โควิด-19ไทยเพิ่งเข้ายกที่ 4ปรับวิธีค้นหาผู้ป่วยจากเชิงรับเป็นเชิงรุก

โควิด-19ไทยเพิ่งเข้ายกที่ 4ปรับวิธีค้นหาผู้ป่วยจากเชิงรับเป็นเชิงรุก

สธ.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 13 รายยอดสะสม 2,839 ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย กทม.ตรวจโควิดเชิงรุกในชุมชนอนุโลมพระภิกษุกลับจากอินเดีย อยู่ในพื้นที่รัฐจัดให้ 14 วัน ปิดด่านสะเดา7 วันหลังพบเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ ประเทศไทยเพิ่งเข้ายกที่ 4

วันนี้ (23 เมษายน 2563) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าว สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประจำวันนี้ ว่า ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 13 ราย รวมยอดสะสม 2,839 ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย รวม 50 ราย รักษาหายหายกลับบ้านเพิ่ม 78 ราย รวม 2,430 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 359 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-29 ปี จำนวน 691 ราย อายุมากที่สุด 97 ปี และน้อยที่สุด 1 เดือน อายุเฉลี่ย 39 ปี แบ่งตามภูมิภาค กรุงเทพฯ นนทบุรี 1,609 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 108 ราย ภาคกลาง 363 ราย และภาคใต้ 597 ราย

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ วันที่ 23 เมษายน จำนวน 13 ราย แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ (กทม. ชลบุรี สงขลา ชุมพร) จำนวน 5 ราย และ ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้า 5 ราย ได้แก่ คนไทยเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ 1 ราย ไปสถานที่ชุมนุม เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลอดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 1 ราย อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ 2 ราย ตรวจก่อนทำหัตถการ 1 ราย กลุ่มที่ 2 การค้นหาเชิงรุกใน จ.ภูเก็จ 3 ราย

โดยผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 13 ราย อยู่ในพื้นที่กทม. 4 ราย ภูเก็ต 4 ราย ชลบุรี 1 ราย สงขลา 1 ราย ชุมพร 1 ราย ปทุมธานี (ทำงานกับชาวต่างชาติ) 1 ราย และนครปฐม (สถานที่ชุมชนไปหลายจังหวัด) 1 ราย

โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้เสียชีวิตรายที่ 50 เป็นหญิงไทยอายุ 78 ปี มีโรคประจำตัว คือ โรคหลอดเลือดสมองรักษาตัวในโรงพยาบาลที่กทม. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ด้วยอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบ วันที่ 24 มีนาคม มีไข้ปอดบวม ส่งตรวจเชื้อผลยืนยันมีเชื้อโควิด-19 แต่อาการแย่ลง และเสียชีวิตในวันที่ 21 เมษายน ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะหายใจล้มเหลว

“ผู้เสียชีวิตจำนวน 50 ราย ถือเป็นบทเรียนมีค่าที่เราต้องเรียนรู้ เรารู้จักโรคนี้ไม่ถึง 4 เดือนทำให้มีคนล้มป่วยทั่วโลกมากกว่า 2 ล้านคน คนไทยที่เสียชีวิตพบว่าอายุมากกว่า 60 ปี แต่กลุ่มคนที่ติดเชื้อมากที่สุด กลายเป็นวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน กลุ่มที่ติดเชื้อมากที่สุดไม่ได้เสียชีวิตมากที่สุด แต่คนที่ติดเชื้อน้อยกลับเสียชีวิตมาก ดังนั้นเราต้องเรียนรู้ร่วมกัน” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว

โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้เข้าเดือนที่ 4 หากเปรียบกับมวยก็ คือ เข้ายกที่ 4 เราต้องเก็บคะแนนไปเรื่อยๆ วันนี้ที่เรามีผุ้ป่วยรายใหม่ 13 ราย จากที่มากสุด 188 ราย ในวันที่ 22 มีนาคม เราต้องทำคะแนนไปทุกยกอีกยาว อย่างที่บอก การ์ดอย่าตก ถ้าตกแม้แต่นิดเดียวบางประเทศน็อกไปแล้ว ตัวเลขทะยานไปหลักพันและหลักหมื่นในเวลาอันรวดเร็ว

32 จ. ปลอดโรคใน 14 วันที่ผ่านมา

 จากรายงาน กรมควบคุมโรค พบว่า 10 จังหวัดไม่มีรายงานผู้ป่วย ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี อ่างทอง และ สตูล (เฉพาะ State Quarantine) จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 28 วันที่ผ่านมา จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ลพบุรี อุทัยธานี เพชรบูรณ์ แพร่ สุโขทัย มหาสารคาม ยโสธร และร้อยเอ็ด

จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 14 วันที่ผ่านมา 32 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี กาญจนบุรี นครนายก ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง ราชบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี สระแก้ว เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี มุกดาหาร ศรีสะเกษ สกลนคร และอุบลราชธานี

 

ส่วนจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 7-14 วัน ที่ผ่านมา 13 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครสวรรค์ ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร พะเยา เลย นครพนม สุราษฎร์ธานี พังงา พัทลุง นครศรีธรรมราช และสตูล ขณะที่ จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 7 วันที่ ผ่านมา จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น ภูเก็ต ยะลา สงขลา นราธิวาส ปัตตานี และชุมพร

จังหวัดที่มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) มากกว่า 1,000 ราย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 10,942 ราย นนทบุรี 3,578 ราย ภูเก็ต 2,136 ราย ยะลา 4,060 ราย ชลบุรี 1,844 ราย และสมุทรปราการ 1,285 ราย

 

เดินหน้าตรวจโควิด-19 เชิงรุก

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเชิงรับ ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ที่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 คลินิก ARI ของ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม – 14 มีนาคม ตรวจ 277 ราย เจอ 15 ราย วันที่ 15 มีนาคม – 21 มีนาคม ตรวจ 998 ราย เจอเชื้อ 46 ราย วันที่ 22 มีนาคม – 28 มีนาคม ตรวจ 666 ราย เจอ 14 ราย วันที่ 29 มีนาคม – 4 เมษายน ตรวจ 458 ราย เจอ 6 ราย วันที่ 5 เมษายน – 11 เมษายน ตรวจ 269 ราย เจอ 7 ราย และวันที่ 12 – 17 เมษายน ตรวจ 682 ราย เจอ 6 ราย

ดังนั้น โดย สปคม. ด้วยกลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต เริ่มในพื้นที่ชุมชนเขตบางเขน และ เขตคลองเตย ค้นหาจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนเชิงนโยบาย จึงจำเป็นต้องตรวจเชิงรุกในพื้นที่และตรวจจำนวนให้มากขึ้นทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ในวันที่ 15 - 22 เมษายน ตรวจไปแล้วทั้งสิ้น 1,876 ราย พบผู้ป่วยเพียง 1 ราย ส่วนหนึ่งเพราะท่านดูแลสุขภาพดี ตอนนี้ถือเป็นช่วงลงของการแพร่เชื้อ ทำให้การพบน้อยลง แต่กทม.ยังต้องหาเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะเป็นนโยบายของ สธ. ในการปรับเปลี่ยนวิธีการค้นหาเป็นเชิงรุก ไม่ใช่เชิงรับ” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว

ย้ำคนไทยต้องตั้งการ์ดระยะยาว

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากขณะนี้ ผู้คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตมากขึ้น เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง พอเราทำอะไรดีมาสักระยะ เห็นตัวเลขอาจจะเบาใจ สบายใจ และคิดว่าน่าจะผ่อนได้ รวมกับการต้องหาเลี้ยงชีพ ไปธุระ หากท่านตระหนักว่าออกไปข้างนอกเสี่ยงรับเชื้อเข้ามา ขอให้ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และไม่สัมผัสใบหน้า เราก็จะป้องกันได้ กิจกรรมใดที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไป อยู่บ้านดีที่สุด ในช่วงแรกที่มีประกาศภาวะฉุกเฉิน ท่านให้ความร่วมมือดีมาก หากท่านผ่อนเรา บอกไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะต้องดูอีก 7 วันข้างหน้า

ทั้งนี้ 2 ข้อที่ต้องตระหนัก คือ 1) ส่วนบุคคล ต้องดูแลตัวเอง ดูแลคนในครอบครัวเรื่องสุขลักษณะ ถือเป็นหลักปฏิบัติทุกคน และ 2) หากเป็นผู้ประกอบการขนส่งมวลชน ต้องมีหลักการที่ยึดให้มั่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรถไฟฟ้า ต้องไม่แออัดเกินไป ตอนนี้ทางผู้ประกอบการต้องดูแล และประชาชนเองก็ต้องดูแลตัวเอง ต่างดูแลซึ่งกันและกัน ชุดพฤติกรรมใหม่ที่เราทำทุกวันนี้ จะทำให้เราควบคุมโรคนี้ต่อไปได้อีก ตั้งการ์ดระยะยาว ตอนนี้เพิ่งยก 4 ยังต้องยืนยาวอีก 12 ยกหรืออีกหลายยก ต้องเก็บแรงไว้ให้ดีและการ์ดอย่าตก” โฆษก ศบค. กล่าว

