เรื่องต้องรู้ก่อน ‘อุทธรณ์เราไม่ทิ้งกัน’ มีอะไรบ้าง
เช็คลิสต์ต้องรู้ก่อน "อุทธรณ์เราไม่ทิ้งกัน" ใครมีสิทธิ์-ไม่มีสิทธิ์ เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเปิดเมนูยื่นร้องเรียน 20 เมษายนนี้
หลังจากที่ กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงผ่าน เพจสถานีข่าวกระทรวงการคลัง ถึง การอุทธรณ์ผลการพิจารณาเพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท หรือ อุทธรณ์เราไม่ทิ้งกัน จะเริ่มเปิดให้ดำเนินการเฉพาะทางออนไลน์ ทาง www.เราไม่ทิ้งกัน.com เท่านั้น ในช่วงสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าจะเป็นประมาณวันที่ 19 เมษายน 2563 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันการระบาดโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น
สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่า ตนเองอยู่ในข่ายของการที่จะต้องยื่นเรื่องอุธรณ์ได้หรือไม่นั้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมข้อมูลน่ารู้ก่อนที่จะทำการยื่นเรื่องอุธรณ์เราไม่ทิ้งกันที่กำลังจะเปิดเมนูให้ผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อพิจารณาอีกครั้งได้
ส่วนใครมีสิทธิ์-ไม่มีสิทธิ์ รับเงินช่วยเหลือ มาตรการเยียวยา 5,000 บาทสามารถแยกประเภทได้คร่าวๆ ดังนี้
- คนที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท
แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
ผู้ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมตาม มาตรา 33
ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นลูกจ้าง แรงงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบ
เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการซึ่งสถานประกอบการได้รับผลกระทบ แต่สถานประกอบการไม่ได้ถูกระบุให้ปิดตามประกาศของราชการ
เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 แต่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน
- คนที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท
เกษตรกร เพราะรัฐบาลจะออกมาตรการสำหรับเกษตรกรเร็วๆ นี้ หลายคนที่ถูกตัดสิทธิ์เพราะ AI ระบุให้อยู่ในกลุ่มเกษตรกรเพราะมีชื่อปรากฎอยู่ในครอบครัวเกษตรกรซึ่งขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมารัฐใช้ฐานข้อมูลชุดเดียวกันนี้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น ค่าเพาะปลูก ค่าเก็บเกี่ยว ค่าปัจจัยการผลิต เป็นต้น
เจ้าของสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 4 คนขึ้นไป เนื่องจากจะได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการอื่นๆ ของกระทรวงการคลัง เช่น สินเชื่อฉุกเฉิน สินเชื่อพิเศษ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3235
ข้าราชการบำนาญที่ปัจจุบันประกอบอาชีพอื่น เนื่องจากได้รับการดูแลจากภาครัฐอยู่แล้ว
แม่บ้านที่ไม่ได้ประกอบอาชีพ เพราะมาตรการมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น รายได้ลดลง ไม่มีรายได้ ชั่วโมงการทำงานลดลง หยุดงาน ปิดกิจการ กรณีแม่บ้านจึงถือว่าไม่เข้าข่ายในข้อกำหนดดังกล่าว
นักเรียนนักศึกษาที่ทำงานไม่เต็มเวลา (Part-time) หรือรับจ้างอิสระไปด้วย เนื่องจากไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นหลัก อีกทั้งมีมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้กับ กยศ. เช่น พักหนี้ ผ่อนผันหนี้แล้ว
ระหว่างนี้หากประสงค์จะร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรการเยียวยา 5,000 บาทขอให้ติดต่อ call center ของธนาคารกรุงไทย 0 2111 1144 (ตลอด 24 ชั่วโมง) หรือ call center ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 0 2273 9020 (เฉพาะวันและเวลาราชการ)