'สายการบินเอเชีย' ส่อปรับโครงสร้างใหญ่ หลัง 'Virgin Australia' ล้มละลาย
การล้มละลายของสายการบิน "เวอร์จิน ออสเตรเลีย" ซึ่งเป็นสายการบินรายใหญ่อันดับ 2 ของออสเตรเลีย อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมการบินเอเชีย ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19
ขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้แทบทุกประเทศใช้มาตรการควบคุมการเดินทาง คุมเข้มการข้ามพรมแดน ล่าสุด สายการบินในเอเชียหลายแห่งตัดสินใจชะลอแผนขยายธุรกิจ ประเมินความเป็นไปได้ที่จะควบควมกิจการและศึกษาโอกาสต่างๆ ในการเข้าซื้อกิจการ
“สิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบินในขณะนี้คือการการถูกดิสรัปและจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแก่อุตสาหกรรมการบินอย่างมาก” ปีเตอร์ ฮาร์บิสัน ประธานศูนย์กลางการบินพลเรือน (CAPA) ให้ความเห็น
ทั้งนี้ สายการบินเวอร์จิน ออสเตรเลีย กลายเป็นสายการบินแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย ที่เข้าสู่กระบวนการล้มละลายเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก
เวอร์จิน ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสายการบินรายใหญ่อันดับ 2 ของออสเตรเลีย ได้แจ้งต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของออสเตรเลียว่า สายการบินได้ยื่นขอการบริหารจัดการโดยสมัครใจของเจ้าหนี้ (voluntary administration) เพื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจและการเงินของบริษัท
พอล สเคอร์ราห์ ซีอีโอของเวอร์จิน ออสเตรเลีย กล่าวว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปเพื่ออนาคตของเวอร์จิน ออสเตรเลีย กรุ๊ป และแสดงให้เห็นถึงวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจากโควิด-19
ด้านวอห์น สตรอบริดจ์ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำเนินการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ แสดงความเชื่อมั่นว่า การปรับโครงสร้างของเวอร์จิน ออสเตรเลีย จะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากมีบริษัทมากกว่า 10 แห่งที่แสดงความสนใจในเวอร์จิน ออสเตรเลีย
นอกจากนี้ สตรอบริดจ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานในเวอร์จิน ออสเตรเลีย
ที่ผ่านมา เวอร์จิน ออสเตรเลียได้ยื่นขอให้รัฐบาลจัดหาเงินกู้เพื่อฟื้นฟูกิจการในวงเงิน 883 ล้านดอลลาร์ แต่รัฐบาลออสเตรเลียปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเวอร์จิน ออสเตรเลียเป็นสายการบินต่างชาติ เช่น สายการบินเอทิฮัด แอร์เวย์ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ถือหุ้น 20.94% สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ถือหุ้น 20.09% บริษัทหนานชาน กรุ๊ป ของจีน ถือหุ้น 19.98% บริษัทเอชเอ็นเอ กรุ๊ป ของจีน ถือหุ้น 19.82% และบริษัทเวอร์จิน กรุ๊ป ของอังกฤษ ถือหุ้น 10.42%
อย่างไรก็ตาม ไมเคิล แม็คคอร์แม็ค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมออสเตรเลีย กล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้เวอร์จิน ออสเตรเลีย และสายการบินคู่แข่งอย่าง แควนตัส ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไป
ความเคลื่อนไหวของเวอร์จิน ออสเตรเลียครั้งนี้ ทำให้พนักงานในสังกัดประมาณ 10,000 คน ทั้งนักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่อง และพนักงานภาคพื้นดิน ต้องตกงาน โดยที่ผ่านมา เวอร์จิน ออสเตรเลีย พักงานพนักงานประมาณ 8,000 คน ระงับเส้นทางบินระหว่างประเทศและภายในประเทศเกือบทั้งหมด หลังจากรัฐบาลออสเตรเลียประกาศปิดเขตแดน เพื่อจำกัดการระบาดของระบาดของโรคโควิด-19 และบังคับใช้มาตรการจำกัดการเคลื่อนไหวอย่างเข้มงวด
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการบินในออสเตรเลียไม่ประสบความสำเร็จในการทำกำไรมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะสายการบินเวอร์จินที่ประสบปัญหาทางการเงิน ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 แล้ว โดยมีผลประกอบการขาดทุนก่อนหักภาษี 71.2 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในปีที่ผ่านมา
ส่วนสายการบินแควนตัส ซึ่งเป็นสายการบินขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ยังรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลจำนวน 715 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติไวรัส
ขณะที่ทางการรัฐควีนส์แลนด์ เสนอให้เงินช่วยเหลือสายการบินเวอร์จิน ออสเตรเลีย เพิ่มอีก 200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ภายใต้เงื่อนไขว่า เวอร์จิน ต้องคงสำนักงานใหญ่ของบริษัทไว้ที่เมืองบริสเบน เมืองเอกของรัฐต่อไป
เบรนดัน โซบี จากบริษัทโซบี อะวิเอชัน บริษัทที่ปรึกษาซึ่งมีฐานอยู่ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ สายการบินบางแห่งในเอเชียแปซิฟิกที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ อาจจะยื่นขออำนาจศาลคุ้มครองภายใต้กฏหมายล้มละลาย และมั่นใจว่า ในระยะไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือนข้างหน้านี้จะได้เห็นกรณีคล้ายๆกันนี้กับสายการบินอีกหลายแห่ง
สมาคมการขนส่งทางอากาศ (IATA) ระบุว่า อุตสาหกรรมการบินพลเรือนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีรายได้ลดลง โดยอยู่ที่ 113,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเลวร้ายกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือน มี.ค.ว่า รายได้ของอุตสาหกรรมการบินพลเรือนในเอเชียแปซิฟิกจะลดลง 88,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนรายได้จากผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศทั่วโลกจะลดลงประมาณ 55% เหลือเพียง 314,000 ล้านดอลลาร์
แต่ไม่ได้มีแค่สายการบินเวอร์จิน ออสเตรเลียรายเดียวที่เผชิญสถานการณ์ยากลำบาก สมาคมท่องเที่ยวและทัวร์ของมาเลเซีย (แมตตา) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอัดฉีดเงินเป็นการเร่งด่วนให้แก่สายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินของรัฐบาล รวมทั้ง สายการบินแอร์เอเชีย สายการบินต้นทุนต่ำ ที่กำลังประสบภาวะขาดทุนและขาดรายได้อย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียก็แสดงท่าทีว่าต้องการให้เงินเยียวยาสายการบินทั้ง 2 แห่ง
“จำเป็นต้องมีการอัดฉีดเงินก้อนโตเพื่อเยียวยาสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ เพื่อให้ฝ่าวิกฤตครั้งนี้ให้ได้ รวมทั้งช่วยสายการบินต้นทุนต่ำรายใหญ่สุดของประเทศอย่างสายการบินแอร์เอเชียด้วย” ตัน กก เหลียง ประธานแมตตา กล่าว