‘พันธมิตรชานม’ สงครามตัวแทนการเมืองไทยบนทวิตภพ
เรียนรู้ "สงครามตัวแทน" ผ่านวาทกรรมที่ซ่อนอย่างโจ่งแจ้งอยู่ในโซเชียลมีเดีย
“แม่ขา หมดโควิดแล้วเราไปเที่ยวไต้หวันกันนะคะ” ลูกสาวแม่ นิสิตชั้นปีที่ 4 เอ่ยปากชวน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ลูกพูดแบบนี้ แต่ครั้งนี้หนักแน่นกว่าทุกครั้งเพราะได้บรรยากาศชาวเน็ตชาวไทย ฮ่องกง และไต้หวันเปิดวอร์กับชาวเน็ตจีนแผ่นดินใหญ่มาช่วยกระตุ้น บางคนเรียก 3 ฝ่ายแรกว่า “พันธมิตรชานม”
ชนวนเหตุมาจากไหนคงไม่ต้องพูดรู้กันหมดแล้ว สรุปแค่ว่า คนไทยบางคนเผลอแสดงทัศนะขัดกับนโยบาย “จีนเดียว” คิดว่าไต้หวันและฮ่องกงเป็นประเทศ ชาวจีนผู้รักชาติจำต้องแหก VPN มาปรับทัศนคติคนไทยพวกนี้เสียใหม่ (เอ๊ะ...บ้านคุณเล่นทวิตเตอร์ไม่ได้ไม่ใช่เหรอ) ถ้าพูดแล้วไม่รู้เรื่องก็จำต้องแซะกันด้วยประเด็นชาตินิยมเสียบ้างชาวเน็ตไทยจะได้รู้สึกรู้สา
สิ่งที่ชาวเน็ตแดนมังกรงัดมาตอบโต้ เช่น "ประเทศไทยน่ะยากจนแถมยังด้อยพัฒนา มาว่าฉันปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่เทียนอันเหมินเหรอ เธอก็มี 6 ตุลาฯ เหมือนกัน สนับสนุนเอกราชไต้หวัน-ฮ่องกงใช่ไหม ถ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของคุณแยกตัวบ้างล่ะจะว่ายังไง" แต่ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะทำอะไรชาวทวิตเตอร์ไทยไม่ได้ รวมถึงการพูดถึงสิ่งที่ได้รับการปกป้องสูงสุด ที่เคยจี้จุดคนไทยอนุรักษนิยมได้ทุกครั้ง แต่คราวนี้ใช้ไม่ได้ผล!!!
เกิดอะไรขึ้นกับปรากฏการณ์นี้ หากมองด้วยแว่นการเมืองไทยต้องเริ่มจากการตั้งคำถามว่า
- ชาวทวิตภพไทยคือใคร
เว็บไซต์ brandinside รายงานเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2561 ว่า ทวิตเตอร์ เป็นโซเชียลมีเดียที่ขึ้นชื่อว่าเติบโตสูงที่สุดในประเทศไทย ในขณะที่แพลตฟอร์มอื่นเริ่มอิ่มตัวแล้ว สัดส่วนของคนใช้ทวิตเตอร์ จำนวน 68% มีอายุ 16-34 ปี โดยเข้าทวิตเตอร์ เพื่อต้องการค้นหาสินค้าใหม่ๆ และติดตามข่าวสารแต่ละวัน ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นเป็นกลุ่มใหญ่ในการใช้งาน มีส่วนทำให้ทวิตเตอร์มีการเติบโตสูง สรุปง่ายๆ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ไทยส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่หนีพ่อหนีแม่มาจากเฟซบุ๊ค
- ชาวทวิตภพไทยอยู่ในสภาพแบบไหน
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ประชากรครึ่งโลกตกอยู่ภายใต้สภาพล็อกดาวน์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง วัยรุ่นไทยก็เช่นกัน ไปไหนก็ไม่ได้ มหาวิทยาลัยก็ปิด ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ก็ปิดหมด แน่นอนว่ามันอึดอัด ที่เล่นมือถือกันมากอยู่แล้วก็ยิ่งมากขึ้นไปอีก
- ก่อนล็อกดาวน์เกิดอะไรขึ้น
วันศุกร์ที่ 21 ก.พ.ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี
วันจันทร์ 24 ก.พ. นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกว่า 500 คน รวมตัวชุมนุมค้านมติ ศาลรธน.ยุบอนาคตใหม่ ภายใต้ชื่องาน “จุฬาฯ รวมพล” ประกาศกร้าว “เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป” วันเดียวกับการชุมนุมของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันอังคาร 25 ก.พ. นิสิตนักศึกษาชุมนุมที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นับจากนั้นการชุมนุมเบ่งบานในแทบทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เกิด “แชมป์ ราชรี” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของคำคม “หนังสือก็ต้องอ่าน รัฐบาลก็ต้องด่า” หรือลีลาการแดนซ์ “ทุ่งลุยลาย” หลังจบปราศรัยที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ขออภัยมหาวิทยาลัยอื่นที่ไม่ได้กล่าวถึง)
การชุมนุมจากแค่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินยุบพรรคการเมืองที่พวกเขาเลือก ขยายวงไปถึงการต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ทุกอย่างหยุดนิ่งเมื่อโควิด-19 ระบาด ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศ พรก.ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้ 26 มี.ค.
