คราวนี้น้องๆ The Great Depression
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากพิษโควิดที่ส่งแรงกระเพื่อมไปทุกภาคธุรกิจ วันนี้หลายคนเกิดความถามว่าวิกฤติครั้งนี้รุนแรงแบบ Great Depression หรือไม่ แม้จะผลกระทบอาจไม่ได้มีต้นตอลักษณะเดียวกัน แต่ก็เป็นน้องๆ ทีเดียว
ดิฉันไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่ศึกษาประวัติศาสตร์มาบ้าง เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ เร็วๆ นี้มีผู้สอบถามมาว่า วิกฤติครั้งนี้จะแย่ยิ่งกว่า Great Depression หรือไม่
โอ้โห! คำถามชวนคิด ดิฉันตอบกลับไปว่า ไม่เหมือน Great Depression แต่ก็เป็นน้องๆ ค่ะ
Great Depression เป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำที่รุนแรงที่สุดในโลก เริ่มในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1929 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยถือเอาวันที่ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาตกลงอย่างหนักในเดือนตุลาคม 1929 เป็นวันเริ่มต้นของ The Great Depression และลากยาวไปจนถึงปี 1933 โดยมูลค่าตลาดหุ้นลดลงเหลือเพียง 20% ของปี 1929 และอัตราการว่างงานทั่วโลกขึ้นไปสูงสุดถึง 24.9% โดยสิ่งที่ทำให้เหตุการณ์เลวร้ายมากในครั้งนั้นคือ “ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค” ซึ่งกระตุ้นอย่างไรก็ไม่ฟื้น
แต่ในคราวนี้แตกต่างกันค่ะ เมื่อคราว Great Depression นั้น รัฐบาลของประเทศต่างๆ ไม่ได้มีเงินหรือความมั่งคั่งมากมาย เพราะเพิ่งบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมา แต่ในความบอบช้ำทางเศรษฐกิจจากโควิด 19 ครั้งนี้ รัฐบาลของประเทศต่างๆมีเงิน มีความมั่งคั่งมากกว่าสมัยนั้นหลายพันเท่า บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลของประเทศต่างๆทุ่มกันเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางการคลัง เช่น เงินอุดหนุนค่าจ้าง แจกเงินชดเชยรายได้ แจกเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย เงินอุดหนุนค่าเช่า ลดภาษีและขยายเวลาชำระภาษี ลดค่าไฟฟ้า ผ่อนผันการชำระหนี้ หรือมาตรการทางการเงิน เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อฉุกเฉิน พักเงินต้นลดดอกเบี้ย อัดฉีดสภาพคล่องผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ ฯลฯ
พบว่าประเทศที่ใช้วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุดเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี คือ เยอรมนี ซึ่ง ใช้วงเงินสูงถึง 21.8% ถัดมาคือ มาเลเซีย 16.5% สเปน 16.1% สหราชอาณาจักร 15.8% ฝรั่งเศส 14.3% ไทย 12.0% ญี่่ปุ่น 10.8% สิงคโปร์ 10.8% ออสเตรเลีย และ สหรัฐอเมริกา เท่ากันคือ 10.7% ไต้หวัน 5.3% เกาหลีใต้ 5.2% ฮ่องกง 4.2% อินโดนีเซีย 2.6% ฟิลิปปินส์ 1.5% อิตาลี 1.4% และอินเดีย 0.8%
ดังนั้น แม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้คนทั่วโลกตกงานจำนวนมาก จะทำให้ขนาดของเศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวลง แต่ผลกระทบสุทธิจะไม่เท่ากับ Great Depression เพราะการบริหารจัดการของรัฐบาลต่างๆ และเครื่องไม้เครื่องมือที่รัฐบาลต่างๆนำมาใช้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรจะทำ จะช่วยให้ผลของวิกฤติครั้งนี้เบาบางลง และคาดว่าจะไม่ยืดยาวมากไปกว่าปลายปี พ.ศ. 2564
แต่คนทำงานจะต้องถูก Reskilled หมายถึงฝึกให้มีทักษะใหม่ๆที่เหมาะสมกับงานในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป หลายธุรกิจได้เริ่มนำหุ่นยนต์มาใช้ในการทำงานมากขึ้น หากคนไหนไม่สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆได้ คนนั้นก็อาจจะลำบากหน่อยนะคะ เพราะอาจจะหางานทำไม่ได้ ดังนั้น เราต้องทำตัวให้ยืดหยุ่น สร้างทักษะใหม่ๆให้กับตัวเอง เพื่อที่เราจะได้มีงานทำ มีรายได้ต่อไป หลังจบวิกฤตินี้
