แบนสารพิษเกษตร จริงแค่ไหน? | Green Pulse

แบนสารพิษเกษตร จริงแค่ไหน? | Green Pulse

แม้คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่นำโดยรัฐมนตรีอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จะมีมติไม่เลื่อนการแบนสารพิษเกษตร 2 ชนิดคือ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ออกไปอีก 6 เดือน จากดีเดย์วันที่ 1 มิถุนายนนี้ตามที่เป็นข่าว

แต่เครือข่ายต้านสารพิษเกษตรซึ่งเรียกร้องการแบนสารพิษเกษตร 2 ชนิดนี้ รวมทั้งสารกำจัดวัชพืชอีกชนิดที่เป็นที่นิยมคือ ไกลโฟเสต กล่าวว่า ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เพราะมติดังกล่าว อาจยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีความพยายามพลิกมติเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในครั้งก่อน (ปีที่แล้ว)

และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ สารกำจัดวัชพืชที่มีพิษร้ายแรงก่อมะเร็งอย่างไกลโฟเสตยังไม่ถูกแบนแต่อย่างใด ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ และกระทั่งมติของคณะกรรมการฯ ชุดเก่าในเดือนตุลาคมปีที่แล้วที่ให้แบนทั้งสามสารฯ

“อาจจะฟังดูโอเคในเบื้องต้น (ที่ไม่ถูกเลื่อนไปอีก) แต่ก็ยังไว้วางใจไม่ได้เพราะก็ยังมีความเคลื่อนไหวของฝั่งผู้ประกอบการ เค้าก็คงไม่ยอมง่ายๆ และคงพยายามให้มีการเลื่อนอยู่ดี ก็ต้องรอจนกว่าจะถึงวันที่ 1 มิถุนายนนี้” ปรกชน อู๋ทรัพย์ตัวแทนจากเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง กว่า 600 องค์กร กล่าวกับ Green Pulse, เมื่อตั้งข้อสังเกตถึงตัวแทนฝ่ายสนับสนุนการใช้สารพิษฯ ต่อที่เข้ามายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการฯ เช่นกัน

ก่อนหน้าการประชุมของคณะกรรมการฯ ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ปรกชล เป็นตัวแทนเครือข่ายฯ ไปยื่นหนังสือที่กระทรวงอุตสาหกรรม ถึงนายสุริยะ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ เพื่อคัดค้านการเลื่อนการแบนสารพิษดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากมีกระแสข่าวว่านายสุริยะ เตรียมจะหารือเพื่อเลื่อนการแบนสารพิษกำจัดศัตรูพืช 2 ชนิดนี้ จากวันที่ 1 มิ.ย. ออกไปอีก โดยทางสภาหอการค้าไทยได้ทำหนังสือขอให้มีการทบทวนการแบนสารฯ ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นมติของคณะกรรมการฯ ที่นายสุริยะเป็นประธาน ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

จากการเปิดเผยของนายสุริยะ ภายหลังเป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้พิจารณาวาระสำคัญเรื่อง ออกประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ซึ่งจะมีผลให้มีการเลิกใช้สารฯ หรือการแบนสารฯ นั่นเอง

โดยนายสุริยะกล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการอภิปรายให้ความเห็นในประเด็นต่างๆ ทั้งในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรม ผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งสภาวการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงสาธารณสุขก็ยืนยันให้มีการออกประกาศฉบับนี้

คณะกรรมการฯ จึงได้มีการลงมติโดยเปิดเผย โดยในจำนวนกรรมการ 24 คน, กรรมการ 17 คน ลงมติเห็นด้วย ในขณะที่อีก 6 คน ไม่เห็นด้วย และมี 1 คนที่งดออกเสียง

“สรุปได้ว่า เสียงส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบในร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีการให้ข้อสังเกตรวมทั้งข้อเสนอแนะในการดำเนินการต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กำหนดมาตรการที่ชัดเจน เพื่อให้มีผลกระทบต่อฝ่ายต่าง ๆ น้อยที่สุด” นายสุริยะกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร ไปศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศเพื่อหาสารมาใช้ทดแทนสาร 2 ชนิดดังกล่าวที่ยกเลิกการใช้ พร้อมหามาตรการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นมานำเสนอในการประชุมครั้งถัดไปหรือภายเดือนพ.ค.นี้

สำหรับผลกระทบในส่วนของการกำหนดปริมาณสารตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหารนั้น กระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีคณะกรรมการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว จะพิจารณาและกำหนดให้เหมาะสมต่อไป นายสุริยะกล่าว

ปรกชลกล่าวว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า การตัดสินใจดังกล่าวของคณะกรรมการฯ มาจากข้อเสนอในการหามาตรการทดแทนสารฯหรือมาตรการเยียวยาเกษตกรที่ได้รับผลกระทบจากการแบนสารฯ หรือไม่เพราะไม่มีการเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ แต่ส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากแรงกดดันของภาคประชาชนและการเมือง โดยเฉพาะจาก รมช.กษ.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ จากพรรคภูมิใจไทย ที่มีจุดยืนในการสนับสนุนการแบนทั้งสามสารฯ มาตั้งแต่ต้นและต่อเนื่อง

