เก็งกำไร 'ทองคำ' ในช่วง COVID-19
ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่นิยมใช้ในการกระจายความเสี่ยงตั้งแต่ในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน และในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ การเก็งกำไรทองคำยังน่าสนใจอยู่หรือไม่
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่นิยมใช้ในการกระจายความเสี่ยงตั้งแต่ในอดีต โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงๆ เช่น ภาวะสงคราม จราจล และในสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่เราจะเห็นว่าราคาทองปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งถึงแม้ราคาจะยังทำ New High ที่ระดับ 1900 เหรียญต่อทรอยออนซ์ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2011 แต่ก็มีนักวิเคราะห์หลายๆ สำนักในต่างประเทศเริ่มคาดการณ์ราคาทองที่อาจจะเป็น New High ได้ อย่างไรก็ตามการเก็งกำไรทองที่เป็นขาขึ้นแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย นักลงทุนที่เริ่มติดตามราคาทองตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.พ.ตอนที่ Covid-19 เริ่มกระจายรุนแรงไปหลายๆ ประเทศจะทราบดีว่าราคาทองคำผันผวนแรงมาก ทำให้การที่จะลงทุนทองคำแล้วถือนิ่งๆ ไปไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ความผันผวนที่รุนแรงของราคาทองคำในเชิงพื้นฐานนั้น เกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐได้ใช้มาตราการ QE อัดฉีดเงินเข้ามาปริมาณสูงมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกิดแรงเก็งกำไรบนราคาทอง สำหรับคนที่มีมุมมองว่าในระยะยาวความน่าเชื่อถือของเงินดอลลาห์สหรัฐจะลดลงไปเรื่อยๆ และอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อ
การกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในทองคำแทนการถือเงินดอลลาห์ จึงทำให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ในทางกลับก็มีมุมมองตรงข้ามว่าปริมาณ QE ขนาดนี้อาจจะเป็นไพ่ใบสุดท้ายแต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะหลีกเหลี่ยงสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจและจะทำให้เกิดสภาวะเงินฝืดซึ่งจะเป็นผลลบต่อราคาทองคำ มุมมองตรงนี้สนับสนุนด้วยดัชนีเงิน USD ที่ปรับตัวลงมาไม่มากหลังการประกาศมาตราการ QE ครั้งล่าสุด
อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เพิ่มความผันผวนอย่างมากในราคาทองคำ คือการระบาดของ Covid-19 ทำให้เกิด Disruption ของวัฐจักรการผลิตและขนส่งทองคำ ตั้งแต่การปิดเหมืองขุดทองคำ การปิดโรงงานผลิตทองคำ และการขนส่งทองคำที่จำกัด ทั้งหมดนี้ทำให้กลไกการซื้อขายทองคำและ Gold Futures บิดเบือนไปอย่างมาก
ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนสถาบันที่เปิด Short Comex Gold Futures ที่ตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้า CME ในอเมริกามีภาระผูกผันต้องส่งมอบทองคำแท่งอาจไม่สามารถหาทองคำแท่งมาส่งมอบได้ Arbitrager หรือ Market Maker ที่มีการเทรด Gold Futures ควบคู่ไปกับ Gold ETF และทองคำแท่ง ก็ไม่สามารถใช้กลไกการกำหนดราคาแบบเดิมได้ เพราะการเทรดทองคำแท่งและ Gold ETF ในปริมาณมากๆ ทำไม่ได้ถ้าไม่สามารถหาทองคำแท่งมาส่งมอบ
แม้กระทั่งร้านทองในประเทศไทยเองก็เกิดปัญหาการระบายสต๊อกทองที่รับซื้อมาจากหน้าร้านไม่ทัน เพราะการขนส่งทองคำออกนอกประเทศก็ทำไม่ได้เหมือนปกติ กลไกที่บิดเบือนไปนี้ทำให้การเก็งกำไรบนราคาทองคำแท่งจริงๆทำได้ยากเทียบกับการเก็งกำไรบนสัญญา Gold Futures ทำให้ราคาสัญญา Gold Futures ทั่วโลกปรับตัวรุนแรงขึ้นกว่าราคาทองคำแท่งเกิดส่วนต่างของราคาซึ่งในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาราคา Comex Gold Futures ขึ้นไปสูงกว่าราคาทองคำแท่งถึง 70 เหรียญต่อทรอยออนซ์
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นปัจจัยที่นักเก็งกำไรทองคำทุกท่านต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ประสิทธิภาพของมาตราการ QE ที่มีผลกับการตัดสินใจของนักลงทุนทั่วโลกและธนาคารในการกระจายความเสี่ยงไปถือทองคำเพิ่มหรือไม่ แต่ในทางตรงข้ามถ้าตลาดมีมุมมองว่าจะเกิดภาวะเงินฝืดจากเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างรุนแรงก็อาจส่งผลลบต่อราคาทองคำได้ พัฒนาการของ Disruption ของการผลิตและขนส่งทองคำที่ดีขึ้นก็จะทำให้ส่วนต่างของราคา Gold Futures และราคาทองคำแท่งลดง แต่ถ้าพัฒนาการแย่ลงส่วนต่างของราคาก็จะยังมีอยู่ต่อไป และมีผลต่อการตัดสินใจเลือกลงทุนระหว่างทองคำแท่งกับ Gold Futures ของนักลงทุน