพล พลัสสินทร์ (อันดับ 38 ทรัพย์สิน 610 ล้านเหรียญ) ผู้ก่อตั้งเครือโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ที่เป็นบริษัทมหาชน กลับเข้าสู่ทำเนียบหลังจากห่างหายไปสามปี อันเป็นผลจากการที่บริษัทเปิดโรงพยาบาลใหม่อีกสองแห่ง ช่วยหนุนราคาหุ้นบริษัทให้ทะยานขึ้น

ปีนี้ Forbes กำหนดทรัพย์สินสุทธิขั้นต่ำสำหรับผู้ที่จะมีรายชื่ออยู่ในทำเนียบที่ 460 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจาก 565 ล้านเหรียญ ในปี 2019

10 อันดับแรกทำเนียบมหาเศรษฐีของไทย

  1. พี่น้องเจียรวนนท์ 2.73 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
  2. เฉลิม อยู่วิทยา 2.02 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
  3. เจริญ สิริวัฒนภักดี 1.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
  4. ตระกูลจิราธิวัฒน์ 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
  5. สารัชถ์ รัตนาวะดี 6.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
  6. อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
  7. ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
  8. ตระกูลโอสถสภา 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
  9. วานิช ไชยวรรณ 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
  10. 2.65 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

การจัดอันดับนี้ใช้ข้อมูลการเงินและการถือครองหุ้นที่ได้รับจากทางครอบครัวและปัจเจกบุคคล ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและหน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่ง อันดับนี้ต่างจากอันดับอภิมหาเศรษฐีตรงที่มีการรวมถึงทรัพย์สินของครอบครัวและทรัพย์สินที่ถือครองโดยสมาชิกครอบครัวหลายรุ่น ทั้งนี้ มูลค่าทรัพย์สินในบริษัทมหาชนเป็นการคำนวณจากราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน วันที่ 13 มีนาคม ทรัพย์สินในบริษัทที่ถือครองส่วนตัวประเมินค่าโดยเปรียบเทียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ดูรายละเอียดได้ที่ www.forbes.com/thailand และ www.forbesthailand.com

158590907897