“ปิยะ อุทาโย” โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แนะให้ผู้มีจิตศรัทธายึดถือปฏิบัติ 3 ข้อ “เดินแจกถึงหน้าประตู - ส่งให้หน่วยราชการ - ตั้งจุดบริจาค” ส่งผลให้ความอารี ไม่เป็นเหตุให้เกิดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ ชี้ กทม. กำหนด 71 จุดบริจาค ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 6 โซน
วันนี้ (21 เมษายน 2563) พลตำรวจโทปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีปัจจุบันมีผู้มีจิตศรัทธานำอาหารหรือสิ่งของมาบริจาคแจกจ่ายให้กับประชาชน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 แต่กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด 19 นั้น
พลตำรวจโทปิยะ กล่าวว่า ลักษณะนิสัยของคนไทยเป็นคนใจบุญโอบอ้อมอารี เมื่อพบใครตกทุกข์ได้ยากก็พร้อมที่จะเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ฃยื่นมือเข้าช่วยเหลือโดยทันที เห็นได้จากปัจจุบันที่มีกรณีของผู้มีจิตศรัทธานำอาหารและสิ่งของมาแจกจ่ายให้แก่ประชาชนบางกรณีอาจทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ซึ่งอาจจะเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเรื่องห้ามการจัดกิจกรรมมั่วสุมในลักษณะเสี่ยงต่อการติดเชื้ออัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ“
พลตำรวจโทปิยะ กล่าวอีกว่า ในการทำบุญหรือช่วยเหลือคนไทยด้วยกันเองนั้นปัจจุบันสามารถดำเนินการได้หลายวิธีด้วยกันเช่น
1. การนำอาหารและสิ่งของไปแจกตามบ้านเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางสามารถลดการรวมกลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ
2.การบริจาคให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนเพื่อนำไปดำเนินการต่อ
3.การจัดจุดแจกอาหารและสิ่งของในแต่ละพื้นที่
อย่างไรก็ตาม อยากฝากไปยังพี่น้องประชาชนทุกท่านที่มีจิตศรัทธา เพื่อให้น้ำใจและความช่วยเหลือของท่านไปสู่ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากอย่างทั่วถึงและยังไม่เป็นการทำให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่ขึ้นในประเทศ ก่อนการบริจาคอาหารและสิ่งของทุกครั้ง ขอให้ท่านแจ้งให้ฝ่ายปกครองในพื้นที่ทราบก่อนการบริจาค สำหรับในกรุงเทพมหานครมีการกำหนดจำนวนจุดบริจาคไว้ 71 จุด ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 6 โซนของกรุงเทพมหานครแบ่งเป็นกลุ่มเขตกรุงเทพกลาง กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ และกลุ่มเขตกรุงธนใต้ สำหรับผู้ที่สนใจจะบริจาคอาหารและสิ่งของขอให้ติดต่อประสานกับสำนักงานเขตทุกเขต
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
สำหรับในพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถประสานโดยตรงกับจังหวัด อำเภอ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายปกครองตำรวจทหารจะได้จัดเจ้าหน้าที่ร่วมดูแลและจัดระเบียบให้เป็นไปตามมาตรการด้านสุขอนามัย เช่น การตรวจวัดไข้ การเว้นระยะห่าง การสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือการจัดให้มีจุดล้างมือด้วยแอลกฮอล์เป็นต้น โฆษกตร. ระบุ
ทั้งนี้หากพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์สายด่วนศูนย์กทม. 1155 ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย 1567 ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน 1111 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง