ภาพอนาคตประเทศ หลังโควิด-19
วิเคราะห์ประเทศไทยหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าจางและหายไป จะเป็นอย่างไรต่อไป ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมบนแผ่นดินเดิมนี้จะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน? และประชาชน ธุรกิจ จะดำเนินไปอย่างไร
สถานการณ์ COVID-19 เป็นวิกฤตการณ์ระดับโลกที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 18 เดือนจนกว่าจะมีวัคซีน โดยไทยเป็นประเทศที่มีการจัดการได้ดี ยังคงสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไว้ได้ แต่การบริหารจัดการสถานการณ์ ก็ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกมิติของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง
นอกจากนี้สถานการณ์ COVID-19 ยังตั้งคำถามใหญ่ถึงกระบวนทัศน์ในการพัฒนาและการใช้ชีวิตของมนุษย์ เมื่อพฤติกรรมประชาชน ผู้บริโภค และธุรกิจ ปรับเปลี่ยนไป โลกหลังโควิดจึงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ได้ระดมสมองร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาเพื่อจัดทำฉากทัศน์อนาคตประเทศ ซึ่งเป็น Working paper ส่วนหนึ่งประกอบการศึกษาและจัดทำนโยบาย ที่ริเริ่มโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
บทความนี้จะนำเสนอฉากทัศน์หนึ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Likely Scenario) โดยแบ่งอนาคตประเทศไทยเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 Restriction : ระยะพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
การปิดเมืองและการเข้มงวดในการเดินทาง ส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ประชาชนกลับต่างจังหวัด ธุรกิจขาดสภาพคล่อง คนจนขาดรายได้ คนว่างงานเพิ่มมาก เกิดหนี้เสียและล้มละลาย รัฐช่วยเหลือทั้งทางการเงิน การคลังและเงินเยียวยา ประชาชนอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอน บางส่วนตื่นตระหนก กักตุนสินค้าจำเป็นบางจนขาดแคลนหรือราคาสูง การท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องได้รับผลกระทบหนัก รวมถึงธุรกิจบริการที่ปิดชั่วคราว ธุรกิจและพนักงานบางส่วนหันไปทำงานที่บ้าน ประชาชนเรียนรู้ป้องกันตนเอง รัฐเร่งเพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์
กลุ่มเปราะบางต้องการความช่วยเหลือสูง ประชาชนเครียด วิตกไม่กล้าออกจากบ้าน การสื่อสารช่วงแรกสับสน เฟคนิวส์ระบาด มหาวิทยาลัยปิดตัวชั่วคราว เปลี่ยนไปเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นหลัก แต่นักศึกษายากจนบางส่วนขาดอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต
ระยะที่ 2 Reopening : ระยะผ่อนคลายการควบคุม
ธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดตัวบางส่วน ธุรกิจปรับตัวไปสู่ออนไลน์เป็นหลัก ธุรกิจอาหาร สุขภาพ การศึกษา ได้รับความนิยม ธุรกิจที่อ่อนแอทยอยปิดกิจการ ธุรกิจอื่นรัดเข็มขัด ชะลอการลงทุน พนักงานที่ตกงานเริ่มปรับตัว เพิ่มทักษะ ย้ายไปทำงานอื่นหรือกลับท้องถิ่น การว่างงานเพิ่ม กลุ่มเปราะบางมีปัญหาหนัก คนตกงานหันไปพึ่งเศรษฐกิจในชุมชน รัฐเตรียมการรับการระบาดของคลื่นต่อไป การระบาดยังกลับมาเป็นระยะ มีนวัตกรรมด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น
คนตกงานจำนวนมาก เงินออมหมด เกิดปัญหาอาชญากรรมเพิ่ม มีการประท้วงให้ช่วยเหลือคนที่เข้าไม่ถึงมาตรการ รัฐให้สวัสดิการโดยใช้ Big Data แต่ยังไม่สมบูรณ์ การตกงานส่งผลกระทบต่อปัญหาครอบครัวและสังคม ประชาชนปรับตัวได้บ้างแต่รู้สึกไม่มั่นคงในอนาคต คนเริ่มกลับมาพบกันในกลุ่มสนิท โรงเรียนเปิดภายใต้การป้องกันเข้มงวด ผู้ปกครองบางส่วนให้ลูกเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน รัฐลงทุนจ้างงานชั่วคราวนักศึกษาที่เพิ่งจบและตกงาน
