แรงงานยุคโควิด ทุกคนต้องได้ไปต่อ
การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ หลายฝ่ายประเมินถึงการจ้างงานที่ลดลงระดับ 1 ล้านคน ล่าสุดตัวเลขการแพร่ระบาดลดลงต่อเนื่อง ทำให้รัฐออกมาตรการผ่อนปรนให้กิจการบางประเภทเปิดดำเนินการ แน่นอนว่าจะทำให้ลูกจ้างกลับมามีรายได้
จำนวนผู้ติดโรคโควิด-19 รายใหม่ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง และยืนในระดับต่ำกว่า 10 คนต่อวันมาระยะหนึ่ง โดยล่าสุดวันที่ 30 เม.ย.2563 ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 7 ราย รวมยอดสะสม 2,954 รายใน 68 จังหวัด โดยไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตรวม 54 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 22 รายรวม 2,687 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 213 ราย หากแนวโน้มเป็นเช่นนี้ต่อเนื่อง ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ประเทศไทยสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้
ในขณะที่การเดินทางในประเทศยังไม่ได้ผ่อนปรน แต่ไม่ถึงกับห้าม โดยมีการขอให้จำกัดการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด ในส่วนการขึ้นเครื่องบินโดยสารนั้น ทางสายการบินจะต้องทำความสะอาดในห้องโดยสาร การเว้นระยะห่างของที่นั่ง และการไม่เสิร์ฟระหว่างทำการบิน ขณะที่กรณีการทำงานที่บ้านยังเป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่ ซึ่งได้ประกาศให้ส่วนราชการต่างๆ ยังคงปฏิบัติ ซึ่งภาคเอกชนและประชาชนจำเป็นต้องให้ความร่วมมือในการดำเนินการมาตรการต่างๆ
การที่มีผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่องทำให้ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายมองถึงการปลดล็อกส่วนต่างๆ ถึงแม้ว่าจะมีการต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่มีสัญญาณดีถึงการผ่อนคลายการเปิดให้ธุรกิจบางประเภทดำเนินการต่อได้ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐต่างยืนยันว่าเงื่อนไขสำคัญของการผ่อนคลายภาคธุรกิจจะพิจารณาประเด็นสาธารณสุขเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าจะมีการระบาดน้อยลงก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนก็ถือว่าการควบคุมการระบาดยังต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด
กลุ่มธุรกิจที่เตรียมจะผ่อนปรนก่อนนั้น ได้รับการพิจารณาร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.2563 จะผ่อนปรนให้ 6 กลุ่มกิจการและกิจกรรมกลับมาดำเนินการได้ โดยมีมาตรการรองรับการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เช่น กลุ่มตลาด ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดินและแผงลอย กลุ่มร้านจำหน่ายอาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม กลุ่มค้าปลีกส่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ลูกจ้างกลับมามีรายได้
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ ซึ่งหลายฝ่ายออกมาประเมินถึงการจ้างงานที่ลดลงในระดับ 1 ล้านคน แน่นอนว่าผู้ประกอบการย่อมได้รับผลกระทบต่อรายได้ที่ลดลง และส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอีต้องรักษากระแสเงินสดเพื่อประคองธุรกิจไว้ และส่งผลต่อเนื่องถึงแรงงานที่ได้รับผลกระทบหลายรูปแบบทั้งการเลิกจ้างหรือการลดเงินเดือน โดยท้ายที่สุดทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องช่วยเหลือกันเพื่อให้ทุกคนได้ไปต่อ