อุตฯการก่อสร้างหดตัว30% ผลกระทบเคอร์ฟิว-โควิด
ปูนซีเมนต์นครหลวงประกาศปิดโรงงานปูนสระบุรี เซ่นพิษโควิด-19 ด้าน อุตสาหกรรมก่อสร้าง คาดงานลดลง 30%มาตรการเคอร์ฟิวกระทบทำงานกะกลางคืน แรงงานกลับบ้าน เตรียมหารือ 20 เม.ย.นี้ เฟ้นมาตรการเสนอให้รัฐช่วย
จากกรณีบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด(มหาชน) หรือ ปูนอินทรี ได้ประกาศปิดสายการผลิตโรงงาน 1 กิจการสระบุรี และโครงการออกจากงานด้วยความเห็นชอบร่วมกัน ปี พ.ศ.2563 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิค -19 ได้ส่งผลกระทบกับธุรกิจของบริษัทฯ อย่างเห็นได้ชัด จากคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์ของลูกค้าลดลงเป็นจำนวนมาก และคาดว่าความต้องการปูนซีเมนต์มีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น คณะผู้บริหารกลุ่มของบริษัทฯ ได้พิจารณาโดยปิดสายการผลิตโรงงาน 1 ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2563 เป็นต้นไป และ จำเป็นต้องลดอัตรากำลังคนในสายการผลิตโรงงาน 1 และสายงานสนับสนุนทั้งหมด นับจากวันที่ปิดโรงงาน 1 เป็นต้นไป
นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในขณะนี้อุตสาหกรรมก่อสร้างได้ชะลอตัวลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการของภาครัฐ เช่นการกำหนดเวลาเคอร์ฟิว ทำให้ในช่วงกลางคืนหลังสี่ทุ่มไม่สามารถทำงานได้ ต้องไปเร่งทำงานในช่วงกลางวันแทน และจากการปิดเมือง ทำให้แรงงานทั้งไทยและต่างด้าวกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานก่อสร้างในบางส่วน
ทั้งนี้ในส่วนของงานก่อสร่างภาครัฐติดปัญหาในเรื่องการส่งมอบงาน เนื่องจากหน่วยราชการติดปัญหาการเดินทางในช่วงนี้เพื่อมาตรวจรับงาน จึงได้เสนอให้เปลี่ยนมาเป็นการประชุมผ่านทางระบบออนไลน์ และให้เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นเป็นผู้ตรวจรับงานแทนเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง
ส่วนงานก่อสร้างภาคเอกชนจะลดลงไปบ้าง จากภาวะเศรษฐกิจซบเซา โรงแรมและหลายธุรกิจต้องหยุดดำเนินงาน คาดการณ์ในเบื้องต้นว่าจะมีปริมาณงานหายไปประมาณ 30%
ทั้งนี้ วิกฤติโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ระบบซัพพลายเชนทั้งระบบมีปัญหาจากการขนส่งวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรในการก่อสร้าง ดังนั้นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้าง จึงได้เสนอไปยังรัฐบาลให้เข้ามาช่วยเหลืออุตสาหกรรมก่อสร้างในประเด็นดังต่อไปนี้ ได้แก่ 1. การเร่งพิจารณาเบิกจ่ายค่าจ้างที่คงค้าง และกำหนดวิธีการตรวจรับงานที่เหมาะสมภายใต้สถานการณ์เช่นนี้
2. พิจารณายกเว้นค่าปรับสัญญาทุกสัญญาทั้งออกแบบ ที่ปรึกษา จัดหาติดตั้งพัสดุและสัญญาก่อสร้าง 3. พิจารณาขยายสัญญาโดยไม่ใช้ดุลยพินิจ โดยขยายอายุสัญญานับจากวันที่กรมควบคุมโรคติดต่อประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย นับจากวันที่ 22 ม.ค. 2563 ออกไปจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด
นอกจากนี้ ควรออกมาตรการช่วยเหลือ เช่น มาตรการต่อวีซ่าแรงงาน ในกรณีที่แรงงานวีซ่าหมดอายุ ควรขยายเวลาในการต่อวีซ่าให้ใช้วีซ่าเดิมต่อไปคราวละ 3 เดือนหรือจนกว่าสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะพร้อมให้บริการในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย , ขอให้มีการอนุโลมแก้ไขงวดงาน เนื่องจากในขณะนี้มีปัญหาการนำเข้าเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์การก่อสร้างจากประเทศจีน และประเทศต่างๆ ที่ต้องปิดสายการผลิตไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้ได้ เป็นต้น
“ในวันจันทร์ที่ 20 เม.ย.นี้ ทางสมาคมที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมก่อสร้าง จะรวบรวมข้อเสนอจากผู้ประกอบการรายย่อย จัดทำเป็นมาตรการที่อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ เสนอให้กับรัฐบาล เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยอยู่รอดในภาวะวิกฤตินี้ไปได้”