ระยะที่ 3 Recovery : ระยะการฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย
นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาบ้าง ธุรกิจบางส่วนเริ่มกลับมาปกติ แต่ยังรัดเข็มขัดและพยายาม lean องค์กร ไทยเป็นที่ต้องการในฐานะเป็นแหล่งอาหารของโลก ออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติใหม่ (New Normal) Work From Home กลายเป็นเรื่องปกติ หลายคนกลับไปทำงานที่บ้านเกิด (Work From Hometown) เกิดเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า แต่ดีขึ้น เริ่มมีช่องทางธุรกิจใหม่ๆ คนจนเมือง กลุ่มเปราะบางยังไม่ฟื้นตัว รัฐลงทุนสร้างงานขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยเปิดโครงการใหญ่ให้คนมาเพิ่มทักษะ
คนกลับมาทบทวนคุณค่าของชีวิต กลับไปทำงานที่ท้องถิ่นและงานที่ตนรัก ผู้คนสนใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ประชาชนยังมีความกังวล จนกว่าจะมีวัคซีน รัฐให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีแรงผลักดันให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เกิดนวัตกรรมในระดับชุมชน
ระยะที่ 4 Restructuring : ระยะการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจและการปรับตัวของสังคมใหม่ (Social New Normal)
ประเทศทั่วโลกมุ่งพึ่งพาตนเองมากขึ้น รัฐบาลผลักดันโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืนขึ้นอย่างจริงจัง เช่น BCG (Bio-Circular-Green Economy) โลกเปลี่ยนเป็น Regional Supply Chain และมีแผนสำรองหาก Supply Chain หยุดชะงัก โรงงานปรับตัวสู่โรงงาน 4.0 ที่อยู่อาศัยปรับเป็น Mixed Use เพื่อทำงานและใช้ชีวิตไปพร้อมกัน รัฐให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์ เช่น อาหาร พลังงาน สุขภาพ และงาน การท่องเที่ยวกลับมาแบบมีคุณภาพ Virtual Tourism เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจท่องเที่ยว
ธุรกิจปรับตัวเข้มแข็ง ลีน คล่องตัว (Agile) พื้นที่ออฟฟิศลดลง ธุรกิจและพนักงานตัวจริงจะเหลือรอด บริษัทส่วนใหญ่มีแผนจัดการวิกฤติ ฟรีแลนซ์มากขึ้น รัฐจึงออกแบบระบบประกันใหม่รองรับฟรีแลนซ์ การบริโภคฟุ่มเฟือยลดลง เน้นคุณภาพชีวิต 5G กระจายไปถึงทุกท้องถิ่น สร้างโอกาสธุรกิจให้ชุมชน เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโต รัฐเตรียมรับสังคมสูงวัยอย่างเข้มข้น
พลเมืองตื่นตัว ประชาชนมีความรู้ดีขึ้น ทั้งด้านการเงิน ICT และสุขภาพ สังคมให้ความสำคัญกับเรื่องความไว้วางใจ (Trust) ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่ในประเทศ ประชาชนหันมาสู่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลายประเทศมาเรียนรู้จากไทย สังคมให้คุณค่ากับความมั่นคงในชีวิตสูงขึ้น การรับราชการได้รับความนิยม
ที่กล่าวมาเป็นภาพรวมของอนาคตประเทศไทย ที่เรายังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การดิสรัปของเทคโนโลยี ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและโรคระบาดใหม่ในอนาคต ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันมองให้ไกลไปในอนาคต เพื่อเตรียมการรับมือวิกฤติเชิงซ้อนของโลก พร้อมกับเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสสำคัญในการ Transform ประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน