ข้าวแลกปลา : ทางรอดในวิกฤติ 'โควิด-19' ของกลุ่มชาติพันธุ์

ข้าวแลกปลา : ทางรอดในวิกฤติ 'โควิด-19' ของกลุ่มชาติพันธุ์

ชาวปกาเกอะญอและชาวเลต่างก็หันมาพึ่งพาตนเองให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติ "โควิด-19" ไปด้วยกัน ด้วยการนำทรัพยากรที่มีอยู่เยอะในท้องถิ่นอย่าง ข้าว และ ปลา นำมาแลกเปลี่ยนกันโดยไม่ต้องใช้เงิน

การประกาศใช้มาตรการปิดจังหวัดและห้ามเดินทางเข้าออกพื้นที่ เป็นผลกระทบจากวิกฤติ "COVID 19" ที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันที่พึ่งพารายได้หลักจากการท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โรงแรมหลายแห่งต้องปิดตัวลง รวมถึงตลาด ร้านค้าต่างๆ ก็ปิดตัวในช่วงนี้เช่นกัน ทำให้ประชาชนรายได้ลดลง คนหาเช้ากินค่ำตกงานและแทบไม่มีเงินซื้อข้าวกิน

ไม่ต่างจากจังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องใช้มาตรการปิดจังหวัดเพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของ "COVID 19" เช่นเดียวกัน ซ้ำร้ายยังมีปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่มีความน่ากังวลไม่แพ้กัน ทำเอาประชาชนทำมาหากินไม่ได้ รายได้หดหายจนไม่รู้จะต้องหาเงินที่ไหนมาซื้ออาหารประทังชีวิต 

แต่ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ เมื่อคนไทยกลุ่มชาติพันธุ์อย่าง ชาวราไวย์ในจังหวัดภูเก็ต และ ชาวปกาเกอะญอในจังหวัดเชียงใหม่ ไม่รอให้ปัญหาบานปลายไปมากกว่านี้ พวกเขาลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาปากท้องท่ามกลางวิกฤติ "โควิด-19" บนพื้นฐานด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมด้วยการนำปลาจากท้องทะเลไปแลกกับข้าวสารจากดอยสูง เป็นการแลกเปลี่ยนอาหารซึ่งกันและกันโดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ! 

  • ปลาของชาวราไวย์ 

กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่เคยมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นพนักงานโรงแรม ลูกจ้าง และแรงงานรับจ้างทั่วไป ต่างไม่มีงานทำ และแม้ชาวเลจะยังคงออกเรือหาปลาได้แต่ก็ขายไม่ได้ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลขาดรายได้ที่จะใช้จ่ายในยามวิกฤติ

สนิท แซ่ชั่ว ชาวเลในชุมชนราไวย์ .ภูเก็ต หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาออนไลน์เรื่องชุมชนเกื้อกูล ข้าวแลกปลา ปกาเกอะญอและชาวเล” ที่จัดโดยสำนักข่าวชายขอบร่วมกับเพจ The Reporters อธิบายถึงการแลกเปลี่ยนอาหารครั้งนี้ว่า

ชาวเลมีปลาแต่ขายไม่ได้เพราะถูกปิดทั้งสะพานสารสินและตำบลราไวย์ เราได้ปลามาทุกวัน จึงเป็นไปได้มั้ยว่าเอาปลาไปแลกกับข้าวของชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นข้อเสนอที่ดีมาก เพราะตอนนี้ปลาขายได้แค่ในพื้นที่ราไวย์ ซึ่งขายได้ไม่มาก แต่ปลาขึ้นมาวันละนับร้อยกิโลกรัม ดังนั้นการทำปลาตากแห้งนำไปแลกกับข้าวจึงเป็นไอเดียที่ดี

158764555688

  • ข้าวของปกาเกอะญอ

ขณะที่ ชิ สุวิชาน ศิลปินชาวปกาเกอะญอ และนักวิชาการศูนย์การจัดการภูมิวัฒนธรรม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า คนปกาเกอะญอเป็นมนุษย์กินข้าว เราต่อสู้เพื่อที่จะมีสิทธิ์ปลูกข้าวในแผ่นดินของเรา ในทุกพิธีกรรมของเราตั้งแต่เกิดจนตายมีข้าวเข้าไปเกี่ยวข้อง เราอยู่บนดอยเป็นเศรษฐีข้าว ไม่ใช่เศรษฐีเงิน ใครมาบ้านเราเราให้กินข้าวได้เต็มที่ 

