'สภานายจ้าง' เผยแรงงานวัย 40 บวก เสี่ยงตกงานสูง
โควิด-19 ดันยอดตกงานทะลุ 7-9 ล้านคน หากลากยาวถึง มิ.ย.แรงงานภาคอุตสาหกรรมตกงานเพิ่มอีกหลายแสนคน เผยโลกเปลี่ยน นายจ้างเร่งนำหุ่นยนต์ เครื่องจักรอัตโนมัติแทนแรงงานคน ทำให้ยอดตกงานเพิ่ม ระบุ แรงงานอายุเกิน 40 เสี่ยงตกงาน
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า วิกฤติโควิต-19 ก่อให้เกิดปัญหาด้านแรงงานที่รุนแรงกว่าปี 2540 และรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยภาคเอกชนประเมินว่าอาจมีคนตกงานถึง 9.21 ล้านคน จากแรงงานไทยที่มีทั้งหมด 38 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบประกันสังคม 11 ล้านคน และแรงงานนอกระบบรวมทั้งการเกษตร 27 ล้านคน ซึ่งตัวเลขล่าสุดจากผลกระทบโควิด-19 แรงงานในระบบประกันสังคมยื่นขอรับเงินชดเชยว่างงานกรณีเหตุสุดวิสัยสูงถึง 1.5 ล้านคน
“ที่ผ่านมาแรงงานในระบบประกันสังคมหากมียอดคนตกงานปีละ 7-8 หมื่นคนถือว่าเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ปีนี้คาดว่าจะมีถึง 1.5 ล้านคน จึงเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้วิกฤติต้มยำกุ้งก็มีตกงานน้อยกว่านี้มาก”
ทั้งนี้ หากการระบาดของโรคโควิด-19 ยาวถึงเดือน มิ.ย.นี้ ยอดคนตกงานจะรุกลามถึงแรงงานภาคอุตสาหกรรมที่มี 6 ล้านคน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์จะได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะเกือบทุกค่ายรถยนต์หยุดการผลิต ทำให้กระทบเป็นลูกโซ่ไปยังโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์นับพันโรงงานมีแรงงานรวมกว่า 7.5 แสนคน อาจจะให้อุตสาหกรรมนี้มีคนตกงาน 2-3 แสนคน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม จะตกงานอีกหลายแสนคน
รวมทั้งการที่ภาครัฐเริ่มคลี่คลายมาตรการล็อกดาวน์ และสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศลดลง และถ้าไม่เกิดการระบาดรอบ 2 ในสิ้นปีนี้ อาจดูดซับแรงงานที่ตกงานกลับเข้าทำงานได้อยากมากไม่เกิน 50% และในช่วงไตรมาส 1 อาจจะดูดซับแรงงานได้เกือบหมด
ทั้งนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ช้าเพราะต่างประเทศยังระบาดรุนแรง จึงหวังพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติได้ยาก และการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาปีหน้า เพราะไทยยังเป็นประเทศปลอดภัยจากโรคระบาด แต่ปีนี้จะมีเพียงคนไทยที่ออกท่องเที่ยวภายหลังล็อกดาวน์อยู่บ้าง ทำให้ธุรกิจนี้ดูดซับแรงงานที่ตกงานกลับได้ช้า
“หากผ่อนคลายเปิดศูนย์การค้าได้จะช่วยผู้ค้าปลีกและร้านอาหารในห้างได้มาก ทำให้ดูดซับแรงงานที่ตกงานได้ และหากทยอยเปิดร้าน เช่น ร้านตัดผมที่มีแรงงาน 3.6 แสนคน ร้านอาหาร 2-3 แสนคน บวกกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลให้เงินรายละ 5 พันบาทจะมีเงินกว่า 4 แสนล้านบาทมากระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มมูลค่าหลายเท่า และกลับมาจ้างงานมากขึ้น”
นายธนิต กล่าวว่า ภายหลังโควิด-19 คลี่คลาย โรงงานที่ลดแรงงานจะนำเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนแรงงานคน จะทำให้การดิสรับชั่นนำระบบดิจิทัล หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาใช้ในธุรกิจรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ อุตสาหกรรมรถยนต์จะเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าเร็วขึ้น โดยโลกหลังโควิด-19 ทุกอย่างเปลี่ยนหมด แรงงานต้องพัฒนาทักษะใหม่ เพราะรูปแบบของงานเปลี่ยนไป เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนคนมากขึ้น ทำให้แรงงานต้องแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อให้มีงานทำและมีรายได้ที่ดี
สำหรับแรงงานที่เสี่ยงสูงสุด คือ แรงงานที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จะต้องเร่งปรับตัว เพิ่มทักษะ ความสามารถเพิ่มขึ้นเพื่อทำงานได้อย่างหลากหลายและก้าวทันเทคโนโลยี รวมทั้งทำงานร่วมกันเทคโนโลยีใหม่ได้ เพราะแรงงานกลุ่มนี้อยู่มานานจนมีเงินเดือนสูง แต่ประสิทธิภาพการทำงานให้บริษัทลดลง เนื่องจากก้าวไม่ทันเทคโนโลยีใหม่
ในขณะที่ผู้จบใหม่ใช้เทคโนโลยีได้และมีไฟทำงาน และมีเงินเดือนต่ำกว่าจึงมีโอกาสมาทดแทนแรงงานรุ่นเก่าได้มาก แต่ปัญหาของไทยขณะนี้ คือ แรงงานไม่ปรับตัว และมักจะใช้กฎหมายแรงงานมาคุ้มครอง
“แรงงานที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ต้องเร่งศึกษาความรู้ หาความถนัดด้านวิชาชีพใหม่ๆ ต่อยอดความสามารถทำงานได้หลายแบบ เสริมทักษะการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยี จะช่วยให้อยู่รอดในยุคหลังโควิด-19 ได้ ซึ่งจะทำให้แข่งขันกันจ้างงานมากขึ้นและจะหมดยุคค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าแรงงานจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับทักษะวิชาชีพและความสามารถในการปรับตัว”