เบื้องหลังสมรภูมิ ‘แอพฯเดลิเวอรี่’ กลุ่มทุนไทยชิงร่วมทุนประชันศึก

เบื้องหลังสมรภูมิ ‘แอพฯเดลิเวอรี่’ กลุ่มทุนไทยชิงร่วมทุนประชันศึก

เบื้องหน้าสมรภูมิแอพพลิเคชั่นเดลิเวอรี่ที่แข่งกันอย่างดุเดือดนั้น เบื้องหลังวงการนี้ก็มีกลุ่มทุนทั้งไทยและต่างประเทศเข้าไปร่วมทุนจำนวนมาก สำหรับกลุ่มทุนไทยนั้น จะมีใครบ้างที่เข้าไปร่วมแจมบ้าง?

ในสมรภูมิแอพพลิเคชั่นเดลิเวอรี่ หรือบริการส่งสินค้าและอาหาร เบื้องหน้าประชันกลยุทธ์การตลาด หั่นค่าขนส่งดุเดือด กระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ค่าส่งฟรี 0 บาท หรือร่วมกับพาร์ทเนอร์เชนร้านอาหาร สตรีทฟู้ด ร้านค้าอื่นๆ จัดโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม ขณะที่เบื้องหลังกลุ่มทุนไทยก็ชิงไหวชิงพริบ มองโอกาสเติบโตที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดาหน้าเข้าไปร่วมทุน ถือหุ้น บรรดาแอพพลิเคชั่นเดลิเวอรี่ที่เป็นทุนต่างชาติ

การที่ทุนไทยเดินหน้าร่วมแจมวงการผู้ให้บริการเดลิเวอรี่นี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เริ่มเห็นมาสักพักแล้ว เพียงแต่อาจจะไม่ค่อยได้เห็นแง่มุมเบื้องหลังนี้กันสักเท่าไรนักนั้น ก็เพราะว่าธุรกิจเดลิเวอรี่นี้มีมูลค่ามหาศาล เคยมีการประมาณการว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมาธุรกิจนี้มีมูลค่าสูงถึง 3.5 หมื่นล้านบาท แน่นอนว่าความเนื้อหอมนี้ ก็ต้องเป็นที่หมายตาของเหล่านักลงทุน

158773117114

  • 3 ทุนไทยจับโอกาสร่วมทุน GRAB

หากพูดถึงธุรกิจประเภทนี้ ชื่อแรกที่แว่บขึ้นมาในหัว คงหนีไม่พ้น “GRAB FOOD”  หนึ่งในเซ็กเตอร์ธุรกิจของซูเปอร์แอพ (Super App - แอพพลิเคชั่นที่ครอบคลุมทุกบริการ) อย่าง GRAB ที่วันนี้ทะยานขึ้นไปอยู่ระดับยูนิคอร์นแล้ว ที่ผ่านมาก็มีการเปิดระดมทุนมาหลายครั้ง และก็สามารถดึงดูดเหล่าทุนต่างชาติได้จำนวนมาก ซึ่งในรอบซีรีส์เอช แกร็บระดมทุนไปได้ถึง 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ที่ผ่านมาก็มีทุนจากประเทศไทยร่วมด้วย หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มเซ็นทรัล (Central Group) ผู้นำในวงการค้าปลีกของไทย ที่ทุ่มเม็ดเงินกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 6,000 ล้านบาท เข้าไปถือหุ้น ในสัดส่วนที่มีนัยยะสำคัญแบบไม่มีอำนาจควบคุม

การลงเงินครั้งนั้น ผู้บริหาร บจ.กลุ่มเซ็นทรัล ได้ออกมาพูดถึงแนวทางไว้ว่า จะเป็นไป 3 ด้าน ทั้งบริการส่งอาหารจากร้านและแบรนด์ในเครือเซ็นทรัลผ่านบริการแกร็บฟู้ด เพื่อขยายฐานลูกค้า และเพิ่มเมนูให้มีความหลากลายขึ้น รวมถึงบริการโลจิสติกส์ เช่น การส่งพัสดุออนดีมานด์ หรือส่งพัสดุด่วนสำหรับธุรกิจในเครือเซ็นทรัลและพาร์ทเนอร์ ผ่านแกร็บเอ็กซ์เพรส สุดท้ายคือบริการเดินทางสำหรับลูกค้า แขกที่เข้าพัก และนักท่องเที่ยวในศูนย์การค้าและโรงแรมในเครือ

นั่นหมายความว่า การร่วมเป็นพันธมิตรกันในครั้งนี้ จะช่วยเสริมศักยภาพของเซ็นทรัลให้มากขึ้น ที่จะทำให้การทรานฟอร์มค้าปลีกแบบดั้งเดิมสู่ออนไลน์ได้เร็วขึ้นอย่างแน่นอน และเปลี่ยนธุรกิจไปเป็น New Experience Economy ได้เร็วขึ้น

158773111666

ขณะที่ฝั่งกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของไทย “KBANK” หรือธนาคารกสิกรไทย ก็ร่วมลงทุนในยักษ์ใหญ่แพลตฟอร์ม O2O (Offline-to-Online หรือผู้ให้บริการด้านออฟไลน์สู่ออนไลน์นี้กว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทอล จำกัด ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ลงทุนกับบริษัทต่างชาติ และเป็นการลงทุนนอกประเทศไทย

หากถามว่า KBANK เข้าไปทำอะไรในธุรกิจเดลิเวอรี่? ผู้บริหารธนาคารกสิกรไทยชี้แจงว่า เป็นการร่วมพัฒนาแอพพลิเคชั่นชำระเงินบนสมาร์ทโฟน และการบริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็น GrabPay by KBank ตอบโจทย์ลูกค้าแกร็บที่จะชำระเงินค่าเดินทาง ส่งของ หรือโอนเงินให้คนอื่นในการซื้อสินค้าและบริการ ยังรวมถึงการจ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ดร้านค้าต่างๆ ทั่วประเทศ

อีกสิ่งที่น่าจับตาคือ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ของทั้งแกร็บและเคแบงก์ให้กับกลุ่มลูกค้าของตัวเอง เช่น เสนอสินเชื่อเคแบงก์ให้คนขับแกร็บ ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เสนอบริการ Grab for Business ให้ลูกค้า SMEs ของเคแบงก์ หรือการพัฒนาแอพพ์ให้สามารถใช้บริการตลอดวงจรได้อย่างราบรื่นขึ้น ฯลฯ

โดยอนาคตอันใกล้ที่เราจะเห็นก็คือ ดิจิทัล อีโคโนมี จะผงาดขึ้นมา ไม่เพียงแค่ภายในประเทศไทย แต่เคแบงก์ตั้งเป้าไปถึงกลุ่มอาเซียน+3 หรือ 10 ประเทศอาเซียน บวกกับอีก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งการณ์ไกลที่ KBANK มองไปนั้น ทำให้เราคาดการณ์ไลฟ์สไตล์ของคนในอนาคตที่จะนิยมใช้ดิจิทัลแบงกิ้งมากขึ้น และคงจะหลีกหนีเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันไปไม่ได้อย่างแน่นอน

158773143694

ด้านธุรกิจธนาคารที่เข้าร่วมทุนกับแกร็บยังมีอีกหนึ่งแห่ง นั่นคือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ลงทุนผ่านบริษัทลูก กรุงศรี ฟินโนเวต แม้จะไม่ได้ระบุถึงเม็ดเงิน แต่หากย้อนไทม์ไลน์กลับไป จะเห็นว่าบริษัทแม่ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา อย่างมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป” (MUFG) ประเทศญี่ปุ่น ได้ทุ่มเม็ดเงินร่วมทุนไปแล้วมากกว่า 700 ล้านเหรียฐสหรัฐ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศทางธุรกิจของแกร็บ

ยกตัวอย่าง เช่น Grab และกรุงศรีฯ จะใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) พัฒนารูปแบบจำลองคะแนนเครดิต (Credit Scoring Models) และส่งมอบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ด้านสินเชื่อนี้ ให้แก่ผู้บริโภคที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินในประเทศไทย เป็นต้น

ยิ่งตอกย้ำความน่าสนใจขึ้นไปอีกว่าทำไมใครๆ ถึงเข้ามาร่วมแจมกับแกร็บ เมื่อสารจากหมิง มาประธานบริษัทแกร็บ ประกาศชัดถึงเม็ดเงินจากการระดม จะนำไปต่อยอดให้แกร็บเป็นซูเปอร์แอพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สำคัญมุ่งขยายการบริการให้ครอบคลุมขึ้นไปอีก