โดยก่อนหน้าการประชุม รมช.กษ. มนัญญา ได้เรียกกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงฯและอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่เป็นกรรมการวัตถุอันตราย เข้าประชุมอีกครั้งเพื่อซักซ้อมความเข้าใจท่าทีของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งในฐานะรมช.เห็นว่าไม่มีเหตุผลที่คณะกรรมการฯ จะมีการเลื่อนการแบนสารฯ ออกไปอีก และยืนยันว่า มีนโยบายไม่เห็นด้วยกับมติฯ ของคณะกรรมการฯ ของนายสุริยะในการประชุมวันที่ 27 พ.ย.62 ที่เลื่อนการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส จากวันที่ 1 ธ.ค.62 มาวันที่ 1 มิ.ย.63 และจำกัดการใช้ไกลโฟเสต เพราะต้องการให้แบนทั้ง 3 สารฯ

158848106576

ภูมิหลัง

ท่าทีล่าสุดของคณะกรรมการฯ และผู้เกี่ยวข้อง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนการต่อสู้ช่วงชิงผลประโยชน์ยาวนานในภาคเกษตรกรรมที่มีมูลค่าของสารพิษที่ต้องแลกกับความเจ็บป่วยของประชาชน ที่ทำให้สาธารณะชนได้รับทราบว่า ไม่ง่ายเลยกว่าจะได้มติการแบนสารพิษเกษตรแต่ละชนิดเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน

ความพยายามแบนสารพิษทั้งสามชนิดที่เป็นที่นิยมในหมู่เกษตรกรมากที่สุดในการใช้กำจัดวัชพืชและแมลง เริ่มเป็นผลในปีที่แล้ว หลังการผลักดันมานานกว่าสามปี เมื่อคณะกรรมการฯ ชุดก่อน ลงมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค. เห็นชอบให้สาร 3 ชนิดนี้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธ.ค.

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ชุดใหม่นำโดยนายสุริยะ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการฯ อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน และเปลี่ยนมติเดิม โดยเลื่อนการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมให้คลอร์ไพริฟอสและพาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จากวันที่ 1 ธ.ค. มาเป็น วันที่ 1 มิ.ย. 63 และปรับให้การแบนสารฯ ไกลโฟเสตเป็นเพียงการ “จำกัดการใช้”

โดยในการประชุมในเดือน พ.ย. กลับเป็นทางปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะกรรมการวัตถุอันตราย เสนอให้คณะกรรมการพิจารณาทบทวนมติของ วันที่ 22 ต.ค. เกี่ยวกับรายชื่อวัตถุอันตราย และระยะเวลาในการบังคับใช้ เนื่องจากมีการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่จะยกระดับให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แล้ว พบว่าไม่สามารถบริหารจัดการได้หากประกาศจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธ.ค.

นอกจากนี้ ยังไม่มีมาตรการรองรับที่เหมาะสมสำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกร และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบด้านการค้าระหว่างประเทศ และภาระที่จะเกิดขึ้นกับภาครัฐ จนคณะกรรมการวัตถุอันตรายชัดของนายสุริยะ มีมติเลื่อนการแบนสารฯ และจำกัดการใช้ไกลโฟเสตในที่สุด

จากการตรวจสอบของเครือข่ายฯ และองค์กรหลักในเครือข่ายฯ อย่าง BioThai กลับพบว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการฯ ชุดของนายสุริยะ เกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ ได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทย แสดงความกังวลในการแบนสารฯ ของไทย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการค้าและส่งออกผลผลิตของสหรัฐฯ

และนั่นเป็นจุดที่เครือข่ายฯ เห็นความพยายามที่จะประนีประนอมและมีการรับลูกกันของฝ่ายการเมือง โดยหลังมีจดหมายจากสหรัฐฯ นายสุริยะแสดงท่าทีในที่สาธารณะผ่านสื่อที่จะให้มีการพิจารณาทบทวนการแบนสารฯ ของคณะกรรมการฯ ชุดเก่า และต่อมา ทางกระทรวงเกษตรฯ ก็ได้ชงข้อเสนอให้มีการทบทวนการแบนสารฯ โดยเลื่อนการบังคับใช้ไป 6 เดือน ในที่สุด

จะมีก็เพียง รมช.กษ.มนัญญา ที่หนุนการแบนสารฯ มาโดยตลอดที่อาจถูกบล๊อกจากการพิจารณาในครั้งนั้น ดังจะเห็นจากข้อมูลที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจถูกส่งผ่านไปยังรัฐมนตรีโดยตรง

ปรกชลกล่าวว่า จำเป็นที่จะต้องมีการผลักดันเรื่องโรดแมพการแบนสารฯ และการหามาตรการทดแทนให้ชัดเจนเพื่อป้องกันเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งไกลโฟเสต ที่ยังมีการเปิดโอกาสให้ใช้ เพราะนั่นเท่ากับความเสี่ยงทางสุขภาพของผู้บริโภคยังมีอยู่

“ไม่มีโรดแมพที่จะนำเราไปสู่เกษตรยั่งยืนและปลอดภัย ก็ยังสามารถนำเข้ามาใช้ได้ และเป็นความเสี่ยงอยู่ดี เพราะบอกว่าจำกัด เราจะทำได้จริงหรือไม่” ปรกชลกล่าว