'โควิด' ฉุดเบิกจ่ายงบ 63 ต่ำกว่าเป้า นายกฯ เร่งทุกหน่วยเบิกงบ
"สมคิด” เผยนายกฯสั่งหัวหน้าส่วนราชการ เร่งเบิกจ่ายงบปี 63 ที่ต่ำกว่าเป้าไปมากหลังผลกระทบโควิด และซักซ้อมการทำโครงการเสนอใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อเร็วๆนี้ ได้เร่งรัดส่วนราชการให้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เนื่องจากขณะนี้การเบิกจ่ายตกเป้าและล่าช้าไปมากเพราะติดขัดปัญหาและอุปสรรคในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความล่าช้าของการออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2563
ดังนั้น จึงต้องเร่งให้ส่วนราชการใช้งบให้หมดทันปีงบประมาณ 2563 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.2563 ให้ได้ตามกำหนดเพื่อให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกประสบปัญหา
นอกจากนี้ได้มีการสรุปให้ที่ประชุมเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมโครงการต่างๆเพื่อรองรับเงินกู้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 วงเงิน 400,000 ล้านบาท ที่กระทรวงการคลังได้ออก พ.ร.ก.การกู้เงิน ซึ่งเป็นแหล่งเงินที่เตรียมไว้แล้ว โดยเน้นที่การสร้างกิจกรรมในท้องถิ่น ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งด้านเกษตรและที่เกี่ยวข้อง ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กและโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กในท้องถิ่นเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง
รวมไปถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน การพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน การสร้างเครื่องมือและแพล็ตฟอร์มการตลาดและการกระจายสินค้าเกษตร โครงการพัฒนาสัคมในท้องถิ่น การจ้างบุคลากรและนักศึกษาลงชุมชนเก็บข้อมูลสร้างระบบข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big data การลงทุนในพลังงานชุมชน เป็นต้น
“โครงการเหล่านี้ต้องสามารถดำเนินการได้เร็วและสร้างงานสร้างรายได้ เพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในช่วง3-4เดือนข้างหน้า ในยามที่โลกยังไม่ดีขึ้น ซึ่งทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะนำกรอบและหลักเกณฑ์เข้า ครม.กลางเดือน พ.ค.นี้ และจะเริ่มรับพิจารณาโครงการจากแต่ละกระทรวงก่อนต้นเดือน พ.ค. ดังนั้น จึงให้ทุกหน่วยราชการเตรียมข้อเสนอโครงการรวมทั้งภาคประชาชนและมูลนิธิเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและชนบททั้งหลายให้เข้ามาร่วมด้วย"
นายสมคิด กล่าวว่า ได้หารือกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณว่าในการปรับปรุงรายละเอียดของการจัดสรรงบประมาณในปี 2564 จะต้องเตรียมความพร้อมให้มีความยืดหยุ่น เพียงพอที่จะสามารถรองรับการจ้างงานภายในประเทศ ในกรณีที่สถานการณ์โควิดกินระยะเวลายาวนานไม่จบลงในระยะเวลาอันสั้นจะต้องมีเม็ดเงินไว้สำหรับการจ้างงานในประเทศเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่จบลงในระยะเวลาอันสั้น