สถานการณ์ทั่วโลก 208 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ มีผู้ติดเชื้อรวม 2,634,529 ราย อาการหนัก 56,680 ราย รักษาหาย 716,693 ราย เสียชีวิต 184,021 ราย โดย 10 อันดับ อันดับที่ 1 ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแนวโน้มพบผู้ป่วยรายใหม่ลดลง ถัดมา ได้แก่ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ ตุรกี อิหร่าน จีน และรัสเซีย ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 56

นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า สำหรับสถานการณ์ทางภูมิภาคเอเชีย ณ วันที่ 23 เมษายน 2563 ประเทศญี่ปุ่น พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 377 ราย เกาหลีใต้ เพิ่ม 11 ราย แต่จำนวนผู้ป่วยสะสมมีกว่า 10,694 ราย ขณะที่ ประเทศสิงคโปร์มีผู้ป่วยสะสมแตะ 10,141 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 1,016 ราย เราเคยชื่นชมสิงคโปร์ว่าเขาควบคุมได้ดี เราเชื่อว่าเขาพยายามอย่างเต็มที่ในการควบคุมโรค ก็ขอส่งกำลังใจช่วยสิงคโปร์ ให้ผ่านวิกฤติไปด้วยดี และเราจะเรียนรู้ไปด้วยกัน

รับคนไทย-พระภิกษุ กลับประเทศ

 สำหรับเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับไทย วันนี้ (23 เมษายน) มีนักท่องเที่ยวที่ตกค้าง นักเรียน นักศึกษา จากประเทศตุรกี จำนวน 55 คน เวลา 14.00 น. และ คนงานไทยที่ตกค้างจากประเทศมาเลเซีย จำนวน 144 คน เวลา 13.25 น. วันที่ 24 เมษายน มีคนไทยที่ตกค้างจากประเทศญี่ปุ่น 31 คน เดินทางมาเวลา 15.30 น. และ พระภิกษุจำนวน 104 รูป พร้อมด้วยแม่ชี และผู้ปฏิบัติธรรม รวม 171 คน เดินทางจากอินเดีย ด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ ถึงดอนเมือง เวลา 15.10 น. ซึ่งทั้งหมดจะต้องเข้ากระบวนการ State Quarantine ในสถานที่ที่รัฐจัดให้ โดยทางมหาเถรสมาคม ได้อนุโลมให้พระภิกษุ ได้พักอาศัยในสถานที่ที่ไม่ใช่วัด เพื่อกักตัว 14 วัน

ความมั่นคงปรับลดด่าน เน้นดูแลเชิงรุก

โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์จากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง วันที่ 23 เมษายน ยังมีผู้กระทำความผิดออกนอกเคหสถาน 617 คน และ ชุมนุม มั่วสุม 106 คน ตั้งแต่ประกาศเคอร์ฟิว วันที่ 3 – 23 เมษายน พบการกระทำผิด ออกนอกเคหสถานโดยไม่มีเหตุผลสมควร 16,179 ราย ตักเตือนไป 2,983 ราย และ ดำเนินคดี 13,196 ราย รวมกลุ่มชุมชนหรือมั่วสุมในลัการะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ รวม 1,835 ราย ตักเตือนไป 105 ราย และดำเนินคดี 1,730 ราย

“ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคง มีแผนปรับกระบวนการลดด่านลง จากเชิงรับ มาเป็นเชิงรุก เพราะคนกระทำผิดไม่ได้อยู่บนถนน แต่อยู่ในชุมชน ในบ้าน จึงจะมีการเพิ่มสายตรวจเข้าไปในชุมชน และสิ่งสำคัญคือ เพื่อนบ้าน หรือคนในชุมชน หากพบผู้กระทำผิด มั่วสุม รวมกลุ่ม สามารถแจ้งเบาะแสเข้ามาได้ที่ 191 หรือ 1599 เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล ตักเตือน หวังว่าพี่น้องประชาชนจะทำผิดน้อยลง”

ปิดด่านสะเดา 7 วันหลังเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ

กรณีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ด่านสะเดา ติดโควิด-19 โฆษก ศบค. อธิบายว่า เนื่องจากด่านสะเดาเป็นด่านใหญ่ และมีผู้คนเดินทางเข้ามาจำนวนมาก เมื่อมีการติดเชื้อในบุคลากรที่ดูแล ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงกว่า 49 คน ที่ต้องกักตัว และกลุ่มความเสี่ยงต่ำ 93 คน รวม 142 คน กระบวนการการหาต้นเหตุอยู่ในรระหว่างการสอบสวนโรค ต้องหาคำตอบต่อไปว่าต้นทางมาจากที่ใด แน่นอนว่าเราต้องไม่โทษใคร แต่ต้องป้องกัน ควบคุมอย่างไรไม่ให้มีการแพร่กระจายโรค

