ปิดห้างฉุด‘รูดปรื๊ด’วูบ13% คาดไตรมาส2ดิ่งต่อ
"แบงก์- นอนแบงก์" เผยโควิด-19ระบาด กระทบยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไตรมาสแรกวูบ 12-13% เฉพาะเดือนมี.ค.ดิ่งกว่า 30% ผลปิดห้าง-สถานที่ต่างๆ “ เอสซีบี-กรุงศรีคอนซูมเมอร์” เตรียมทบทวนเป้าหมายปีนี้
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรีคอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ไตรมาสแรก ปี 2563 ลดลง12-13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เฉพาะมี.ค.เดือนเดียว ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร ปรับตัวลดลงราว 30% จากการปิดห้าง สถานที่ต่างๆ ปิดห้าง แม้ว่ายอดการใช้จ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 50% เฉพาะเดลิเวอรี่เติบโตเป็น 1,000% แต่ก็ไม่สามารถชดเชยได้ เพราะการใช้จ่ายบัตรเครดิตในห้างสรรพสินค้า และหมวดท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนสูง
ส่วนแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรในไตรมาส 2 น่าจะต่ำลงต่อเนื่อง ดังนั้นคาดว่าทั้งปียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งหมด มีโอกาสปรับลดลงค่อนข้างมาก หากเทียบกับยอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่ราว 1.4แสนล้านบาท จึงอาจต้องปรับเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจใหม่ทั้งหมดในปีนี้
เขากล่าวว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง และสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรุนแรงขึ้น ทำให้มีผลกระทบต่อสภาพคล่องของประชาชนลดลง จากการขาดรายได้ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาเห็นการขอเพิ่มวงเงินบัตร และวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นราว 30% หากเทียบกับช่วงปกติ
อีกทั้งยังมีความต้องการขอสินเชื่อผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น จากความกังวลโควิด-19 แต่ยอมรับว่าเริ่มเห็นศักยภาพการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ต่ำลง ทำให้กระทบต่อการอนุมัติสินเชื่อปัจจุบันต่ำลงราว 5-6% จากระดับ 40% ของช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งหลักๆมาจากเครดิตลูกหนี้ที่เปลี่ยนไป และการดูภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR ของแบงก์ที่เข้มข้นมากขึ้น ทำให้อัตราการอนุมัติปรับลดลง
"วันนี้คุณภาพลูกหนี้ที่มีคุณภาพดีมีน้อยลง จากเศรษฐกิจไม่ดี และโควิด-19 ทำให้เครดิตตรงนี้หายไป และเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้น ทั้งหมดทำให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อมีแนวโน้มลดลงราว 5-6% หลักๆมาจากเครดิตลูกค้า และการปรับDSRของเราที่เข้มขึ้น”
นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรของธนาคารในไตรมาสแรกปรับลดลงราว 10% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะคนมีรายได้น้อยลง บัตรเต็มวงเงินมากขึ้น และใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น อีกทั้งยังเห็นการขอเพิ่มวงเงินผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น ทำให้แบงก์ต้องระมัดระวังการเพิ่มวงเงินใหม่ เนื่องจากพบว่ามีความเสี่ยงมากขึ้น
ขณะเดียวกันคาดว่า แนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรมีโอกาสติดลบได้ในไตรมาสที่ 2ของปีนี้ จากการเคอร์ฟิว ทำให้การใช้จ่ายอาจไม่สะดวกมากนัก ดังนั้นเชื่อว่าแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรที่มีแนวโน้มลดลงในไตรมาสแรกและไตรมาส 2 จะมีผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตปีนี้แน่นอน ส่วนจะติดลบหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแนวโน้มสถานการณ์โควิด-19ว่าจะรุนแรงแค่ไหน
นอกจากนี้ในภาพรวมสินเชื่ออื่นๆ เช่นสินเชื่อดิจิทัลเลนดิ้ง สินเชื่อรวม เป็นสิ่งที่ธนาคารต้องทบทวนใหม่อีกครั้ง ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