พิษโควิด-19 ฉุด ราคาน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปิดติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์
"บทวิเคราะห์" พิษโควิด-19 ฉุด ราคาน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปิดติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศประกาศใช้มาตรการปิดเมือง และบางประเทศประกาศขยายระยะเวลาการปิดเมืองไปจนถึงต้นเดือน มิ.ย. 63 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้การขนส่ง ทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมบางประเภทต้องหยุดชะงักลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันโดยตรง
ล่าสุด สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกหดตัวลงถึง 29 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย. 63 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 25 ปี และคาดการณ์ว่าในปี 2563 ความต้องการจะหดตัวลง 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นอกจากนี้ สงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซียที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 63 ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มยกเลิกข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตในเดือน เม.ย. 63 ส่งผลให้อุปทานอยู่ในภาวะล้นตลาด และราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในวันที่ 20 เม.ย. 63 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ -37.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เนื่องจากราคาดังกล่าวเป็นราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสำหรับเดือน พ.ค. 63 ที่ใกล้จะหมดอายุสัญญาในวันที่ 21 เม.ย. 63 ทำให้ผู้ที่ถือครองสัญญาน้ำมันดิบดังกล่าว เช่น นักลงทุนในธุรกิจน้ำมันและสถาบันการเงินที่ไม่ต้องการเก็บสต็อกน้ำมันไว้และไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บน้ำมัน ทำการเทขายสัญญาน้ำมันดิบฉบับนี้ก่อนวันครบกำหนดส่งมอบ ซึ่งหากนักลงทุนถือครองสัญญาจนครบอายุจะต้องมารับน้ำมันดิบตามจริง
นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ซึ่งเป็นแหล่งกระจายน้ำมันของสหรัฐฯ มีปริมาณน้ำมันกว่า 80% ของความจุแล้ว โดยตลาดคาดว่าหากน้ำมันดิบคงคลังยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจรองรับได้อีกเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส สำหรับเดือน มิ.ย. 63 มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันอาจปรับสูงขึ้น หลังหลายประเทศเริ่มมีนโยบายผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองมากขึ้น ประกอบกับอุปทานที่คาดว่าจะลดลงจากการที่กลุ่มโอเปกและพันธมิตรได้บรรลุข้อตกลงที่จะเริ่มปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. 63
นอกจากนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแผนซื้อน้ำมันเข้าคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) มากถึง 75 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศและบรรเทาภาวะน้ำมันล้นตลาด
อ่านข่าว-'ทรัมป์' เมินกระแสโควิด พุ่งระบาดระลอก 2 ช่วงฤดูหนาว