เนื่องจากชายแดนไทยมาเลเซีย มีการติดเชื้อทั้งคู่ ไทยและมาเลเซีย พยายามทำเต็มที่ในการควบคุมโรค ถ้าเราร่วมมือกันอย่างดี จะลดตัวเลขลงไปได้มากที่สุด เป็นการร่วมมือทั้งสองฝั่ง แต่หากดูแลไม่ดี มีคนติดโรคขึ้นมา จะทำให้คนที่ทำงานหายไปจากหน้างานเป็นร้อยคน ดังนั้น กระบวนการควบคุมทางด่านก็จะหายไป ขณะนี้ มีความจำเป็นต้องปิดด่านสะเดา 7 วัน และใช้ด่าน ปาดังเบซาร์แทน เพื่อทำความสะอาด ขณะนี้มีผู้ที่ผ่านแดนทางภาคใต้เข้ามากว่า 1,600 กว่าคน และทุกคนได้รับการกักตัวอย่างดี และยังไม่มีใครแสดงอาการ

ขณะที่ประชาชนที่เหลืออีกหลายพันที่ลงทะเบียนประสงค์เดินทางเข้าไทย ขอความร่วมมือต้องมีใบรับรองแพทย์ ลงทะเบียน เพื่อให้จัดพื้นที่ State Quarantine ให้เพียงพอ โดยทั้ง 5 ด่าน สามารถรองรับได้ 350 คนต่อวัน ขณะเดียวกัน ณ ตอนนี้ ยังมีหลายคนที่อยู่ในมาเลเซีย กระจายอยู่หลายรัฐ หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อเข้ามายังสถานทูต จะมีการส่งเครื่องยังชีพให้ เพื่อให้ท่านได้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ในส่วนของการอยู่ผิดกฎหมาย ทางสถานทูต ได้พูดคุยกับทางการมาเลเซีย และพยายามช่วยท่านอยู่ ไม่ต้องตกใจ มีสิ่งใดที่ไม่สบายใจ สามารถติดต่อไปที่สถานกงสุลไทยประจำมาเลเซียเพื่อขอความช่วยเหลือได้” โฆษก ศบค. ระบุ

จุฬาราชมนตรีออกข้อปฏิบัติ เดือนรอมฎอน

ด้าน สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกประกาศ เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVIC-19) ว่าด้วยการปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน โดยใจความสำคัญ ระบุว่า การถือศีลอดเดือนรอมฏอม ให้ถือเป็นปฏิบัติตามปกติที่บทบัญญัติศาสนากำหนด ยกเว้นผู้ที่ได้รับผ่อนผันตามหลักการศาสนาเท่านั้น ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มิได้เป็นอุปสรรคให้งดการถือศีลอดแต่ประการใด ตลอดจนการกลืนน้ำลายที่ไม่เจือปนเศษอาหารที่อยู่ในช่องปากก็มิได้ทำให้การถือศีลอดบกพร่องแต่อย่างใด กลับเป็นการรักษาร่างกายและลำคอ ให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงไม่ควรถ่มน้ำลายในสถานที่สาธารณะโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อในภาวการณ์ปัจจุบัน

รวมถึงงดการจัดเลี้ยงอาหารละศีลอดที่มัสยิด เคหสถาน หรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ หากมีความประสงค์ก็ให้จัดทำอาหารปรุงสุกที่บ้านและจัดใสภาชนะบรรจุภัณฑ์ให้ถูกต้องตาม สุขลักษณะ แล้วแจกจ่ายให้แก่เพื่อนบ้าน ญาติใกล้ชิดแทนการจัดเลี้ยงที่รวมกันเป็นหมู่คณะ

โฆษก ศบค. ระบุว่า ในช่วงเวลาต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญไม่ใช่แค่การระวังตัว ระวังติดโรค แต่ทางจิตใจของเราก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง และสิ่งสำคัญมากๆ คือ หลักคำสอนทางศาสนา สามารถใช้ในภาวะวิกฤตอย่างดี ทุกคำสอน ของทุกศาสนา ขอให้ท่านเอามาใช้ในช่วงเวลาต่างๆ เหล่านี้ ในสังคมที่ร้อนกาย เราก็จะสงบจิตได้ จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว หากใจดี กายก็จะดีไปด้วย