คืบหน้า! ‘วัคซีนโควิด-19’ จีนทดสอบในมนุษย์เฟส 2
ขณะนี้เชื้อ “โควิด-19” มีแนวโน้มจะกลายเป็นเชื้อประจำถิ่นในอนาคต ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง “วัคซีน” จึงเป็นความหวังที่จะป้องกันโรค และเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลแต่ละประเทศมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวัคซีนอย่างจริงจัง!
ขณะนี้ เชื้อ “โควิด-19” มีแนวโน้มจะกลายเป็นเชื้อประจำถิ่นในอนาคต ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง “วัคซีน” จึงเป็นความหวังที่จะป้องกันโรค และเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลแต่ละประเทศมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวัคซีนอย่างจริงจัง
ทว่าการพัฒนาวัคซีนแต่ละตัวใช้เวลานานนับสิบปีจนถึงครึ่งศตวรรษ หรือบางตัวก็ยังไม่สำเร็จเลยอย่างวัคซีน HIV หรือตับอักเสบซี หรือบางวัคซีนที่มีแรงผลักดันจากการระบาดในอดีต อย่างเช่น ซาร์ส, เมอร์ส ที่งานวิจัยไปหยุดอยู่ที่ การทดสอบในมนุษย์เฟส 1-2 เพราะไม่ระบาดต่อนั่นเอง
แล้ววัคซีน "โควิด-19" หล่ะ ทั่วโลกจะสามารถพัฒนาไปได้มากน้อยแค่ไหน ไปหาคำตอบได้จาก “ดร.ภก. นรภัทร ปีสิริกานต์” รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองผลิตวัคซีนจากไวรัส ฝ่ายชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม เล่าให้ฟังว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายชื่อทีมวิจัยวัคซีนอย่างเป็นทางการ ว่ามี 70 บริษัทที่กำลังพัฒนาวัคซีน และมี 3 บริษัทที่อยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ ได้แก่ 1. บริษัทโมเดอร์นา สัญชาติสหรัฐ 2.บริษัทแคนสิโน ไบโอโลจิคัล สัญชาติจีน และ3.บริษัทอิโนวิโอ สัญชาติสหรัฐ ส่วนบริษัทที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาทดสอบในสัตว์ หรือทดสอบในสัตว์เสร็จแล้ว ซึ่งน่าจะทยอยประกาศเข้าทดสอบทางคลินิกในมนุษย์ตามมา
โดย บริษัท อิโนวิโอ เพิ่งได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) ให้ทดสอบวัคซีน โควิด-19 ในชื่อ INO-4800 ในมนุษย์ได้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 ในการศึกษาจะใช้อาสาสมัครสุขภาพดี 40 คน แต่ละคนจะได้รับการยิงวัคซีน 2 โดส เดือนที่ 0 และเดือนที่ 1 และติดตามดูความปลอดภัยและภูมิคุ้มกันเบื้องต้นไปจนถึงสิงหาคม.2563 นี้ และอาจเข้าสู่ การทดสอบในมนุษย์เฟส 2ในทันทีหากการทดสอบในมนุษย์เฟส 1 ให้ผลที่น่าพอใจ และยังร่วมมือกับบริษัทพาร์ทเนอร์ ที่ชื่อโอโลจี ไบโอเซอร์วิส ซึ่งจะผลิตวัคซีนไว้กว่า 1 ล้านโดสปลายปี 2563
อย่างไรก็ตามภายในเดือนเมษายน.2563 นี้ จะมีอีก 3 บริษัท ประกาศนำวัคซีนเข้าทดสอบในมนุษย์เพิ่มเติม คือ อ็อกฟอร์ด ยูนิเวอร์ซิตี้ ,ในชื่อ ChAdOx1 (โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกับ บริษัทแคนสิโน ไบโอโลจิคัล สัญชาติจีน ที่เข้าทดสอบ ในมนุษย์ระยะที่ 1 ในเดือนมีนาคม. ที่ผ่านมา) การทดสอบใช้อาสาสมัครถึง 510 คน เพื่อรวบทำการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1-2 โดยแยกออกเป็น 14 การศึกษา ซึ่งยังคงเน้น 3 ด้านคือ ความปลอดภัย ภูมิต้านทาน และประสิทธิผลของวัคซีน
เบื้องต้นการศึกษาด้านความปลอดภัยจะเสร็จสิ้นภายใน ตุลาคม 2563 และทยอยประกาศผลการศึกษาด้านอื่นๆภายใน พฤษภาคม 2564
ดร.ภก. นรภัทร กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัทวัคซีนทั่วโลกต่างคนต่างเร่งวิจัยให้วัคซีนออกได้เร็วที่สุด ปัจจุบันที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดมี 3 ตัวคือบริษัทแคนสิโน ไบโอโลจิคัล สัญชาติจีน ที่กำลังทดสอบเฟส 2 ในมนุษย์ และบริษัทโมเดอร์นา สัญชาติสหรัฐและ บริษัทอิโนวิโอ สัญชาติสหรัฐทดสอบเฟส 1 ในมนุษย์ ซึ่งบริษัทแคนสิโน ไบโอโลจิคัล จากจีนเพิ่งเอาวัคซีนเข้าทดสอบเฟส 1 ในมนุษย์ 1 ในช่วงมีนาคม 2563 และเข้าสู่เฟส 2 อย่างรวดเร็วในเดือนเมษายน 2563 ถือว่าเป็น ซุปเปอร์ ฟาสแทรคของการทำคลินิกก็ว่าได้ ประกอบกับองค์การอาหารและยาสหรัฐ(เอฟดีเอ) และองค์การอาหารและยาจีน อาจจะใช้ช่องทาง ขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นกับการพิจารณาตามนโยบายของแต่ละประเทศเป็นรายๆไป
โรคโควิด-19 มีคนติดทั่วโลกกว่า 2 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 1.2 แสน วัคซีนและยาจึงจำเป็น ซึ่งในส่วนของประเทศไทยจะมีวัคซีนใช้จาก 2 วิธีคือ จากการนำวัคซีนต้นแบบจากต่างประเทศ เข้าร่วมทดสอบทางคลินิกในประเทศ ซึ่งก็ต้องมีการเจรจาเงื่อนไขกัน โดยอาจจะรวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตในอนาคตด้วย และ พัฒนาเองจากนักวิจัยไทยและพันธมิตร ซึ่ง 1 ใน 70 บริษัทยาทั่วโลก ตามประกาศองค์การอนามัยโลก วันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา มีบริษัทสัญชาติไทยด้วยคือบริษัท ไบโอเน็ต เอเชีย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่มีบริษัทของคนไทยสามารถเข้าไปอยู่ในรายชื่อทีมวิจัยวัคซีนโควิท-19 ได้
นอกจากนี้ ยังมีทีม ค้นคว้าวิจัยด้านวัคซีนของประเทศไทย อีกหลายทีมที่ทำงานร่วมกัน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ องค์การเภสัชกรรม ภายใต้การสนับสนุนเชิงนโยบายด้านวัคซีนอย่างเข้มแข็งจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข
“การวิจัยวัคซีนนั้น บริษัทไหนจะเข้าเร็ว-ช้า ไม่สำคัญ เท่ากับวัคซีนของใครตอบโจทย์ สามารถผ่านด่านทดสอบทางคลินิกทั้ง 3 เฟส ทั้งความปลอดภัยที่ดี ผลภูมิต้านทานที่ดี และมีประสิทธิผลป้องกันโรคได้ดีที่สุดต่างหาก ”ดร.ภก.นรภัทร กล่าวทิ้งท้าย