ดิฉันเคยเขียนไปแล้วว่า โลกจะไม่เหมือนเดิมหลังจากวิกฤติโควิด แนวคิดเกี่ยวการการดำรงชีวิต การทำงาน การเข้าสังคม ของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงไป หากเราจะก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคงในอนาคต ทั้งภาคธุรกิจและประชาชนต้องปรับตัวกันขนานใหญ่
สิ่งแรกที่จะเปลี่ยนคือค่านิยมเกี่ยวกับสุขอนามัยส่วนตัว ซึ่งน่าจะเปลี่ยนไปอีกอย่างน้อย 40-50 ปี หรือประมาณหนึ่งรุ่น คนจะหันมาสนใจเรื่องสุขอนามัยส่วนตัวมากขึ้น จะสนใจที่จะทำความสะอาดร่างกายบ่อยขึ้น รับประทานอาหารที่สดสะอาด ระมัดระวังตนเองไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรค หรือแพร่เชื้อโรคสู่ผู้อื่น
แบรนด์เนมและสินค้าฟุ่มเฟือยจะลดความสำคัญลง เนื่องจากค่านิยมเปลี่ยนไป ของเรียบๆ พื้นๆ เป็นธรรมชาติจะได้รับความนิยมมากขึ้น เรื่องสุขภาพจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น ดังนั้น สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพ รวมถึงอาหารจะได้รับความสำคัญเพิ่มขึ้น จากเดิมที่อาหารเป็นเพียงโภคภัณฑ์ ต่อไปอาหารที่ผลิตจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าถูกสุขลักษณะและรสชาดดี จะสามารถเรียกราคาส่วนเพิ่มหรือ “พรีเมียม” ได้
ดิฉันเห็นว่า ส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถจัดการรับมือกับสถานการณ์ทางสุขภาพได้ดี เพราะนักเรียนที่เก่งที่สุดของเรา ส่วนใหญ่จะเรียนแพทย์ ซึ่งเป็นค่านิยมที่มีมาตั้งแต่ 50-60 ปีก่อน และดิฉันมองว่าหลังจากนี้ อาชีพแพทย์ก็จะเป็นอาชีพที่ได้รับค่านิยมดีในหมู่เยาวชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เหมาะสมที่เราจะเป็น ศูนย์การแพทย์ที่มีมาตรฐานสูงของโลก
เมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป อยากฝากค่านิยมที่อยากให้ปลูกฝังกับคนไทยทุกคน เพื่อยกระดับไปสู่อนาคตกันดังนี้
ประการแรก ฝึกนิสัยรักสะอาด (Hygeine) และรักความปลอดภัย (Safety) ให้เข้าไปอยู่ในหัวใจของคนไทยและผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคน อาหารอร่อยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสะอาดด้วย ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม สปา ร้านนวด ส่งอาหาร รถขนส่ง รถหรือพาหนะรับส่งผู้โดยสาร ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน เรือ รถไฟ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถบัส รถประจำทาง รถแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก จักรยานให้เช่า เรือโดยสาร แพโดยสาร เรือข้ามฟาก ท่าเรือ ท่ารถต่างๆ สวนสนุก สนามเด็กเล่น ฯลฯ ต้องรักสะอาดและยึดถือความปลอดภัยเป็นหัวใจ
ทุกคนต้องทำเองในแต่ละจุด ทำอย่างสม่ำเสมอ ให้เป็นมาตรฐาน ดิฉันเสนอให้มีหน่วยงานรับรองมาตรฐานความสะอาดและปลอดภัย ยกมาตรฐานของประเทศให้อยู่ในแนวหน้าของโลกเลยค่ะ แล้วนักท่องเที่ยวจะกลับมา และจะยินดีจ่ายเงินเพิ่ม จากความสะอาดและปลอดภัยนี้
ในด้านปลอดภัย เราต้องสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม อย่างที่เราได้สร้างมาในการขอร้องให้คนอยู่บ้านเพื่อจะได้ไม่ไปแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่น (แม้จะไม่ทราบว่าตัวเรามีเชื้อโรคหรือไม่ก็ตาม) ซึ่ง ความปลอดภัยบนท้องถนน ก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ถือโอกาสนี้เคร่งครัดว่าผู้ขับรถต้องมีสุขภาพดี มีสำนึกในความปลอดภัย มีชั่วโมงทำงานที่เหมาะสม ไม่ใช้ยากระตุ้น สำรวจยานพาหนะให้อยู่ในสภาพดี ถ้าเก่าเกินไป สมรรถนะไม่ดีแล้วควรทิ้งไป เปลี่ยนใหม่ ขอสินเชื่อมาปรับปรุงกิจการ เพื่อรองรับผู้บริโภคยุคใหม่ที่เรียกร้องสิ่งดีๆมากกว่าเดิม ไม่อย่างนั้นจะไปไม่รอด
ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง ยกระดับมาตรฐาน เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ดีขึ้นค่ะ
หมายเหตุ : ที่ดิฉันมีความเป็นห่วงมากคือ ทรัพยากรน้ำ การทำความสะอาดต้องใช้น้ำ ขอฝากผู้เกี่ยวข้องวางแผนเตรียมทรัพยากรน้ำให้มากขึ้น เพื่อรองรับประเทศไทยที่สวยสะอาดน่าอยู่ปลอดภัยค่ะ