พล.อ.ประยุทธ์ คนนี้ที่เคยพูดในสภาเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ว่า ตนเป็นกังวลกับเด็กเหล่านี้ที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจถูกชักชวน อาจถูกปลุกมาโดยฟังความข้างเดียว จึงขอให้นักศึกษาทุกคนที่ชุมนุมเวลานี้ช่วยฟังข้อมูลของรัฐบาลที่ได้แถลงออกไปและเลือกฟังดูว่าจะเชื่อทางไหนอย่างไร ตนไม่ต้องการให้ไปทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้นเว้นเสียแต่ว่ามีบางฝ่ายต้องการให้ไปทางใดทางหนึ่ง
พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียวกันนี้ที่เคยกล่าวเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2562 ขณะต้อนรับนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนว่า "มดน้อยในบางครั้งยังสามารถช่วยพญาราชสีห์ได้" สะท้อนความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างรัฐบาลไทยกับปักกิ่ง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ แต่ในความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการผ่านทางผู้ใช้ทวิตเตอร์ของทั้งสองประเทศไม่ได้เป็นแบบนั้น ผู้ใช้ทวิตเตอร์ไทยไม่ใช่แค่ตอบโต้ชาวจีนชาตินิยมเท่านั้น แต่พวกเขายังตอบโต้ชุดความคิดอนุรักษนิยม "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ที่ผู้หลักผู้ใหญ่พยายามสถาปนาหลังการรัฐประหาร 2 ครั้ง ในปี 2549 และ 2557
การปะทะของ 2 ชุดความคิดระหว่าง ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของคนไทยอนุรักษนิยม กับประชาธิปไตยสากลของคนไทยรุ่นใหม่ เกิดขึ้นตลอดเวลา และไปไกลเลยเส้นพรมแดนชาติ เมื่อเจิ้ง เหวินชาน นายกเทศมนตรีเมืองเถาหยวนของไต้หวัน ทวีตข้อความขอบคุณเพื่อนจากประเทศไทย ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ทวีตข้อความอวยพรวันสงกรานต์ให้คนไทย ขณะที่โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวสัญลักษณ์ประชาธิปไตยฮ่องกง ทวีตข้อความ มีความหวังเรื่องการสร้างแนวร่วมใหม่ทั่วเอเชีย ต่อต้านอำนาจนิยมทุกรูปแบบ ซึ่งโจชัว หว่องก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนักศึกษาในหลายประเทศเอเชีย
การทะเลาะกันบนทวิตเตอร์ครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ในยุคที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก Solidarity ทางการเมืองก็สามารถไปได้ทั่วโลกเช่นเดียวกัน พันธมิตรชานมเป็นสงครามตัวแทนชุดความคิดที่กำลังปะทะกันอย่างหนักหน่วงในสังคมไทยและที่อื่นๆ ที่นับจากนี้การเมืองภายในจะไม่ใช่แค่เรื่องของคนใน เช่นเดียวกับการเมืองภายนอก ก็ไม่ใช่เรื่องของคนนอกอีกต่อไป ชานมจึงข้นกว่าเลือดด้วยประการฉะนี้