อินโดนีเซียฮิต ‘อาบแดด’ เสริมภูมิคุ้มกันสกัดไวรัส (ที่ไม่ใช่โควิด)
การอาบแดดในอินโดนีเซียที่ส่วนมากมีแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติบนเกาะบาหลีนิยมทำ ตอนนี้กลายเป็นว่าชาวอินโดนีเซียต่างแห่กันมาอาบแดดด้วย หลังจากมีข้อมูลแพร่สะพัดบนโซเชียลว่าแสงแดดที่กระตุ้นให้ร่างกายผลิตวิตามินดี ช่วยชะลอหรือฆ่าเชื้อไวรัสได้
ภาพทหารถอดเสื้อหรือวัยรุ่นอาบแดดบนทางเดินในบ้านพบเห็นได้ทั่วไปช่วงนี้ เป็นผลจากสัปดาห์ก่อนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐรายหนึ่งกล่าวถึงงานวิจัยชุดใหม่ระบุว่า แสงแดดทำลายไวรัสได้อย่างรวดเร็ว งานวิจัยนี้ยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการอิสระ แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำมาพูดถึงอย่างมีความหวังระหว่างแถลงข่าว
“เมื่อก่อนฉันมักจะหลบแดดเพราะไม่อยากตัวดำ แต่ตอนนี้คิดว่าแสงแดดทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของฉันดียิ่งขึ้น” เทเรเซีย ริกเก แอสเตรีย แม่บ้านวัย 27 ปีจากยอกยาการ์ตา เมืองศูนย์กลางวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย แม้แต่แพทย์ก็ยังไม่ปักใจนัก แต่กล่าวว่า การสัมผัสแสงแดดตอนเช้า 15 นาทีดีต่อสุขภาพ
“การที่ร่างกายสัมผัสแสงแดดทำให้ได้วิตามินดี ไม่เกี่ยวกับการป้องกันเชื้อโรคโดยตรง” ดิร์กา ศักติ แพทย์จากโรงพยาบาลออมนิปูโลมัสในกรุงจาการ์ตากล่าวพร้อมอธิบายว่า วิตามินดีที่ได้จากปลา ไข่ นม และสัมผัสแสงแดดสำคัญต่อการรักษาระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง “แต่การอาบแดดไม่ฆ่าไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19”
ไม่ว่าวิทยาศาสตร์จะว่าอย่างไร สิ่งหนึ่งที่จริงแท้แน่นอนคือ แสงแดดไม่มีวันหมดไปจากอินโดนีเซียประเทศเขตร้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีหมู่เกาะทอดยาวระยะทาง 5,000 กิโลเมตร แต่เมื่อคนแห่กันออกไปอาบแดด รัฐบาลจำต้องออกมาเตือนถึงอันตรายของมะเร็งผิวหนัง ขอให้คนที่ออกไปอาบแดดป้องกันผิวหนังด้วย ถือเป็นคำเตือนที่หาได้ยากในประเทศที่ผู้คนไม่นิยมอาบแดดกันอยู่แล้ว โฆษณาเครื่องสำอางก็เน้นเรื่องความขาว
ทั่วทวีปเอเชียให้คุณค่ากับผิวขาว มองว่าเป็นชนชั้นสูง ผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาวจึงขายดีมาก อีกทั้งชาวมุสลิมในอินโดนีเซียมีธรรมเนียมแต่งกายมิดชิดโดยเฉพาะผู้หญิง ชุดว่ายน้ำโชว์เนื้อหนังมังสาจึงไม่เป็นที่นิยม
แต่สำหรับริโอ ซิกริซัล ชาวกรุงจาการ์ตา การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เขาต้องเปลี่ยนความคิดหันไปถอดเสื้ออาบแดด
“ปกติผมไม่กล้าทำแบบนี้ ผิวคนเอเชียอย่างผมเจอแดดก็ดำง่าย ต้องทาครีมช่วยปรับสภาพผิวเป็นประจำ”
