ลิงติดโควิด 'อาการดีขึ้น' หลังได้รับยา 'เรมเดซิเวียร์'
หน่วยงานสาธารณสุขของสหรัฐ ทดลองใช้ยา "เรมเดซิเวียร์" รักษากลุ่มลิงที่ติดโควิด-19 พบว่า "อาการดีขึ้น" หวังเป็นแนวทางรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในอนาคต แต่ยังต้องผ่านการตรวจทานโดยผู้เชี่ยวชาญ และไม่ถือเป็นข้อแนะนำทางคลินิก
สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) เปิดเผยว่า การทดลองรักษาลิงวอกที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ด้วยยาต้านไวรัสเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) ช่วยลดอาการของโรคและความเสียหายในปอดอย่างมาก
การศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์ถูกออกแบบมาติดตามกระบวนการจ่ายยาและการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์ภายใต้การทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่และแบบหลายสถาบัน นำโดยสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อ (NIAID) สังกัดสถาบันสุขภาพฯ
หลังจากรับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ครบ 12 ชั่วโมง ลิงวอก 12 ตัว ถูกแบ่งเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์ทางหลอดเลือดดำ และกลุ่มเปรียบเทียบที่ไม่ได้รับการรักษา โดยมีการให้ยากระตุ้นทางหลอดเลือดดำแก่ลิงกลุ่มแรกทุกวันติดต่อกันอีก 6 วัน
คณะนักวิทยาศาสตร์ยังกำหนดให้มีการรักษาขั้นต้นก่อนเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่แตะระดับสูงสุดในปอดของลิงไม่นาน โดยหลังรับการรักษาขั้นต้นครบ 12 ชั่วโมง นักวิทยาศาสตร์พบว่า ลิงกลุ่มแรกมีสุขภาพดีกว่าลิงกลุ่มเปรียบเทียบ
ลิงตัวหนึ่งของกลุ่มแรกมีอาการหายใจลำบากแต่ไม่รุนแรง ส่วนลิงกลุ่มเปรียบเทียบล้วนมีอาการหายใจลำบากอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันปริมาณเชื้อไวรัสและความเสียหายในปอดของลิงกลุ่มแรกนั้นน้อยกว่าลิงกลุ่มเปรียบเทียบอย่างมากอีกด้วย
คณะนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ผลการศึกษาครั้งนี้สนับสนุนการริเริ่มรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ด้วยยาเรมเดซิเวียร์โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อบรรลุประสิทธิผลทางการรักษาขั้นสูงสุด และเสริมว่า ยาเรมเดซิเวียร์ช่วยป้องกันปอดอักเสบ ไม่ได้ลดเชื้อไวรัสที่แพร่โดยสัตว์
ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ ระบุว่า การศึกษาครั้งนี้ยังไม่ได้ผ่านการตรวจทานโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเดียวกัน (peer review) และไม่ควรถูกสรุปเป็นข้อแนะนำทางคลินิก แต่เป็นการแบ่งปันข้อมูลเพื่อช่วยเหลือภาคสาธารณสุขรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19