'ตรวจสอบสถานะ' ความกดดันของความหวัง และคนนอกวง 'เราไม่ทิ้งกัน'
นอกจากการ "ตรวจสอบสถานะ" ที่กลายเป็นทั้งความหวัง และแรงกดดันของคนลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่ถูก ผลักออกไปอยู่นอกวง "เราไม่ทิ้งกัน"
นับตั้งแต่หลังจากที่มาตรการรับเงินเยียวยา 5,000 บาท เราไม่ทิ้งกัน ปิดลงทะเบียน ความสนใจของผู้คนต่างมุ่งไปที่การ ตรวจสอบสถานะ เสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะยอดรวมผู้ลงทะเบียนกว่า 28.8 ล้านรายชื่อที่อยู่ในระบบคัดกรองเพื่อตรวจสอบการจ่ายเงินเยียวยานั้น จะมีทั้งขั้นตอน ตรวจสอบสถานะ, ยื่นทบทวนสิทธิ์, ยกเลิกการลงทะเบียน, เปลี่ยนแปลงข้อมูลการรับเงิน และให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยแต่ละเมนูสงวนไว้สำหรับผู้ที่ระบบแจ้งความคืบหน้าของแต่ละสถานะเท่านั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การตรวจสอบสถานะ การลงทะเบียนรับเงินเยียวยากลายเป็นหัวข้อทีมีการค้นหามากที่สุดหัวข้อหนึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ลงทะเบียนหลายคนต่างติดขัดในขั้นตอนการพิจารณาของระบบคัดกรองที่แตกต่างกันไป
อย่างผู้ลงทะเบียนรายหนึ่ง ทำงานเป็นมัคคุเทศน์อยู่ที่ อ.หาดใหญ่ นำเที่ยวชาวจีน และมาเลเซียมาราว 7-8 ปี เมื่อได้รับผลกระทบจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่หายไปทำให้รายได้ของเขาก็หายไปด้วย เจ้าตัวจึงมาลงทะเบียนรับเงินเยียวยา แต่ปรากฏว่า ระบบกลับคัดตัวเขาออก พร้อมให้เหตุผลว่า เพราะเป็นเจ้าของธุรกิจ ทำให้เขาต้องยื่นทบทวนสิทธิ ก่อนจะได้รับเงินเยียวยาก้อนแรกในรุ่งเช้าของวันที่ 24 เมษายน 2563
หรือ สถานะที่ขึ้นแจ้งข้อความว่า "อยู่ระหว่างตรวจสอบวิธี/ข้อมูลการรับเงิน ที่ท่านแก้ไข" ก็กลายเป็นปัญหาคาใจของผู้ลงทะเบียนฯ หลายๆ คนที่ยังสงสัยว่า ตนเองจะยังมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ และถ้าหากมีสิทธิ์ เงินเยียวยาก้อนแรกนั้นจะเข้าบัญชีเมื่อไหร่ พวกเขาจะถูก เราไม่ทิ้งกัน ทอดทิ้งหรือไม่
ยิ่งไปกว่านั้น รายงานการตรวจสอบสถานะว่า โอนเงินสำเร็จ แล้ว แต่เงินไม่เข้าบัญชี เนื่องจากเหตุสุดวิสัยต่างๆ ก็กลายเป็นอีกปมปัญหาทั้งตัวผู้ลงทะเบียนเอง ไม่รู้จะหันหน้าพึ่งใคร หรือแม้กระทั่งตัวเจ้าหน้าที่เองก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนเหมือนกัน ทำให้สิทธิที่อยู่ในมือกลายเป็นความเดือดร้อนไปอีกทางหนึ่งโดยปริยาย หรือบานปลายกลายเป็นโศกนาฏกรรมอย่างที่ปรากฎในข่าวตลอดเวลาที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มที่ถูก เราไม่ทิ้งกัน คัดออกตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มก้าวขาเข้าไปหา อย่าง กลุ่มผู้พิการ ที่ปรากฎในรายงานข่าวว่ามีกลุ่มผู้พิการประเภทต่างๆ รวมตัวกันกว่า 50 คนเข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลังให้พิจารณากลุ่ม ผู้พิการ ให้ได้เข้าถึงมาตรการดังกล่าวได้ อาทิ กลุ่มคนพิการผู้ค้าสลากที่ค้าสลากจริงแต่ไม่มีรายชื่ออยู่ในระบบโควตาของรัฐบาล
หรือกลุ่มหมอนวดพิการที่มีชื่ออยู่ในมาตรา 33 ของกฎหมายว่าตัวยการประกันสังคม แต่ปัจจุบันไม่สามารถประกอบอาชีพนวดได้แล้ว ไปจนถึงครอบครัวและผู้ดูแลคนพิการที่ต้องดูแลด็กพิการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีแต่ไม่เข้าเกณฑ์การเยียวยา เป็นต้น
อีกทั้งมาตรการระยะที่ 3 และพระราชกำหนด กลับไม่ปรากฏถึงคนพิการแม้แต่ตัวอักษรเดียว และไม่มีถ้อยคำใดที่ทำให้เชื่อได้ว่า คนพิการสามารถจะเข้าถึงมาตรการเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน ได้ โดยเสนอให้ รัฐบาลปรับปรุงมาตรการฯ ระยะที่ 2 สร้างหลักประกันให้คนพิการสามารถเข้าถึงมาตรการดังกล่าว และมาตรการอื่นๆ ได้เหมือนคนทั่วไป
สำหรับความคืบหน้าของมาตรการรับเงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน นั้น กระทรวงการคลังระบุว่า ได้จ่ายเงินเยียวยาไปแล้วประมาณ 4.9 ล้านราย ในระยะถัดไปจะเริ่มจ่ายในจำนวนที่มากขึ้น หรือราว 7 แสนคนต่อวัน โดยในวันที่ 27-28 เมษายน 2563 จะจ่ายรวม 1.5 ล้านราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จากกลุ่มที่ขอข้อมูลเพิ่มเติม และกลุ่มที่ขอทบทวนสิทธิ์
ส่วนในระยะต่อไปนั้น จะเพิ่มช่องทางการสละสิทธิ์รับเงินเยียวยา ซึ่งเป็นปุ่มสีชมพูเข้าไปใน www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มที่ต้องการขอคืนเงินเยียวยาได้เข้ามาสละสิทธิ์ได้อีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัฐบาลจะยืนยันถึงความโปร่งใสของระบบคัดกรอง และคำอธิบายในข้อสงสัยของประชาชนเกี่ยวกับการ ตรวจสอบสถานะ รับเงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน มาโดยตลอด แต่สิ่งที่ดูจะเป็นช่องว่างของเรื่องนี้กลับกลายเป็นความชัดเจนของข้อมูล และวิธีปฏิบัติที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้คนที่ลงทะเบียน หรือกลุ่มคนที่รอตรวจสอบสถานะ/ข้อมูล
ถึงจะเข้าใจว่า รัฐมีระบบคัดกรองตามรอบ และปัจจัยแวดล้อมของข้อมูลทำให้ผู้ลงทะเบียนได้รับเงินเยียวยาในระยะเวลาที่แตกต่างกัน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ในมุมของผู้ได้รับผลกระทบ ความเดือดร้อน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายรายวันที่เราพวกเขาอยู่นั้น เป็นเรื่องที่รอไม่ได้