'ไลน์' เผยผู้บริโภคเสพข่าวธุรกิจ ห่วงปากท้องผลพวงโควิด
หนึ่งในแพลตฟอร์ม 'แชท' ที่คนไทยเสพมากสุด ยกให้ 'ไลน์' แต่ปัจจุบันบริการไม่ได้มีแค่สื่อสารพูดคุย เพราะมีทั้ง 'ไลน์ทูเดย์-ไลน์ทีวี-ไลน์แมน' ฯ โดยวิกฤติโรคโควิดระบาด พลิกพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างไร ติดตาม!!
แม้แพลตฟอร์มสื่อสารพูดคุยหรือ Chat อย่าง “ไลน์” จะเกิดขึ้นเพราะภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ผู้คนต่อแถวกันรอโทรศัพท์ แต่ปัจจุบันแพลตฟอร์มของไลน์ขยายบริการตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากกว่าแชท เพราะมีบริการสั่งและส่งอาหารเดลิเวอรี่ “ไลน์แมน” เสิร์ฟข้อมูลข่าวสาร “ไลน์ทูเดย์” รับชมรายการโปรดผ่าน “ไลน์ทีวี” และซื้อขายสินค้าผ่าน “ไลน์ ช็อป” ให้ผู้บริโภคได้ช้อปกันกระจาย เป็นต้น
ทว่า ช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 พฤติกรรมการใช้ผ่านบริการต่างของไลน์เปลี่ยนแปลงไม่น้อย หากผู้ประกอบการกำลังจับกลุ่มเป้าหมายใด ก่อนทำตลาดไปดูว่าส่วนไหนเป็น “โอกาส” ทำเงินยามข้าวยาก Mask แพง เมื่อผู้บริโภคต้องกักตัว อยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน การใช้งานแชทจึงเพิ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พฤทธิสิทธิ์ ประทีปะวณิช หัวหน้าฝ่ายจัดการแพลตฟอร์มและบริการ ไลน์ ประเทศไทย ฉายภาพว่า ผู้บริโภคใช้มือถือเพื่อสื่อสารกันเพิ่ม โดยเดือนมี.ค. มีการโทรผ่านไลน์เติบโตขึ้น 236% วิดีโอคอลโต 270% และยังใช้งานบนคอมพิวเตอร์ 264%
กักตัว -Work from home ดันพฤติกรรมโทร วิดีโอคอลล์ ผ่านไลน์โตแรง
“สติ๊กเกอร์” เป็นหนึ่งในจุดขายของไลน์ และบรรดาครีเอเตอร์มักจับกระแสสังคมาสร้างสรรค์ดีไซน์สติ๊กเกอร์ใหม่ๆคาแร็กเตอร์ใส่หน้ากากอนามัย ถือเครื่องวัดอุณภูมิ เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อส่งต่อความห่วงใย เรียกร้อยยิ้มด้วย
ที่น่าสนใจคือพฤติกรรมการชอปปิงของคนไทยผ่านไลน์ เติบโตถึง 68% และยอดการใช้จ่ายต่อครั้งเฉลี่ย 1,500 บาท ส่วนสินค้ายอดฮิตหนีไม่พ้นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ซักล้าง น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ เป็นต้น ทำให้การจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเป็น 30% จากฐานทั่วไป 10%
ช่วงโควิดระบาดส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้าจำเป็นเพิ่ม ยอดซื้อบิลเฉลี่ย 1,500 บาท
ทั้งนี้ การซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้น ไลน์ต้องปรับกลยุทธ์พัฒนาฟีเจอร์ไลน์ออฟฟิศเชียล จากเดิมแค่สร้างแบรนด์ แต่ให้ผู้ประกอบการขายสินค้าได้ด้วย MyShop ทำหน้าที่เป็นหน้าร้าน เช็กสต็อก ชำระเงิน เรียกว่าทำธุรกรรมออนไลน์ได้ครบเครื่อง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการเป็นพันธมิตรกว่า 9,000 ร้านค้า
นอกจากนี้ ไลน์เป็นแอพพลิเคชั่นแชทยอดนิยมของคนไทย ผู้ใช้งานร่วม 50 ล้านคน จึงเปลี่ยนบัญชีทางการของไลน์ประเทศไทย (Official account)เป็นศูนย์กลางเสิร์ฟข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ซึ่งผู้บริโภคสนใจเสพคอนเทนท์ดังกล่าวเพิ่ม 165%
ขณะที่ภาครัฐมีมาตรการล็อคดาวน์ ปิดเมือง ห้างค้าปลีก ร้านอาหาร สถานที่ต่างๆ “ปิด” ให้บริการ ทำให้การส่งสินค้าถึงบ้าน(ดีลิเวอรี่)โตแรง โดยผู้งานไลน์แมนกันคึกคักเพิ่ม 3 เท่าตัว บรรดาร้านอาหารปรับตัวมาอยู่บนแพลตฟอร์ม 5 เท่าตัว
พฤทธิสิทธิ์ ประทีปะวณิช - กณพ ศุภมานพ
