'โควิด-19' สะเทือน 'เสรีภาพสื่อ' อย่างไร?
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ส่งผลกระทบไปถึงทุกวงการ ล่าสุดนักเคลื่อนไหวเผยว่า กำลังเป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพสื่อทั่วโลกด้วย รัฐอำนาจนิยม เช่น จีนและอิหร่าน ห้ามเผยแพร่รายละเอียดการแพร่ระบาด ส่วนเสรีภาพสื่อไทย ลดลง 4 อันดับ
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอสเอฟ) ที่มีฐานปฏิบัติการในกรุงปารีส เผยแพร่ดัชนีเสรีภาพสื่อโลกประจำปี 2563 ระบุ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่ากำลังตอกย้ำและขยายวิกฤติที่ครอบงำเสรีภาพสื่ออยู่แล้วให้มากขึ้นไปอีก
คริสทอฟ เดอลัวร์ เลขาธิการอาร์เอสเอฟ กล่าววานนี้ (21 เม.ย.) ว่า การแพร่ระบาดกระตุ้นให้บางรัฐบาล “ใช้ประโยชน์จากข้อเท็จจริงที่ประชาชนกำลังงงงัน รวมตัวกันไม่ได้มาก ฉวยออกมาตรการที่ไม่มีทางทำได้ในเวลาปกติ”
ดัชนีปีนี้อันดับเปลี่ยนแปลงจากปีก่อนไม่มากนัก อาร์เอสเอฟพบความสัมพันธ์ที่เด่นชัดระหว่างการจำกัดเสรีภาพสื่อในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดกับอันดับประเทศ กลุ่มประเทศนอร์ดิกอยู่ในกลุ่มมีเสรีภาพมากที่สุด นอร์เวย์ครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ฟินแลนด์เป็นที่ 2 อีกครั้ง ตามด้วยเดนมาร์ก นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์
หากนับจากท้ายตาราง เกาหลีเหนือแย่งอันดับสุดท้ายที่ 180 ไปทำให้เติร์กเมนิสถานขึ้นมาอยู่อันดับรองสุดท้าย ส่วนเอริเทรียยังคงเป็นประเทศที่เสรีภาพสื่อต่ำสุดของแอฟริกาที่ 178
ขณะที่จีนและอิหร่านอยู่ในอันดับ 177 และ 173 ตามลำดับ เนื่องจากการตรวจพิจารณาข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า
อาร์เอสเอฟพาดพิงถึงข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลปักกิ่งปกปิดการแพร่ระบาดในช่วงต้น โดยระบุว่า จีนยังคงระบบควบคุมข้อมูลข่าวสารเข้มข้น ส่งผลกระทบเชิงลบไปทั้งโลกอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติสาธารณสุขจากไวรัสโคโรน่า แม้แต่ยุโรปก็ไม่เว้นเรื่องคุมสื่อช่วงไวรัสระบาด ฮังการีภายใต้นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บัน ออกกฎหมายพิเศษว่าด้วยข้อมูลเท็จ เป็นมาตรการบีบบังคับและไม่ได้สัดส่วนอย่างสิ้นเชิง
ประเทศอื่นที่น่าสนใจ เช่น ซูดานหลังขับประธานาธิบดีโอมาร์ อัล บาเชียร์ได้ก็ทำผลงานดีขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับ 3 เพิ่มขึ้น 16 อันดับมาอยู่ที่ 159
ฝรั่งเศสลดลง 2 อันดับไปอยู่ที่ 32 บ่อยครั้งที่นักข่าวตกเป็นเหยื่อตำรวจใช้ความรุนแรงปราบปรามการประท้วง
ตุรกี ที่ประธานาธิบดีเรเซป เตย์ยิป เออร์ดวน ถูกวิจารณ์เสมอเรื่องปิดกั้นเสรีภาพสื่อ ขยับขึ้นมา 3 อันดับอยู่ที่ 154 แต่อาร์เอสเอฟกล่าวว่า ไม่ใช่เพราะตุรกีดีขึ้นแต่เพราะประเทศอื่นแย่ลง การเซ็นเซอร์สื่อในตุรกีโดยเฉพาะสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก ทั้งยังมีการใช้อำนาจเด็ดขาดมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
รัสเซียภายใต้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ครองอันดับ 149 ยังคงพยายามควบคุมอินเทอร์เน็ตโดยใช้วิธีการที่ซับซ้อนกว่าเดิม ออกกฎหมายเปิดช่องให้รัสเซียตัดอินเทอร์เน็ตจากโลกภายนอกได้ อาร์เอสเอฟชี้ว่า แนวโน้มที่รัสเซียจะควบคุมแบบเดียวกับจีนถือว่าน่าเป็นห่วง
รายงานยังกล่าวถึง เติร์กเมนิสถาน รัฐโดดเดี่ยวในเอเชียกลางตัดอินเทอร์เน็ตในประเทศตัวเองมาแล้ว ประเทศนี้มีผู้ใช้เพียงไม่กี่คนได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในเวอร์ชันที่ถูกทางการตรวจสอบสูงมาก การใช้อินเทอร์เน็ตคาเฟ่บ่อยครั้งต้องแสดงบัตรประชาชนก่อนเชื่อมต่อ
“เกือบทุกที่ในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง ผู้นำใช้อำนาจเด็ดขาดควบคุมข่าวสารและข้อมูลอย่างเข้มงวด” อาร์เอสเอฟสรุป
อาร์เอสเอฟจัดทำดัชนีเสรีภาพสื่อโลกมาตั้งแต่ปี 2545 ประเมินจากหลายปัจจัย เช่น ความเป็นอิสระของสื่อ การเซ็นเซอร์ตัวเอง กรอบกฎหมาย และความโปร่งใส เก็บข้อมูลด้วยการให้ผู้เชี่ยวชาญตอบแบบสอบถาม
สำหรับเสรีภาพสื่อไทยอยู่ในอันดับ 140 ลดลง 4 อันดับ คะแนนรวม 44.94 (คะแนนจาก 0-100 คะแนนน้อยหมายถึงควบคุมเสรีภาพสื่อน้อย)