พอได้ทราบเรื่องราวของพี่น้องชาวเลที่ไม่สามารถระบายปลาได้ เช่นเดียวกับคนทางเหนือไม่สามารถไปหาปูปลาได้ทัน เพราะตอนนี้ต่างช่วยกันไปดับไฟไหม้ป่าทั้งหมู่บ้าน บางทีดับแล้วติดขึ้นมาอีก ก็ต้องออกไปดับอีก เมื่อเราเห็นปัญหาของเพื่อน และอาหารแห้งเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องเอาเข้าป่า ถ้าเราได้กินปลาจากพี่น้องที่กินข้าวของเรา มันได้คุณค่ามหาศาล 

ชิ สุวิชาน ยังกล่าวอีกว่า ได้ตั้งเป้ารวบรวมข้าวไว้ 300-400 ถัง หรือ 3,000-4,000 กิโลกรัม โดยจะส่งไปที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เพื่อส่งต่อให้มูลนิธิชุมชนไทนำส่งต่อไปให้ชาวเล โดยต้องการให้ข้าวไปถึงชาวเลโดยเร็วที่สุดภายใน 2 สัปดาห์

158764557747

  • ข้าวแลกปลา ปลาแลกข้าว 

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ มูลนิธิชุมชนไท และองค์กรภาคีเครือข่าย ได้ประสานความร่วมมือกันเปิดพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้สำรวจทุนวัฒนธรรมในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้ใช้ศักยภาพและภูมิปัญญา จึงเป็นที่มาของโครงการ "แลกเปลี่ยนข้าวกับปลา" และอาหารต่างๆ 

การลุกขึ้นมารวมกลุ่มกันของชุมชนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ สะท้อนวิธีการรับมือและแก้ไขปัญหาโดยอาศัยภูมิปัญญา โดยความร่วมมือจากกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ ภาคประชาสังคม และหน่วยงานรัฐ เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ข้าวแลกปลาจึงเป็นรูปธรรมของความพยายามในการสร้างรูปแบบการพึ่งพาตนเองโดยอาศัยทุนทางวัฒนธรรมในการแก้ปัญหา โดยพึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐให้น้อยที่สุด การกระจายอำนาจจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน

การที่รัฐเป็นผู้สนับสนุนการใช้ทรัพยากร และชุมชนมีส่วนร่วมในการใช้ มีข้อเสนอต่อกาจัดการทรัพยากร รู้จักสำรวจทุนชุมชน เพื่อให้เกิดการทบทวนการแก้ปัญหาและวิธีการรับมือต่อสถานการณ์วิกฤติโดยภาคประชาชนมีส่วนร่วม ถือเป็นรูปธรรมต้นแบบของการจัดการสถานการณ์วิกฤติที่ถูกพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง

ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดในทำนองเดียวกันว่าการแลกเปลี่ยนปลาแห้งกับข้าวสารระหว่างชาวเลกับชาวกะเหรี่ยง จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของคนโดยไม่ได้ใช้เงินเป็นตัวกลาง แต่เป็นการสร้างความรู้สึกห่วงใยและความเข้าใจกัน เช่น ชาวกะเหรี่ยงก็อยากรู้ว่าปลาจับด้วยวิธีไหน มีวิธีการทำอย่างไร ชาวเลก็อยากรู้ว่าข้าวกะเหรี่ยงเป็นอย่างไร ปลูกอย่างไร เชื่อมโยงการเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง และยังเป็นอาหารที่ปลอดภัยที่ส่งต่อให้พี่น้องได้กินอย่างดีที่สุด โดยไม่ต้องผ่านคนกลางที่ทำให้ต้นทุนราคาแพงขึ้น

วิธีการจัดการปัญหาปากท้องท่ามกลางวิกฤติ "โควิด-19" ด้วยวิธีน่ารักๆ ของคนท้องถิ่นแบบนี้ ถือเป็นความช่วยเหลือทั้งทางกายและทางใจที่ภาคประชาชนส่งต่อถึงกันและกันได้อย่างดีโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐอยู่ฝ่ายเดียว