‘2 เหตุผล’ ที่วิกฤติโควิดไม่ซ้ำรอย The Great Depression
เปิด 2 เหตุผล ว่าทำไมวิกฤติโควิดครั้งนี้จะไม่ซ้ำรอยกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทั้งวิกฤติซับไพรม์และวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พยากรณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัวลง 3% ซึ่งเป็นตัวเลขการหดตัวของเศรษฐกิจโลกที่มากกว่าช่วงวิกฤติการเงินโลก ในปี ค.ศ.2008-2009 การคาดการณ์ของการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจ ทำให้เกิดภาวะของการหดหู่ต่อนักธุรกิจ รวมทั้งผู้คนทั่วไปที่พื้นฐานการดำรงชีพขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ
นักวิเคราะห์หลายรายเทียบเหตุการณ์ครั้งนี้กับวิกฤติใหญ่ของเศรษฐกิจโลกที่เคยเกิดเมื่อปี 1930 ที่เรียกว่า The Great Depression หรือวิกฤติต้มยำกุ้งในไทยเมื่อปี พ.ศ.2543 (ค.ศ. 1997) หรือวิกฤติการเงินโลกที่เริ่มในอเมริกา เมื่อปี ค.ศ.2009 และบอกว่าครั้งนี้เป็นวิกฤติที่รุนแรงมาก เมื่อเทียบกับวิกฤติใหญ่ๆ นั้น
การวิเคราะห์เทียบเคียงนี้ก็ทำให้เราพลอยหดหู่และท้อแท้กับวิกฤติครั้งนี้ตามไปด้วย หลายคนมองไม่เห็นทางออกว่าจะทำอย่างไรต่อไป มองไปทางไหน ก็สิ้นหวัง ยิ่งได้ยินบางสำนักที่วิเคราะห์ว่ากว่าจะฟื้นอีกหลายปียิ่งทำให้หมดหวังเข้าไปอีก เมื่อดำรงชีวิตในความท้อ สติ และเหตุผลก็ดูจะน้อยลง คำถามที่ได้ยินตลอดเวลาคือ “หลังจากนี้” จะเป็นอย่างไร ในบทความนี้ผมจึงชวนตั้งสติ แล้วมองไปที่เหตุการณ์ที่กำลังกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ของโลกครั้งนี้
ถ้าเทียบจากความรุนแรงของวิกฤติครั้งนี้กับวิกฤติที่ผ่านข้อมูลต่างๆ นี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤติครั้งนี้รุนแรงมากที่สุด เพราะเป็นการเกิดพร้อมๆ กันไปทั้งโลกอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าถามด้วยคำถามว่าวิกฤตินี้จะเหมือนกันกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่สร้างความเสียหาย ร้ายแรง ยาวนาน ต่อไปอีกไหม คำตอบคือ “คล้ายแต่ไม่เหมือน” มีเหตุผลบางประการที่ผมเชื่อว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นเฉียบพลันครั้งนี้จะไม่ได้กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่เหมือน The Great Depression วิกฤติซับไพรม์ หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง คือ
1.ต้นตอของวิกฤติครั้งนี้มีจุดเริ่มที่วิกฤติทางด้านสุขอนามัย ซึ่งลุกลามกลายเป็นวิกฤติของชีวิตและทำให้คนล้มตายกันมาก แต่วิกฤติการเงินที่เคยสร้างความเสียหายครั้งก่อนหน้าล้วนมาจากสถาบันการเงิน
คู่มือการวิเคราะห์วิกฤติการเงินบอกว่า เมื่อใดก็ตามที่ความเสียหายไปถึงระบบของสถาบันการเงิน ขอให้เตรียมรับวิกฤติได้เลย หันมามองในปัจจุบัน เรายังคงเห็นสถาบันการเงินมีศักยภาพในการรับมือ เพราะมีการสำรองทุนเผื่อหนี้สูญไว้สูงพอควร
วิกฤติครั้งก่อนที่เกิดขึ้นล้วนมีชนวนจากสถาบันการเงิน ระบบการเงินนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมั่น และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมากับวิกฤติความเชื่อมั่นปัญหาของ Bank Run (มาจากการที่ผู้ฝากเงินกับธนาคารเกิดความไม่เชื่อมั่นกับธนาคาร จึงแห่ไปถอนเงินกับธนาคารทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่องและนำไปสู่ปัญหาการล้มละลายได้ ชื่อของ Bank Run มาจากการขาดของถุงน่องที่สุภาพสตรีใช้ ที่เมื่อเกิดการขาดไปเส้นหนึ่งจะสาวต่อไป จนทำให้ถุงน่องเสียหายได้) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้สถาบันการเงินในระบบที่มีอยู่ ประสบปัญหาได้ในเวลารวดเร็ว