158773196767

  • SCB สบช่องทุ่มเงินร่วม GET

ขณะเดียวกันผู้เล่นในศึกแอพฯเดลิเวอรี่ ที่น่าจับตาอีกราย “GET” น้องใหม่ในเมืองไทยที่มาแรงมาก แอพพลิเคชั่นสัญชาติอินโดนีเชียที่มีชื่อภายในประเทศว่า “Gojek” ที่จะเปลี่ยนชื่อไปตามประเทศต่างๆ นั้น ไม่เพียงแต่บริการส่งคน (GET WIN) สินค้า (GET DELIVERY) แต่ยังรวมถึงอาหาร (GET FOOD) และบริการด้านการเงิน (GET PAY) ด้วย การเติบโตที่รวดเร็ว ทำให้ปี 2562 “SCB” หรือธนาคารไทยพาณิชย์ ตัดสินใจเข้าไปลงทุนในรอบซีรีส์ F เรียกได้ว่าการแข่งกันในสมรภูมินี้ของกลุ่มธนาคารร้อนแรงมากขึ้นไปอีก จากทั้งกับธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยาใน GRAB

แล้ว SCB เข้าไปร่วมกับ GET อย่างไรบ้างนั้น? ผู้จัดการใหญ่ของ SCB พูดถึงศัพท์ขึ้นมา 1 คำว่า สร้างระบนิเวศด้านดิจิทัลไลฟ์สไตล์ (Digital Lifestyle Ecosystem) ให้เกิดขึ้นกับกลุ่มคนขับ ร้านค้า และผู้ใช้งานแอพฯ เพื่อให้เข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงโซลูชั่นด้านการเงินอื่นๆ อย่าง GET PAY

หรือจะให้เข้าใจง่ายๆ จะตอบโจทย์คน 3 กลุ่ม ทั้งกลุ่มคนขับ เช่น สินเชื่อดิจิทัล การเปิดบัญชี การเติมเงินใน GET PAY หรือเข้าถึงกลุ่มประกันต่างๆ ขณะที่กลุ่มร้านค้าที่เข้าร่วมกับ GET นั้น ก็จะมีสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย สุดท้ายกลุ่มผู้ใช้งานแอพฯ ก็มีบริการเติมเงินเข้า GET PAY หรือการตัดบัญชีออมทรัพย์ การผูกบัตรเครดิต เพื่อใช้งานในแอพ ฯลฯ

ซึ่งถึงเวลานี้ก็ต้องยอมรับว่า GET เป็นอีกหนึ่งซูเปอร์แอพในวงการ O2O ที่ให้บริการครอบคลุมจริงๆ และน่าจับตามองอย่างมาก

158773189639

  • เอเซีย พลัส กรุ๊ป 

ปิดท้ายด้วย “LALAMOVE” แบรนด์เดลิเวอรี่ออนดีมานด์ชื่อดังที่เป็นที่คุ้นเคยของชาวกรุงเทพและปริมณฑล แม้จะเป็นสัญชาติฮ่องกง แต่ก็เข้ามาเติมโตในไทยราวๆ 5 ปีแล้ว และก็เติบโตอย่างเนื่อง ซึ่งบริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)” ซึ่งประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ของไทย ที่มี ชาลี โสภณพนิช เป็นผู้บริหาร ได้เข้ามาลงทุนถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ

การเติบโตแบบก้าวกระโดด สะท้อนได้จากปี 2561 ลาล่ามูฟ ประเทศไทย โกยเงินไปกว่า 1.2 พันล้านบาท หรือโตขึ้นจากปีก่อน 123% และจากการระดมทุนรอบล่าสุดนั้น สามารถระดมทุนไปได้อีกกว่า 300 ล้านเหรียฐสหรัฐ ซึ่งผู้ก่อตั้งลาล่ามูฟย้ำชัดว่า เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของลาล่ามูฟในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการขยายตลาดเข้าสู่อินเดียและธุรกิจใหม่ เช่น การขายรถยนต์ด้วย

ส่วน LINE MAN และ FOOD PANDA แม้จะไม่มีข่าวคราวทุนไทยเข้าไปร่วมทุน ทั้งจากการไม่เปิดระดมทุน หรือยังไม่มีทุนไทยเข้าไป แต่ก็เป็นธุรกิจที่ยังคงต้องจับตาไม่น้อย อย่างไลน์ ซูเปอร์แอพที่แตกแขนงบริการแทบจะครอบคลุมทุกมิติ อย่างไลน์แมนนั้น เป็นฟีเจอร์ที่เกิดขึ้นจากคนไทย ที่เข้าใจและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์คนไทยโดยเฉพาะ ขณะที่ทางฟู้ดแพนด้าก็เดิมเกมรบเต็มสตรีมเช่นกัน

ที่มาgrabgrab(2)bangkokbiznews, bangkokbiznews(2)bangkokbiznews(3)brandinside.asiabrandbuffetthansettakij,

forbesthailand