ธุรกิจหลังโควิด-19 จาก Normal สู่ Abnormal แต่..
หลังวิกฤติโควิด-19 อาจเห็นภาพเค้าลางของความไม่ปกติ (Abnormal) ที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ ภาคบริการ ค้าปลีกและร้านอาหาร ที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากความปกติ สู่สิ่งที่กลายเป็นความไม่ปกติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีอะไรบ้างที่จะเปลี่ยนผ่านไป
วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ไม่มีสัญญาณบอกกล่าวล่วงหน้า ภาพเค้าลางของความไม่ปกติ (Abnormal) ที่เกิดขึ้นผ่านวิกฤติโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ ภาคบริการ ค้าปลีกและร้านอาหาร ที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากความปกติ (Normal) สู่สิ่งที่กลายเป็นความไม่ปกติซึ่งถูกเรียกว่า Abnormal แรงผลักของวิกฤติกำลังจะเปลี่ยนแพลตฟอร์มความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ให้มีระเบียบแบบแผนที่ไม่เป็นไปตามจินตนาการเหมือนในอดีต
- หลังวิกฤติโควิด : รายได้ท่องเที่ยวหดหาย-ว่างงาน หนี้ครัวเรือน เพิ่มขึ้น
ภาคการท่องเที่ยว ทำรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวไทยและต่างชาติ มีบทบาทสำคัญถึง 18% ของจีดีพี และกลายเป็นฮีโร่ที่พยุงเศรษฐกิจหลายๆ ปีที่ผ่านมา เมื่อจบปี 2562 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.06 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย 39.77 ล้านคน สร้างรายได้ 1.96 ล้านบาท
ตลาดในประเทศมีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางกว่า 167 ล้านคน สร้างรายได้ 1.10 ล้านบาท ในเดือน มี.ค.2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยลดลงกว่า 80% ทั้งในแง่จำนวนและรายได้ หากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายได้เร็ว หรือภายในเดือน มิ.ย. คาดว่าสิ้นปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีราว 26 ล้านคน เทียบแผนที่วางไว้ 42 ล้านคน เมื่อปลายปี 2562 ประมาณการรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 1.23 ล้านล้านบาท ลดลงจากประมาณการ 3.18 ล้านล้านบาท
วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้สร้างผลกระทบทำให้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบกว่า 37 ล้านคน ได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า มากสุดคือภาคบริการ ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ที่มี 19 ล้านคน หรือราว 52% ของแรงงานทั้งระบบ และเป็นแรงงานนอกระบบ ที่ไม่มีงานแน่นอน 10.8 ล้านคน
SCB EIC ประเมินว่า ผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 3-5 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 8-13% ของกำลังแรงงานรวมปัจจุบัน ทิ้งห่างอัตราการว่างงานในวิกฤติต้มยำกุ้งที่ 3.4% ในปี 2541 และในวิกฤติการเงินโลกปี 2551-2552 ที่ 1.5% ในปี 2552 ถือเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมาในปี 2528
สาเหตุที่การว่างงานครั้งนี้มีแนวโน้มสูงกว่าในอดีต เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนที่มีความเปราะบางสะสมตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า ประกอบกับเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ก่อนมีโควิด-19 องค์กรมุ่งเข้าสู่ “Lean Organization” ตอนนี้จึงเป็นเหมือนทั้งโลกร้ายและเทคโนโลยี กรรมซัด ที่จะทำให้คนตกงานเยอะ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ และแอพพลิเคชั่นมากมายหลากหลายที่พร้อมจะเข้ามาแทนคน และยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้โรงงานพยายามใช้แมชชีนเข้ามาแทนคน อีกทั้งภาคเกษตรที่เคยเป็นแหล่งดูดซับแรงงานก็มีแนวโน้มที่จะมีข้อจำกัดในการทำหน้าที่นั้นในครั้งนี้จากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานหลังโควิดจึงอาจสูงถึงสองหลัก
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า หนี้สินครัวเรือนไทยก่อนเจอมรสุม “โควิด-19” ล่าสุดหนี้พุ่ง 13.47 ล้านล้านบาท เพิ่มจากไตรมาสก่อนกว่า 2.2 แสนล้าน ดันหนี้ต่อจีดีพีแตะ 79.8%
โดยหนี้สินเพื่อเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 4.54 ล้านล้านบาท หนี้สินเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 3.68 ล้านล้านบาท หนี้สินเพื่อประกอบอาชีพ 2.41 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.79% หนี้สินเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 1.73 ล้านล้านบาท หนี้สินอื่นๆ 7.09 แสนล้านบาท และหนี้สินเชื่อเพื่อการศึกษา 3.97 แสนล้านบาท
จากข้อมูลการสำรวจของวันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย และ แดทเทล พบว่าคนส่วนใหญ่ หรือ 3 ใน 4 เชื่อว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยเฉพาะคนไทยกว่า 46% มีความกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นเวลานานหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนอีก 40% เชื่อว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราความกังวลที่สูงที่สุดในเอเชีย
ภาพความไม่ปกติ (Abnormal) ที่เกิดขึ้นผ่านวิกฤติโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ธุรกิจ ภาคบริการ ค้าปลีกและร้านอาหาร ที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากความปกติ (Normal) สู่สิ่งที่กลายเป็นความไม่ปกติซึ่งถูกเรียกว่า Abnormal แรงผลักของวิกฤติกำลังจะเปลี่ยนแพลตฟอร์มความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ให้มีระเบียบแบบแผนที่ไม่เป็นไปตามจินตนาการเหมือนในอดีต
- หลังวิกฤติโควิด 19 อะไรบ้างจะเปลี่ยนผ่านจาก Normal ไปสู่ Abnormal
Abnormal พฤติกรรมการซื้อ การซื้อสินค้าและบริการด้วยเหตุผล เพราะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองและวิกฤติครั้งนี้ที่ทำให้ผู้บริโภครู้ว่าอะไรที่มีความจำเป็นในชีวิต อะไรเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ดังนั้นการจับจ่ายใช้สอยด้วยเหตุผลจะเป็นที่นิยมมากกว่าอารมณ์ อาทิ การซื้อที่อยู่อาศัยที่จะเน้นความคุ้มค่ามากกว่าความสวยงามและราคาที่เกินจริง สินค้าและบริการที่ฟุ่มเฟือยจะถูกลดลงและเปลี่ยนมาเป็นเงินออม เช่น สินค้าเครื่องประดับราคาแพง ร้านอาหารและคาเฟ่
Abnormal อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลกระทบโดยตรง การท่องเที่ยวจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เข้มงวดเรื่องกฎระเบียบมากขึ้น เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องซื้อประกันเดินทาง/สุขภาพ และแสดงหลักฐานการตรวจสุขภาพก่อนออก Boarding Pass อาจไม่มี Visa on Arrival อีกต่อไป การท่องเที่ยวจะมุ่งเน้นแบบพรีเมียม Premium Tourism Wellness Tourism การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Green Tourism เน้นกลั่นกรองนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ทำตลาดบน
Abnormal ธุรกิจบริการ ธุรกิจบริการจะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เช่น บริการนวด การเสริมสวย การพบแพทย์ หรือรับยาออนไลน์ โดยผ่านการนัดหมายเวลาเพื่อป้องกันการรวมตัวกันโดยไม่จำเป็น เพราะนอกจากเวลาจะเป็นสิ่งที่มีค่าแล้ว ความเสี่ยงในการรวมตัวกันจะถูกลดโดยการนัดหมายด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
Abnormal ธุรกิจอาหาร ธุรกิจร้านอาหาร ต้องจัดที่นั่งรับประทานอาหาร เว้นระยะห่าง 1.5 เมตร พร้อมทำสัญลักษณ์ที่ชัดเจน จัดโต๊ะให้นั่งเยื้องกันและห่างกันไม่ต่ำกว่า 1 เมตร พร้อมทำสัญลักษณ์ที่ชัดเจน จัดทำ Table Shield ฉากกั้นบนโต๊ะอาหาร หม้อต้ม ปิ้งย่าง และอุปกรณ์การทาน ต้องใช้ 1 ชุดต่อ 1 คน อาจต้องยกเลิกการให้บริการแบบบุฟเฟ่ต์หรือสลัดบาร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
Abnormal กิจการร้านแฟชั่นเสื้อผ้า เครื่องหนัง รองเท้า จัดเตรียมแอลกอฮอล์ เจลฆ่าเชื้อ ไว้หน้าร้านบริการให้ลูกค้าก่อนเข้าร้าน ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อห้องลองหลังการใช้ทุกครั้ง แยกเสื้อผ้าที่ลูกค้าลองแล้วนำไปฆ่าเชื้อ อาทิ ฆ่าเชื้อด้วยแสง UV การลองสินค้าประเภทรองเท้า ต้องเตรียมถุงเท้าให้ลูกค้าใส่ก่อนลองรองเท้า และต้องเปลี่ยนใหม่ทุกครั้ง สำหรับการลองสินค้าประเภท Accessory ทางร้านต้องนำสินค้าฆ่าเชื้อก่อนและหลังการลอง เช่น แว่นตา นาฬิกา เป็นต้น
ภาวะ Abnormal หมายถึง พฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในแบบฉับพลันด้วยการผลักดันของวิกฤติ ภาวะ Abnormal เป็นภาวะของการเปลี่ยนผ่าน ที่อาจจะย้อนหรือไม่ย้อนกลับมาเป็นแบบเดิม เพราะเราหลายคนก็ไม่อยากจะทิ้งวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ไปอย่างเด็ดขาด
เพียงแต่....เมื่อภาวะ Abnormal เพิ่มขึ้นอยู่กับเรานานๆ เราก็จะยอมรับวิถีชีวิตใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตมากขึ้น จนกลายเป็น New Normal