เรียนรู้อยู่กับไวรัส ทางรอดฝ่าโควิด
สถานการณ์โควิดไม่อาจคลี่คลายโดยง่าย ขณะที่การปลดบางล็อกกำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ หน้าที่ของประชาชนจากนี้จึงต้อง “เรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัส” ให้ได้ ใช้ชีวิตด้วยความปกติใหม่ ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ต้องดำเนินมาตรการเข้มงวดในการดูแลความปลอดภัยทางสุขภาพ
เกือบ 1 เดือน (ตั้งแต่ 26 มี.ค.) ของการประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ทั่วราชอาณาจักรไทย ซึ่งถือเป็น “ยาแรง” เพราะนอกจากจะสกัดการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 แล้ว ยังส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ธุรกิจต้องหยุดชะงัก จาก คำสั่ง “กึ่งล็อกดาวน์ประเทศ” ทั้งการปิดสถานที่เสี่ยงระบาดเป็นการชั่วคราวหลายสิบประเภท อาทิ โรงเรียน ศูนย์การค้า ร้านอาหาร ผับ บาร์ สนามกีฬา สวนสนุก รวมถึงคำสั่งห้ามออกจากเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หลังการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยโดยเฉลี่ยลดลง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหารือถึงการ “ปลดล็อก” ให้ธุรกิจบางประเภท เปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขความเข้มงวดด้านสุขอนามัย เพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ อำนวยความสะดวกประชาชน ไม่รอให้โรคระบาดคลี่คลายสิ้นเชิง เพราะได้คำตอบแล้วว่า โควิดยังอยู่กับผู้คนไปอีกนาน ตราบที่ยังไม่มีวัคซีนหรือยา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญนานาชาติบอกตรงกันว่าต้องใช้เวลาเป็นปี กว่าจะค้นพบวัคซีน ยา นำมาป้องกันและรักษาผู้คนในวงกว้าง
ดังนั้น หากรัฐมัวรอให้เวลาทอดยาวออกไป ด้วยความหวังว่าจะทำให้การระบาดของโควิดหมดไป เชื่อแน่ว่า ภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบหนักจากปัญหาขาดสภาพคล่อง จนเกิดการปลดแรงงานขนานใหญ่ กลายเป็นปัญหาสุขภาพ ปัญหาธุรกิจ และปัญหาทางสังคม เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติตามมา การหา “รูอากาศ” ให้ภาคธุรกิจได้หายใจ โดยปลดล็อกอย่างมีเงื่อนไขนี้ จึงเป็นสิ่งที่รัฐเลือกที่จะดำเนินการเพื่อประคองสถานการณ์ ซึ่งจะมีการพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (21 เม.ย.)
เมื่อทุกคนรับรู้ว่า สถานการณ์โควิดไม่อาจคลี่คลายโดยง่าย ขณะที่การปลดบางล็อกกำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ หน้าที่ของประชาชนจากนี้จึงต้อง “เรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัส” ให้ได้ ใช้ชีวิตด้วยความปกติใหม่ (New Normal) ทั้งการเว้นระยะห่างสังคม ใส่ใจดูแลสุขภาพด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ฯลฯ ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ต้องดำเนินมาตรการเข้มงวดในการดูแลความปลอดภัยทางสุขภาพของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ ผู้ค้า พันธมิตร รวมถึงผู้บริโภค เป็นต้น
เมื่อรัฐคลายกฎเหล็กให้แล้ว แน่นอนเราคงไม่อยากให้รัฐต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งเหมือนกับบางประเทศ ที่เมื่อคลายกฎแล้วพบว่า การระบาดของโรคกลับมาอีก ไม่เช่นนั้นสิทธิ เสรีภาพ ก็อาจเป็นคำที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ในกรณีของโรคระบาด ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้เดินเข้าสู่การ “ล็อกดาวน์” คราวนี้ไม่แน่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์ “แบบล็อก 3 ชั้น” ที่ยากจะไขคลายให้ได้หายใจหายคอ หากการระบาดกลับมาพุ่งขึ้น ทั้งนี้ผลลัพธ์ของการควบคุมการระบาดจะได้ดีแค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกคนในประเทศ