'ฝ่ายค้าน' และ 'รัฐบาล' งัดเปิดสภาวิสามัญ เผยเสี่ยงส.ส. 500 คนรวมตัว
"6 พรรค" ยื่นนายกฯและประธานสภา ขอเปิดวิสามัญสัปดาห์หน้า ด้านประธานวิปรัฐบาลขวาง อ้างความเสี่ยงส.ส. 500 คนรวมตัว
ปธ.วิปรัฐบาลเบรกหวั่นส.ส.เสี่ยง
ทางด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ชี้แจงเรื่องนี้ว่า วันนี้เห็นใจนายกฯ ที่กำลังแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 จึงผลีผลามไม่ได้ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อที่กำลังลดลงอาจเพิ่มสูงขึ้นเหมือนบางประเทศได้ อยากให้รอสถานการณ์ของเราสะเด็ดน้ำมากขึ้นกว่านี้ก่อน หรืออาจจะรอพิจารณากันในสภาฯ สมัยสามัญที่จะประชุมนัดแรกวันที่ 22 พ.ค.นี้ ทั้งนี้แกนนำฝ่ายค้านหลายคน ได้พูดคุยกับตนแล้ว จะทำเรื่องเสนอถึงรัฐบาล ซึ่งสามารถดำเนินการได้เลย
“ถ้าเปิดสภาสมัยวิสามัญในช่วงนี้ แล้วส.ส.เข้ามาจนทำให้มีการแพร่เชื้อไปทั่วประเทศ ใครจะรับผิดชอบ ผมจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้เปิดในช่วงนี้ แต่เพื่อความรอบคอบ ผมจะหารือกับแกนนำวิปรัฐบาลคนอื่นๆ นอกรอบก่อน คาดว่าสัปดาห์หน้าจะได้ความชัดเจนระดับหนึ่ง” นายวิรัช กล่าว
สภาฯหั่นงบสัมมนา-ดูงาน 336ล้าน
ขณะที่นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณคืนให้รัฐบาลใช้แก้ปัญหาโควิด-19 ว่า ส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ตัดงบ 336 ล้านบาท ส่งคืนให้กับสำนักงบประมาณแล้ว อาทิ งบการฝึกอบรมและจัดสัมมนาต่างๆ งบการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของกรรมาธิการ(กมธ.) 35 คณะๆ ละ 4.8 ล้านบาท และเบี้ยประชุม กมธ.ทุกคณะ เนื่องจากงบเหล่านี้ ไม่สามารถดำเนินการได้ในเวลานี้ เพราะไม่มีการจัดฝึกอบรมและไม่มีการประชุม กมธ.คณะต่างๆ
ส่วนเรื่องการเตรียมพร้อมเปิดสภาฯ ในสัปดาห์หน้าจะทดสอบความพร้อมการใช้ห้องประชุมสุริยันในครั้งที่ 3 เพื่อให้มีความพร้อมใช้งานได้ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.
ส่วนการคัดกรองบุคคลเข้าพื้นที่ต้องคุมเข้ม เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งช่วงการเปิดประชุมสภาฯ หากพบว่าใครมีไข้สูง เข้ามาในบริเวณสภาฯ จะส่งต่อไปให้กับสถาบันบำราศนราดูรวินิจฉัยต่อทันที
หมอเลี๊ยบยกเหตุผลเปิดเมือง
วันเดียวกันนี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โพสต์ผ่านเฟชบุ๊คหัวข้อ “ปิดเมือง คือ ”ยาแรง“..ถึงเวลาหยุดให้ยา :1 พฤษภาคม ได้เวลาเปิดเมือง และว่าด้วยปฏิญญาสำคัญของแพทย์ First, Do No Harm ! ” โดยระบุเหตุผล 12 ประเด็น ที่ควรเปิดเมืองในวันที่ 1 พ.ค. พร้อมทั้งคำถามถึงการปิดเมืองมา 31 วัน ที่เปรียบเหมือนการใช้ “ยาแรง” หรือ “ยาอันตราย” แม้จะมีผลดีในการจำกัดการระบาดให้น้อยลง แต่มีข้อเสียคือ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงทุกหย่อมหญ้า
โดยระบุว่าการ“เปิดเมือง” เกิดขึ้นได้ ถ้าความรับรู้ของประชาชนในการป้องกันโรคเป็นไปอย่างกว้างขวาง ขอเพียง 80% ก็เพียงพอแล้ว พร้อมทั้งยกข้อมูลใน ศบค.มาแจกแจง ก่อนจะระบุในตอนท้ายว่า
จากข้อมูลเราพร้อม “เปิดเมือง” อย่างมีขั้นตอนและปลอดภัยตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข “ยิ่งกว่าพร้อม”