มาดูฝั่ง “คอนเทนท์” บ้าง ไลน์ทูเดย์และไลน์ทีวี ได้อานิสงส์เชิงบวก กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ ไลน์ ประเทศไทย เล่าว่า ผู้บริโภคอยู่บ้าน ทำให้ใช้เวลาเสพข่าวสาร สาระความบันเทิงผ่านไลน์ทูเดย์ เพิ่มเป็น 44 ล้านคนต่อวัน จาก 36 ล้านคนต่อวัน ซึ่งไลน์ทูเดย์มีพันธมิตร 260 ราย ป้อนบทความ ข่าว สาระ ความบันเทิง แต่โรคระบาดน่ากลัว ทำให้การติดตามคอนเทนท์ “ข่าว”เกี่ยวกับโต 3 เท่า และไม่แค่อ่านแล้วจบ เพราะมีการ “แชร์” คอนเทนท์โต 140% เพื่อแจ้งเพื่อนพ้อง ครอบครัวฯ
“ผู้บริโภคต้องการเสพข่าวที่มีความน่าเชื่อถือจากสำนักงานอย่างมาก การระบาดของโรคไลน์ยังสร้าง Tab ของCOVID-19 โดยเฉพาะ และมีผู้อ่านกว่า 9 แสนคลิกต่อวัน”
ที่น่าสนใจคือผู้บริโภคอ่าน “ข่าวธุรกิจ” มากขึ้น และเติบโตสูงสุด 75% สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาปากท้องเป็นสิ่งที่มีความกังวลใจอย่างยิ่ง ตามด้วยคอนเทนท์ไลฟ์สไตล์กินเที่ยวโต 35% เพราะการออกไปไหนไม่ได้ทำให้ต้องหาร้านอาหารเด็ดดัง ส่วนเที่ยวขอได้ “จินตนาการ” ยามอยู่บ้านช่วยจรรโลงใจได้ดี ส่วนเวลาเสพเนื้อหามากสุดคือ 19.00 น. และ 15.00 น.
ส่วนไลน์ทีวี เห็นพฤติกรรมการดูผ่าน “จอใหญ่” มากขึ้น 42% ใช้เวลานานขึ้น 30% ส่วนเนื้อหายอดฮิตเป็น “ซีรี่ส์วาย”(ละครชุดเนื้อหาชายรักชาย) ผู้หญิงดูมากสุด และขยายไปสู่ผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป เพราะการดูผ่านทีวีทำให้ “คนทั้งครอบครัว” ใช้เวลาร่วมกัน ตามด้วย “อนิเมชั่น” เพราะเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ยังทำให้วันศุกร์ กลายเป็นวันหยุดเพิ่มจากเสาร์-อาทิตย์ด้วย
คอนเทนท์ยอดฮิตที่ผู้บริโภครับชมผ่านไลน์ทีวี ได้แก่ ซี่รี่ส์วาย(เรื่องราวของคู่รักชาย) อนิเมชั่น ซิทคอม ฯ
“ครึ่งเดือนหลังของมี.ค. การรับชมไลน์ทีวีเติบโต 24% ส่วนแนวโน้มคอนเทนท์ที่จะโตมากขึ้น คาดว่าเป็นไลฟ์สไตล์ เพราะผู้บริโภคต้องการเที่ยว ผ่อนคลาย”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่สิ่งที่ต้องรับมือคือหลังสถานการณ์คลี่คลาย ธีระวัฒน์ งามวิทยสิริ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจค้าปลีก ไลน์ ประเทศไทย แนะว่า จบโควิดจะเกิดสิ่งปกติใหม่(New Normal) ปรับการค้าขายออฟไลน์สู่ออนไลน์
“ผู้ประกอบการต้องเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้นำเสนอสินค้าบริการให้ตรงจุดและครบวงจร แล้วสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ เน้นมุ่งแก้ปัญหาให้ลูกค้า โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ”
ที่ผ่านมา แบรนด์มีการปรับตัวใช้ออนไลน์ทำตลาด เช่น เปอโยต์ ประเทศไทย เปิด LINE Official Account ช่วยให้ลูกค้าจองซื้อรถยนต์ผู้บริหารป้ายแดง และนัดหมายส่งรถให้ทดลองขับถึงบ้าน พร้อมสอบถามข้อมูลต่างๆได้ครบโดยไม่ต้องไปที่โชว์รูม OneSiam และ HomePro ที่ใช้ LINE มาเป็นช่องทางการขายสินค้าแทนหน้าร้านที่จำเป็นต้องปิดให้บริการ เป็นต้น
ธีระวัฒน์ งามวิทยสิริ -กฤษณะ งามสม
กฤษณะ งามสม ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณา ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า หลังการแพร่ระบาดโรคคลี่คลาย 2 ผู้ประกอบการควรเร่งฟื้นฟูธุรกิจ 2 ด้าน 1 ได้แก่ 1.สร้างพื้นฐานของช่องทางออนไลน์ให้แข็งแกร่ง และ 2. เตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุค Online Merges with Offline (OMO) เพราะคาดว่าประสบการณ์ออฟไลน์จะกลับเข้ามามีบทบาทอีกครั้งควบคู่ออนไลน์