ระบบการธนาคาร (Banking) ทำหน้าที่เป็นเหมือนเส้นเลือดที่พาเลือดไปเลี้ยงในร่างกายของคน เมื่อระบบเลือดเสียหาย สิ่งที่ตามมาคือ ความสูญเสียต่ออวัยวะอื่นด้วย ในวิกฤติครั้งนี้ธนาคารยังมีเงินฝากอยู่มาก ทุนสำรองไม่ได้เหลือน้อยมากเหมือนคราวต้มยำกุ้ง ฐานะการเงินของแต่ละประเทศไม่ได้บอบช้ำเหมือนคราววิกฤติใหญ่ 1930 ที่ทุกประเทศต้องใช้เงินหมดไปกับสงครามโลก การมีทุนสำรองใช้ในการฉุกเฉิน ทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ดีระดับหนึ่ง
ประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังต่อไป ถ้าการระบาดของโรคยังไม่ยุติคือ ปัญหาหนี้เสียที่ของธนาคารต่างที่จะสูงขึ้น
2.การมองว่าหลังจากนี้จะเป็นเหมือนวิกฤติใหญ่ของโลก (The Great Depression) ที่มีภาพคนเข้าคิวกันยาวเหยียด ขอข้าว ขออาหาร ขอที่พักจากรัฐบาลในหลายๆ ประเทศนั้น ดูเป็นการมองข้ามประเด็นสำคัญไปเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ความรู้ของการจัดการวิกฤติได้รับพัฒนาให้ใช้ได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต
องค์กรการเงิน เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศผ่านการเรียนรู้ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์มาแล้วหลายครั้ง ตอนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจไปทั่วโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รู้จักแต่ยาสำคัญสูตรเดียวคือ ลดการใช้จ่าย ลดขนาด รัดเข็มขัด แปรรูป หรือปิดสถาบันการเงินที่อ่อนแอ ผลก็คือความอ่อนแอทั้งทางด้านกำลังซื้อ และกำลังการผลิตที่เป็นอัมพาตไปอย่างน้อยสองถึงสามปี คนในยุคนั้นเรียกว่าเป็นยาแรง IMF เองเริ่มมองเห็นว่าการแก้ปัญหา ด้วยการลดเปลี่ยนและปิด ทำให้เศรษฐกิจถอยหลังไปไกลกว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้
ข้อมูล ณ วันที่ 16 เมษายน ไทยเราใช้เงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจประมาณ 9% ของ GDP มองไปรอบๆ ก็เห็นนโยบาย Helicopter Money แทบทุกประเทศ มากบ้าง น้อยบ้าง ตามกำลังของแต่ละประเทศ นโยบายเช่นนี้นอกจากจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของคนในประเทศแล้ว ยังทำเป็นการสงวนกำลังซื้อ หรืออุปสงค์ไว้
ในขณะที่ภาคการผลิตที่เป็น Supply ก็จะยังมีความสามารถในการกลับมาผลิตได้ โดยมีรูปแบบและวิธีการที่อาจแตกต่างไปจากเดิมบ้าง ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าความตกต่ำของเศรษฐกิจนั้นรุนแรงแน่ แต่การกลับมาเดินต่อได้ก็ไม่เป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย
ถึงแม้การระบาดของโรค Covid-19 จะยังไม่ลดลงจนเป็นศูนย์ในช่วงเวลาอันใกล้นี้ โลกในทางเศรษฐกิจจะต้องกลับมาเดินหน้าต่อไปด้วย new normal บางอย่าง การเชื่อมต่อของอุตสาหกรรมจะเป็นเหมือนการเสียบปลั๊ก Global Supply Chain ที่ถูกถอดออกไป ให้กลับมาเดินหน้าต่อไป ข้อมูลต่างๆ ข้างต้น อาจเป็นคำตอบที่มีสติต่อวิกฤติครั้งนี้และทำให้เราไม่หดหู่จนท้อแท้กับวิกฤติครั้งนี้