ผลกระทบ 'โควิด-19' โลกใบเดิมที่ไม่เหมือนเดิม
โลกหลังโควิด-19 แน่นอนจะเป็นโลกใบเดิมที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความหวาดกลัวพิษสงของโรคอุบัติใหม่ ทำให้การดำเนินชีวิตของผู้คน ธุรกิจ เศรษฐกิจ มีระยะห่างในเชิงกายภาพ ขณะที่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เทคโนโลยี คือ ฮีโร่ ในการประคองสถานการณ์
เป็นความท้าทายของมนุษยชาติ สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 หายนะที่ปั่นป่วนผู้คนทั้งโลก ไม่เลือกชั้นวรรณะ จนมาก รวยที่สุด มีสิทธิ์ติดเชื้อได้ บีบช่องว่างของความเหลื่อมล้ำของผู้คนบนโลกให้เข้าใกล้กันมากขึ้น ทว่าเวลานี้ คงไม่มีใครคิดถึงประโยชน์ของโควิด-19 ในแง่มุมนี้ มากเท่ากับคำถามที่ก้องอยู่ในหัวว่า “เมื่อไหร่มันจะจบ” เสียที
เนื่องจากในปัจจุบัน ทั่วโลกยังพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ในไทยวานนี้ (6 เม.ย.) จะพบผู้ป่วยใหม่ลดลงในระดับต่ำร้อย เพราะยิ่งโรคจบช้ายิ่งกระทบวิถีชีวิตผู้คนมากขึ้นเท่านั้น ทรัพยากรที่ทุ่มลงไปแก้ปัญหาจากเดิมเคยเพียงพอ ส่อจะกลายเป็นความขาดแคลน ทั้งจำนวนเตียงผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ อาหาร ทุนทรัพย์ ฯลฯ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง สวนทางกับจำนวนผู้ป่วย ดังนั้นการร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนในการ “เว้นระยะห่างทางสังคม” จึงหนทางที่ดีที่สุดที่จะลดการระบาดของโรค ยอมเจ็บเพื่อจบปัญหา ให้ผู้คนกลับมาดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขอีกครั้งในเร็ววัน
อย่างไรก็ตาม โลกหลังโควิด-19 แน่นอนจะเป็นโลกใบเดิมที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความหวาดกลัวพิษสงของโรคอุบัติใหม่ ทำให้การดำเนินชีวิตของผู้คน ธุรกิจ เศรษฐกิจ มีระยะห่างในเชิงกายภาพ โลกที่ว่าไร้พรมแดนเดินทางท่องเที่ยวและทำทางธุรกิจระหว่างกันได้สะดวก นโยบายของแต่ละประเทศจากนี้ ต้องมาตั้งหลักคิดกันใหม่ โดยชูเรื่องของสุขอนามัยเป็นที่ตั้ง นั่นเพราะรู้แล้วว่า ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ไร้ความหมาย หากเกิดโรคระบาด
ที่ผ่านมาวิกฤติโควิด-19 ยังทำให้ผู้คนทั่วโลก ตระหนักว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารดีแค่ไหน ในวิกฤติโควิด-19 เทคโนโลยี คือ ฮีโร่ ในการประคองสถานการณ์ ไม่ว่าจะเว้นระยะห่างทางกายภาพแค่ไหน แต่สายสัมพันธ์ยังถูกเชื่อมต่อ (Connect) กันได้ด้วยสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทั้งจากการดำเนินกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ ตั้งแต่ การทำงานที่บ้าน การสั่งซื้อสินค้า หรือแม้แต่การเยียวยาของภาครัฐด้วยมาตรการต่างๆ ผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ เป็นต้น
ดังนั้น จะว่าไปแล้ว ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เป็นภาคบังคับที่โลกธุรกิจได้ถูกเทคโนโลยีดีสรัปไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งในรายที่พร้อมและไม่พร้อม เช่นเดียวกับพฤติกรรมของผู้บริโภค กับภาคบังคับที่จะต้องเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิตจากข้อจำกัดในการไปมาหาสู่ จนเริ่มจะกลายเป็นความเคยชิน ย้อนกลับไปไม่ต่างจากการเรียนรู้ที่จะใช้คอมพิวเตอร์ แทนเครื่องพิมพ์ดีด การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) เป็นครั้งแรก การเรียนรู้ที่จะใช้สมาร์ทโฟน ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเรื่องปกติวิสัยของผู้คนไปแล้ว ครั้งนี้ก็เช่นกัน โลกใบเดิมหลังโควิด-19 ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว