พิษโควิด-19 'สศอ.' หั่นเป้า จีดีพี อุตฯติดลบ6.5%
สศอ. เผย ผลกระทบโควิด-19 – ภัยแล้ง กดดัชนี MPI มี.ค. หดตัว 11.25% ฉุดยอดขายสินค้าอุตฯทั้งปีร่วง ประกาศปรับเป้าดัชนี MPI ปี 2563 หดตัว 6-7% จีดีพีอุตฯ หดตัว 5.5-6.5%
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมี.ค. 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.25% โดยได้รับผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและภัยแล้ง ส่งผลให้ดัชนี MPI ไตรมาสแรกปี 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.63%
อย่างไรก็ตามการจำหน่ายมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 3.49% โดยผู้ประกอบการในบางอุตสาหกรรม เช่น อาหารแปรรูป ได้ปรับเพิ่มการผลิตสินค้าให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19 และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
นอกจากนี้ จากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วนทั้งการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกโดยรวม ทำให้ สศอ. ปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ จากเดิมในช่วงเดือนม.ค. 2563 ได้ตั้งเป้าว่าในปีนี้ ดัชนี MPI จะขยายตัว 2-3% โดยล่าสุดปรับเป้าหมายเป็น ติดลบ 6-7% และจีดีพีอุตสาหกรรมเดิมตั้งเป้าจะขยายตัว 1.5-2.5% ปรับเป็นลดลง 5.5-6.5%
ส่วน ดัชนี MPI เดือนมี.ค. ที่ผ่านมา ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากเดือนก.พ.ที่ผ่านมา 1.87% อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ 67.22% ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2562 อยู่ที่ 5.22% โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา
ได้แก่ 1. อุตสาหกรรม Hard disk drive ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.18% เนื่องจากมีคำสั่งผลิตและส่งมอบเพิ่มขึ้นหลังห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ในประเทศจีนมีปัญหา และการปิดฐานการผลิตที่ประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ก่อนหน้านี้ และความต้องการเพิ่มขึ้นหลังทั่วโลกใช้นโยบาย work from home
2. เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.25% ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย เนื่องจากประเทศคู่แข่งขาดชิ้นส่วนในการผลิต 3. การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก ขยายตัว 8.22% เร่งการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ
4. เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัว8.70% จากผลิตภัณฑ์ยาเม็ด ยาแคปซูล และยาครีม โดยยาเม็ดและยาแคปซูลได้ผลิตตามคำสั่งขององค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด (ยารักษาตามอาการและยาฆ่าเชื้อ) ให้ผลิตเก็บเป็นสต็อกอย่างน้อย 3 เดือน รวมถึงยารักษาโรคความดัน เบาหวานและลดไขมันตามคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาลที่เปลี่ยนจำนวนการให้ยาผู้ป่วยตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และ5. อาหารทะเลแช่แข็ง ขยายตัว9.75% จากผลิตภัณฑ์จากปลาแช่แข็งและเนื้อปลาบด ตามความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19
“อุตสาหกรรมอาหารเกือบทุกประเภทมีการผลิตเพิ่มขึ้นยกเว้นอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย จากความต้องการอาหารจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอาหารพร้อมทาน ทำให้การส่งออกอาหารกลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรกในรอบ 8 เดือน โดยการส่งออกอาหารเดือนมี.ค. ขยายตัว 0.8%”
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังมองว่า เศรษฐกิจในประเทศเริ่มชัดเจนว่าจะกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการควบคุมโรคระบาดโควิด 19 ได้ค่อนข้างดี แต่ยังต้องประเมินเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังไม่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ ซึ่งอาจจะยืดเยื้อไปถึงสิ้นปี จึงต้องรอประเมินสถานการณ์ของต่างประเทศอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าใน 2-3 เดือนข้างหน้าจะชัดเจน ทั้งนี้การผลิตของไทยมีการจำหน่ายในประเทศ 50% และส่งออกประมาณ 50%