‘กสิกร’ปูพรมลงทุนอาเซียน ฝ่าวิกฤติโควิดก้าวสู่‘เมนแบงก์’ในภูมิภาค
การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่(โควิด-19) เป็นความท้าทายของทุกองค์กร ที่ต้องประคองธุรกิจให้อยู่รอดในภาวะวิกฤติ ไปพร้อมๆกับวางแผน ปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตหลังโรคร้ายหายไป พร้อมกับนำองค์กรไปสู่ “เป้าหมายทางธุรกิจ”ที่วางไว้ในอนาคตได้
เช่นเดียวกับ “ธุรกิจธนาคารพาณิชย์” ที่ต้องปรับบทบาทครั้งใหญ่ มุ่งเน้นภาระกิจ “ช่วยลูกหนี้”ให้อยู่รอด มากกว่ามานั่งคิดเรื่องการเติบโตสินเชื่อแบบเดิมๆ ภารกิจนี้มาพร้อม “รายได้”และ “กำไร” ที่หายไปจำนวนไม่น้อย
ขณะที่โจทย์ใหญ่ของธุรกิจเรื่อง “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” ก็ยังคงอยู่ และไม่รู้ว่าหลังจบโควิด-19 พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปอย่างไร จะยิ่งทำให้คลื่นลูกนี้ก่อตัวใหญ่ขึ้น พร้อมพัดพาแบงก์ที่ไม่ปรับตัว หรือ ปรับตัวด้วยสปีดเดิมๆมากแค่ไหน
เรื่องนี้ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่ง "ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บอกไว้ชัดเจนว่า แม้โจทย์เร่งด่วนของธนาคารในเวลานี้ คือการพาลูกค้า พนักงาน และประเทศผ่านวิกฤติไปด้วยกัน แต่กสิกรไทยยังคง "ยึดมั่น"ในเป้าหมายที่มุ่งไปสู่การเป็น"ธนาคารหลัก"ของภูมิภาคด้วย
การไปสู่เป้าหมายนั้น ทำให้กสิกรไทย ยังคงเดินหน้าการขยายธุรกิจ และการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ " CCLMVI" ประกอบด้วยจีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย เพื่อหวังเชื่อมต่อการค้าการลงทุน และการเชื่อมโยงเครือข่ายการให้บริการทางด้านการเิน แก่นักธุรกิจไทยและต่างชาติ รวมถึงการให้บริการแก่ “ลูกค้ารายย่อย” หรือ รีเทลแบงกิ้ง ผ่านช่องทาง “ดิจิทัลแบงกิ้ง” ในประเทศนั้นๆด้วย
ธนาคารกสิกรไทย วางกลยุทธ์การลงทุนในต่างประเทศ ผ่านบริษัทลูก คือ “กสิกร วิชั่น” หรือ "KVision" ซึ่งกสิกรไทย ถือหุ้นอยู่ 100% โดยบริษัทนี้เป็น "บริษัทลงทุน (Investment Holding Company)" นอกประเทศไทย มีงบลงทุนประมาณ14,000ล้านบาท สำหรับแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในต่างประเทศให้กับธนาคารกสิกรไทย
เมื่อไม่กี่วันก่อน กสิกรไทย โดยกสิกร วิชั่น เพิ่งได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากธนาคารกลางเมียนมา ในการเข้าไปร่วมลงทุนในสัดส่วน 35% ในธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือ เอแบงก์ (Ayeyarwaddy-A bank)
และล่าสุด วานนี้ (15 เม.ย.) กสิกรไทยแจ้งว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ไฟเขียว ให้เข้าไปถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน(PT Bank Maspion Indonesia Tbk) อินโดนีเซีย เพิ่มเป็น40% ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดที่สำนักงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของอินโดนีเซีย (Otoritas Jasa KeuanganหรือOJK)อนุญาต จากเดิมกสิกร ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 9.99%
การลงทุนถือหุ้นในเอแบงก์ กสิกรวิชั่นใช้เงินลงทุนประมาณ 40 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การลงทุนในแมสเปี้ยน ใช้เงินลงทุน 130 ล้านดอลลาร์ หรือรวมแล้วกว่า 5 พันล้านบาท นับว่าเป็นว่าเป็นวงเงินที่ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับดีลเฉียด "แสนล้าน" ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ที่เข้าไปซื้อกิจการ "ธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค" ในอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตาม ก็เป็นไปตามกลยุทธ์การลงทุนของแบงก์ ที่เน้นใช้เงินลงทุนน้อยๆ เรื่องนี้ " “พิพิธ เอนกนิธิ” กรรมการผู้จัดการ กสิกรไทย ได้บอกไว้ว่า การลงทุนของแบงก์ หลักๆยังเน้นการลงทุนน้อยๆไม่ใหญ่โต เพื่อเปิดทาง เปิดโอกาสให้แบงก์มีพาร์ทเนอร์ มีเครือข่ายในการทำธุรกิจ และมีความรู้ในตลาดนั้นๆมากขึ้น มากกว่าการเข้าไปลงทุนเพื่อซื้อกิจการ พร้อมกันนี้จะเน้นการใช้ “ดิจิทัล” เพื่อเจาะธุรกิจในต่างประเทศ นอกจากจะทำให้การบริการดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ต้นทุนของแบงก์ต่ำลงด้วย ด้วยความเชี่ยวชาญที่หลากหลายของกสิกรไทย จะเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มได้มากขึ้น
ชัดเจนว่าการลงทุนครั้งนี้เป็นแค่ “ก้าวแรก”ที่จะปูทางไปสู่การขยายบริการในต่างประเทศ ต้องติดตามดูว่าก้าวต่อไปที่กสิกรไทยจะมุ่งไปมีอะไรบ้าง และจะไปสู่เป้าหมายการเป็นธนาคารหลัก หรือ Main Bank ในภูมิภาคได้หรือไม่ เพราะการเป็น Main Bank ก็เป็นเป้าหมายของธนาคารอื่นๆ เช่นกัน