เปิดหน้าที่ 'ปรีชา จันทร์โอชา' ในฐานะกรรมาธิการท่องเที่ยววุฒิสภา

เปิดหน้าที่ 'ปรีชา จันทร์โอชา' ในฐานะกรรมาธิการท่องเที่ยววุฒิสภา

"คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว" ของวุฒิสภากลายเป็นที่สนใจในสังคม เมื่อมีชื่อของ "พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา" น้องชาย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นกรรมาธิการด้วย แล้วคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ทำหน้าที่อะไรบ้าง

เมื่อวานนี้ (16 เม.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศวุฒิสภาแต่งตั้งให้ “บิ๊กติ๊ก” พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา วัย 63 ปี สมาชิกวุฒิสภาและอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว แทนตําแหน่งที่ว่าง ตามนัยแห่งข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ข้อ 103 ประกาศให้ทราบทั่วกัน ณ วันที่ 12 ก.พ. 2563

ประกาศดังกล่าวมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. จึงหมายความว่า พล.อ. ปรีชา นั่งเป็นกรรมาธิการการท่องเที่ยวมาเกือบ 2 เดือนแล้ว และทำให้หลายฝ่ายอยากทราบว่า คณะกรรมาธิการดังกล่าวที่ พล.อ. ปรีชา ร่วมเป็นกรรมาธิการ มีบทบาทต่อการท่องเที่ยวของประเทศในแง่มุมใด

  • อำนาจหน้าที่

คณะกรรมการการท่องเที่ยว วุฒิสภา มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว การสร้างความหลากหลายและคุณภาพด้านการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ พิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวฯ ชุดปัจจุบัน มีประธานชื่อ พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร และมีกรรมาธิการอีก 20 คน รวม 21 คน โดย 2 ใน 3 หรือ 14 คนเป็นอดีตทหารหรือตำรวจ โดยนอกจาก พล.อ. ปรีชา แล้ว ยังมีรายชื่ออื่น ๆ ดังต่อไปนี้

1. พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ประธานคณะกรรมาธิการ

2. พลอากาศเอก อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง

3. พลเรือเอก ชุมนุม อาจวงษ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง

4. พลเอก โปฎก บุนนาค รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม

5. นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สี่

6. พลเรือเอก อิทธิคมน์ ภมรสูต เลขานุการคณะกรรมาธิการ

7. พลเอก บุญธรรม โอริส รองเลขานุการคณะกรรมาธิการ

8. นายอนุศักดิ์ คงมาลัย โฆษกคณะกรรมาธิการ

9. พลเอก พิศณุ พุทธวงศ์ รองโฆษกคณะกรรมาธิการ

10. พลเอก ไพโรจน์ พานิชสมัย ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ

11. นายชลิต แก้วจินดา ที่ปรึกษาและกรรมาธิการ

12. พลเอก ชยุติ สุวรรณมาศ ที่ปรึกษาและกรรมาธิการ

13. พลเอก นาวิน ดำริกาญจน์ กรรมาธิการ

14. ร้อยเอก ประยุทธ เสาวคนธ์ กรรมาธิการ

15. พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา กรรมาธิการ

16. นายปัญญา งานเลิศ กรรมาธิการ

17. นายไพโรจน์ พ่วงทอง กรรมาธิการ

18. พลตำรวจโท วิบูลย์ บางท่าไม้ กรรมาธิการ

19. พลเอก ศุภรัตน์ พัฒนาวิสุทธิ์ กรรมาธิการ

20. นางสาวเกศชนก เสียงเปรม กรรมาธิการ

21. นางสาวสุดารัตน์ หมวดอินทร์ กรรมาธิการ

158710933517

158710934819

158710935545

158710936279

  • เบี้ยประชุม

ทั้งนี้ ค่าตอบแทนของ ส.ว. นอกจากเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มรายเดือน รวมกว่า 1 แสนบาทแล้ว พ.ร.ก.เงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ พ.ศ. 2555 มาตรา 13 กำหนดว่า ส.ว. และ ส.ส. จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประชุมกรรมาธิการอีกครั้งละ 1,500 บาท เฉพาะครั้งที่มาประชุม

หากคณะกรรมาธิการกำหนดให้มีการประชุมสัปดาห์ละครั้ง หรือ 4 ครั้งต่อเดือน และมาร่วมประชุมครบทุกครั้ง ส.ว. หรือ ส.ส. 1 คน จะได้รับเบี้ยประชุมอีกเดือนละ 6,000 บาท

จากการตรวจสอบในเว็บไซต์วุฒิสภา พบว่า คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว จัดประชุมประจำปี 2563 ไปแล้ว 7 ครั้งนับตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มี.ค.

  • บิ๊กติ๊กควบกรรมาธิการ 2 คณะ

จากการตรวจสอบในเว็บไซต์ของวุฒิสภา ยังพบว่า พล.อ. ปรีชา ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการอีกคณะหนึ่ง คือ “คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข” ในตำแหน่ง ที่ปรึกษา โดย พล.อ. ปรีชา ดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่เป็น ส.ว. ช่วงแรก ๆ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ที่ให้ ส.ว. สามารถดำรงตำแหน่งกรรมาธิการได้ไม่เกินคนละ 2 คณะ 

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข คือ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการสาธารณสุข การพัฒนาระบบสุขภาพ การบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน โดยรวมถึงการรักษาพยาบาล การควบคุมและป้องกันโรค การฟื้นฟูการส่งเสริมสุขภาวะและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงปัญหาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางประชากร และการพัฒนา พิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์วุฒิสภา ระบุว่า คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข จัดประชุมประจำปี 2563 ไปแล้ว 10 ครั้งนับตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ส่วนการประชุมครั้งที่ 11 ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดวันที่ 18 มี.ค. ถูกสั่งงดประชุมไปแล้ว