'อัยการ' จ่อฟันโทษหนักคนกรอกข้อมูล 'เราไม่ทิ้งกัน' เท็จ
“รองโฆษกอัยการ” ชี้กรอกข้อมูล “เราไม่ทิ้งกัน” เท็จขอรับเยียวยา 5 พัน เข้าข่ายฉ้อโกง-พ.ร.บ.คอม-แจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน
เมื่อวันที่ 9 เม.ย.63 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า ขณะนี้รัฐเริ่มทยอยจ่ายเงินทดแทนเดือนละ 5,000 บาท รวม 3 เดือนให้แก่ประชาชนแล้ว ขณะที่จะเพิ่มวงเงินให้เป็น 6 เดือน และมีคนกรอกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ถึง 20 ล้านคน แน่นอนย่อมมีคนกรอกข้อความเท็จ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอีกทั้งเป็นการเอาเปรียบคนที่เดือดร้อนจริง ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่า ตนเห็นว่าผู้กรอกข้อมูลเท็จนอกจากน่าจะเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร มาตรา14(1) กับ ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตาม ป.อาญา มาตรา137แล้ว น่าจะมีความผิดฐาน "ฉ้อโกง" เพราะมีเจตนาโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง คือรัฐ มีโทษจำคุกถึง 3 ปีปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนต้องสอบให้ได้ข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดจนสิ้นกระแสความแล้วรีบส่งสำนวนให้อัยการฟ้องโดยเร็ว
นายโกศลวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิ์ ยังให้บริการปรึกษาแก่ประชาชนฟรีทั่วประเทศ ใครสงสัยเรื่องสิทธิ์ให้ไปพบได้ ที่ตนลงไปรับฟังข้อมูลพบว่า ผู้ร้องบางรายเป็นแม่ค้ามีข้อพิพาทกับเจ้าของสถานที่ ขอลดค่าเช่าช่วงโควิดที่ขายของไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชนซึ่งจะลดให้หรือไม่ ต้องตกลงกันเอง แต่หากเป็นร้านเช่าในห้างสรรพสินค้า แล้วห้างฯปิดเพราะรัฐมีมาตรการช่วงโควิด จึงขาดรายได้จึงมาปรึกษาอัยการ กลุ่มนี้ขอรับเงินช่วยเหลือได้