ชาติกำลังพัฒนา บอบช้ำสุด 'โควิด' ระบาด
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไอเอ็มเอฟระบุว่า มีความเสี่ยงสูงมากที่บรรดานักลงทุนต่างชาติจะถอนการลงทุนออกจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
ส่วนโภคภัณฑ์อื่นก็ปรับตัวลงเช่นกัน อย่างเช่น "ทองแดง" ที่มีราคาถูกลงประมาณ 18% เมื่อเทียบกับช่วงกลางเดือนม.ค. เช่นเดียวกับ "ราคาแร่สังกะสี" ที่ร่วงลงกว่า 20% ซึ่งการร่วงลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดังที่กล่าวมาทุบธุรกิจและฉุดรายได้ของรัฐบาลในประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้เป็นหลัก
ประเทศกำลังพัฒนาต้องรับมือกับปัญหานักลงทุนต่างชาติถอนเงินทุนออกด้วย โดย กิตา โกปินาธ หัวหน้านักเศรษฐศษสตร์ของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า มีความเสี่ยงสูงมากที่บรรดานักลงทุนต่างชาติจะถอนการลงทุนออกจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งหมายความว่า นักลงทุนต่างชาติเหล่านี้ มีแนวโน้มสูงที่จะขายพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นในตลาดเกิดใหม่ และถอนเงินลงทุนออกไปไว้ยังที่ๆ พวกเขามองว่ามีความปลอดภัยมากกว่า อาทิเช่น ในสหรัฐ ยุโรป หรือ ญี่ปุ่น
ขณะที่เงินแรนด์ ของแอฟริกาใต้ เป็นหนึ่งในสกุลเงินของประเทศกำลังพัฒนาที่ร่วงลงอย่างหนัก เพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ด้าน พญ.มัตชิดิโซ โมเอติ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ประจำทวีปแอฟริกากล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วชาวแอฟริกันส่วนใหญ่ไม่ได้เดินทางออกต่างประเทศมากนัก อาจจะด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นหลักแต่เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดเข้าสู่ทวีปแอฟริกามานานระยะหนึ่งแล้ว และแพร่ระบาดในพื้นที่อย่างรวดเร็ว เนื่องจากระบบสาธารณสุขในทวีปที่ส่วนใหญ่ยังต่ำกว่ามาตรฐาน จึงมีความเสี่ยงสูงมากที่ทวีปแอฟริกาจะกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่
บล็อกเกอร์ 2 คน ของ กลุ่มนักคิด "บลูเกล" ในบรัสเซลส์ ซึ่งได้แก่ มาเร็ก ดอมโบรว์สกิ และมาร์ทา โดมินเกวซ-จิเมเนซ กำหนดตัวเลขที่เป็นตัวบ่งชี้ทางการเงินซึ่งแสดงให้เห็นว่าขณะนี้ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศมีฐานะการเงินการคลังที่ตึงเครียดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นักคิดทั้ง 2 คน แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นตัวชี้วัดต้นทุนการกู้ยืมในตลาดการเงิน ในสหรัฐและในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายๆ กรณี สิ่งเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า บรรดานักลงทุนเชื่อว่ามีความเสี่ยงจากการกู้ยืมเพิ่มขึ้น ครอบคลุมถึงรัฐบาลประเทศต่างๆ การผิดนัดชำระหนี้ จากนั้นก็มีปัญหาการดิ่งลงอย่างมากของสกุลเงินท้องถิ่นในหลายประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอีกสัญญาณที่บ่งชี้ว่าบรรดานักลงทุนต้องการถอนเงินลงทุนออกไปจากประเทศนั้น
อีกประเด็นคือ หนี้ต่างประเทศ การอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่นทำให้การจ่ายคืนหนี้สินมีราคาแพงขึ้นหรือแม้แต่การจ่ายดอกเบี้ย ก็ต้องจ่ายมากขึ้น ซึ่งในช่วงเวลานี้ การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายถูกกดดันอย่างหนักให้จัดสรรงบประมาณเพื่อรับมือวิกฤติสาธารณสุขและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ก่อน ทำให้การจ่ายหนี้กลายเป็นปัญหาซีเรียสในช่วงที่ทุกประเทศกำลังพัฒนามีทรัพยากรอย่างจำกัด
เมื่อวันที่ 14 เม.ย. “คริสตาลินา จอร์จีวา” ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ ประกาศยกเว้นการชำระหนี้ให้ประเทศสมาชิกที่ยากจน เป็นเวลา 6 เดือน โดยให้มีผลในทันที เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศเหล่านี้ นำเงินทุนไปใช้ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แทนที่จะนำมาใช้หนี้กับไอเอ็มเอฟ และเป็นการดำเนินการภายใต้การดำเนินงานของทรัสต์เพื่อการบรรเทาและควบคุมวินาศภัย (ซีซีอาร์ที) ซึ่งซีซีอาร์ที สามารถระดมทุนได้ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้เป็นเงินบริจาคของอังกฤษ 185 ล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่น 100 ล้านดอลลาร์ จีน ไม่ระบุจำนวน เนเธอร์แลนด์ รวมถึงอีกหลายประเทศ โดยตั้งเป้าระดมทุนให้ได้ถึง 1,400 ล้านดอลลาร์
จอร์จีวา เผยว่า ในขั้นแรกจะยกเว้นการชำระหนี้ให้กับ 25 ประเทศ เป็นเวลา 6 เดือน และอาจมีการขยายออกไปนานสุดถึง 2 ปี