ด้านนาบิลลาห์ อายู ผู้ใช้ชีวิตอยู่ชานกรุงจาการ์ตา เริ่มใช้วิถีชีวิตแบบใหม่ทุกวันราว 10.00 น. แทนที่จะอยู่ในออฟฟิศเธอก็ออกมาอาบแดด ด้วยหวังจะหนีจากโรคโควิด-19 ให้ได้
“แสงแดดไม่ได้ฆ่าไวรัสตรงๆ หรอก แต่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน หยุดยั้งไม่ให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้” สาวออฟฟิศวัย 22 ปีกล่าว
สำหรับตำรวจทหารบางหน่วยให้กำลังพลถอดเสื้ออาบแดดในช่วงออกกายบริหารตอนเช้า ส่วนเมืองใหญ่ชาวบ้านหลั่งไหลออกจากชุมชนไปหาพื้นที่เปิดโล่ง เช่น ริมทางรถไฟ เพื่ออาบแดดได้เต็มที่ไม่มีอะไรมาบดบัง ทั้งผู้หญิงคลุมศีรษะดึงแขนเสื้อและขากางเกงขึ้นมาเพื่อเปิดผิวรับแดด วัยรุ่นชายไม่สวมเสื้อ หรือคนวัยเกษียณ นั่งคุยกันสนุกสนานระหว่างอาบแดด
“ฉันเพิ่งมาอาบแดดเป็นประจำตอนโควิด-19 ระบาดนี่ล่ะ ทำเสร็จก็ไปอาบน้ำ รู้สึกเลยว่าร่างกายฟิตขึ้น” อัลฟิอาน กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีในย่านตังเกอรังชานกรุงจาการ์ตา
ส่วนคนวัยเกษียณอย่างวาเดียนโต วาดิโต ที่ถูกโรคหัวใจและเบาหวานรุมเร้า ตั้งใจทำทุกอย่างที่ช่วยได้
“ผมกินยามาเยอะแล้ว ก็เลยมาอาบแดดดูบ้าง ให้ร่างกายได้วิตามินโดยไม่ต้องกินยาเพิ่ม” ชายวัย 65 ปีกล่าว
นับถึงเมื่อวานนี้ (29 เม.ย.) จำนวนผู้ป่วยโควิดในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 260 คน ทำให้ยอดสะสมทั้งประเทศ 9,771 คน เสียชีวิตเพิ่ม 11 คน ยอดรวมเสียชีวิตทั้งประเทศ 784 คน หายแล้ว 1,391 คน ประชาชนได้รับการตรวจหาเชื้อกว่า 67,700 คน
ที่สหรัฐ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (ดีเอชเอส) เผยเมื่อวันอังคาร (28 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ถึงรายละเอียดด้านเทคนิคของงานวิจัยเรื่องรังสีอัลตราไวโอเล็ตทำลายไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ ตามที่เผยผลสรุปงานวิจัยไปเมื่อสัปดาห์ก่อน
วิลเลียม ไบรอัน เจ้าหน้าที่ดีเอชเอสกล่าวว่า แค่ฉายแสงแดดใส่ไวรัสบนพื้นผิวไร้รูพรุน อุณหภูมิ 21-24 องศาเซลเซียส ความชื้น 80% เพียง 2 นาที ไวรัสหายไปครึ่งหนึี่ง จำนวนไวรัสที่ลอยอยู่ในอากาศลดลงครึ่งหนึ่งในเวลาเพียง 1.5 นาทีที่อุณหภูมิห้องและความชื้น 20%
ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับแสงยูวีที่ใช้นั้น ลอยด์ ฮัฟ นักวิทยาศาสตร์ของดีเอชเอสผู้ดูแลการทดสอบกล่าวว่า สเปกตรัมของแสงที่ใช้ถูกออกแบบมาเหมือนแสงธรรมชาติช่วงเที่ยงวันที่ระดับทะเล ณ พื้นที่ละติจูดกลาง เช่น รัฐกลางมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างเดลาแวร์ แมริแลนด์ นิวเจอร์ซีย์ในวันแรกของฤดูร้อน
โฆษกกระทรวงกล่าวด้วยว่า จะส่งผลการวิจัยให้นักวิชาการรีวิวและเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์เร็วๆ นี้