'ไทย' รุกส่งออก ป้อนโลกตุนอาหาร
ผู้ส่งออกรุกตลาดโลก หลังโควิด ส่งผลหลายประเทศตุนอาหาร ยืนยันอาหารในประเทศเพียงพอ “ซีพีเอฟ” เผย สหรัฐชะลอส่งออกไก่ เพิ่มสต๊อกภายในประเทศ จีนรับรองโรงงานไก่ไทยเพิ่ม หวังนำเข้าป้อนความต้องการพุ่ง
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้หลายประเทศมีความต้องการสินค้าอาหารเพื่อสำรองเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ผลิตอาหารบางประเทศชะลอการส่งออกเพื่อเก็บไว้บริโภคในประเทศ ในขณะที่บางประเทศยอมผ่อนเกณฑ์นำเข้าสินค้าอาหารที่เคยเข้มงวดลง เพื่อป้องกันการขาดแคลนอาหารภายในประเทศ
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้กำลังซื้อทั่วโลกลดลง ซึ่งจะกระทบกับการส่งออกด้านอาหารของไทยในระยะสั้น แต่กำลังซื้อที่ลดลงดังกล่าวไม่ได้สะท้อนว่าความต้องการอาหารจะลดลงตาม รวมทั้งที่สำคัญความต้องการยังมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย มั่นใจว่าการส่งออกอาหารจะมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
การส่งออกอาหารหลังจากนี้ หลายประเทศจะเพิ่มความเข้มงวดด้านมาตรฐานความปลอดภัยมากยิ่งไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรจุภัณฑ์ มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่าอาหารแช่แข็งจะกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาหารแช่แข็ง
นอกจากมีความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังถูกห่อหุ้มด้วยบรรจุภัณฑ์ที่รัดกุมเพื่ออากาศสัมผัสกับสินค้าที่อยู่ภายในจนเกิดความเสียหาย รวมทั้งการขนส่งสินค้าแช่แข็งยังต้องควบคุมอุณหภูมิตลอดระยะทางการส่งด้วย ทำให้มั่นใจได้ว่าสินค้าอาหารแช่แข็งนั้น ต้องมีความปลอดภัยจริงจนถึงมือผู้บริโภค
“ผมว่าในไตรมาส 4 ของปีนี้ จะเห็นภาพการส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมากขึ้น อย่างเห็นได้ชัด" นายประสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความต้องการสินค้าอาหารรายประเทศจะเห็นความเปลี่ยนแปลงจากการระบาดของโรคโควิด-19 ดังนี้
1.ตลาดจีน พบว่าประเทศจีนมีสัญญญาณที่ดีกลับมาแล้วจากที่จีนสามารถควบคุมโรคโควิดได้ และต้องการนำเข้าเนื้อไก่จำนวนมาก เนื่องจากเป็นสินค้าอาหารพื้นฐาน ประกอบกับผลผลิตในจีนเดิมไม่เพียงพอกับความต้องการอยู่แล้ว การที่โควิดระบาดหนักก่อนหน้านี้ทำให้ความต้องการมากขึ้นอีก รวมทั้งก่อนหน้าจีนได้ไปรับรองโรงงานไก่เพื่อนำเข้าจากสหรัฐอเมริกากว่า 147 โรงงาน ในขณะที่ของไทยจีนรับรองเพียง 15 โรง เท่านั้น
2.ตลาดสหรัฐ ปัจจุบันโรงงานแปรรูปไก่ในสหรัฐมีผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคภายใน ในขณะที่ผู้ผลิตไก่รายใหญ่อย่างบราซิลก็มีปัญหาอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด เช่นกัน โอกาสจึงเป็นของไทยที่จะผลักดันให้ส่งออกในตลาดจีนได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนได้รับรองโรงงานไก่ของไยเพิ่มขึ้นเป็น 21 โรง เมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
3.ตลาดสิงคโปร์ มีแนวโน้มจะหันมาสั่งซื้อไก่จากไทยเช่นกัน จากเดิมที่นำเข้าจากมาเลเซียเป็นหลักแต่ปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องโควิดระบาด ซึ่งทำให้ต้องปิดด่านนำเข้า-ส่งออก โดยสิงคโปร์ไม่สามารถผลิตอาหารได้เองต้องพึ่งพาการนำเข้าเกือบ 100% จึงเริ่มมีปัญหา
อย่างไรก็ตามสิงคโปร์ถือเป็นตลาดส่งออกอาหารพร้อมรับประทานของไทยและยอมเปิดตลาดไข่ไก่ให้กับไทยเมื่อเร็วๆนี้ แต่ไทยมีปัญหาไข่ขาดตลาดช่วงก่อนหน้าทำให้การส่งออกหยุดชะงัก ปัจจุบันสถานการณ์ไข่ไก่เริ่มคลี่คลายแล้ว คาดว่ารัฐบาลจะผ่อนคลายเงื่อนไขซึ่งจะส่งผลให้ซีพีเอฟส่งไข่ไก่ในตลาดสิงคโปร์ได้อีกครั้ง และจะพยายามให้กลายเป็นตลาดถาวรให้ได้ในที่สุด
ไทยไร้ปัญหาความมั่นคงอาคาร
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า การส่งออกอาหารได้มากขึ้น นั้นไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสินค้าภาคปศุสัตว์ ที่ไทยมีศักยภาพมาก ทำให้มีการผลิตโปรตีนจากเนื้อสัตว์เฉลี่ยต่อวันมีปริมาณสูง เช่น ไข่ไก่ 41 ล้านฟอง เนื้อสุกร 5 ล้านกิโลกรัม ไก่เนื้อ 8 ล้านกิโลกรัม และในจำนวนนี้ไทยมีการส่งออกไก่วันละ 3 ล้านกิโลกรัม ซึ่งทั้งหมดเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อการบริโภคของคนไทย
“ผมต้องทำทุกอย่างให้เคร่งครัดที่สุด เพราะบริษัทฯ เรามีหน้าที่และความรับผิดชอบเรื่องความมั่นคงทางอาหาร คือ ความเพียงพอของอาหารของประเทศไทย ทุกอย่างในโรงงานเราต้องมีระบบหมดโดยเฉพาะการบริหารความกลัวของคนเพราะถ้าคนทำงานไม่กล้ามา เราก็จบหมดเหมือนกัน เราต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่ามาโรงงานแล้วปลอดภัยกว่าอยู่บ้าน เราจึงยกระดับเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัย”