โรงทานโควิด กับวิกฤติรอบ 2
ขณะนี้จำเป็นที่รัฐบาลต้องวางแผนล่วงหน้า กรณีเกิดการระบาดรอบ 2 ซึ่งควรนำข้อเสนอการตั้งโรงทานมาพิจารณา
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งทำให้ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ ลดลง ทั้งจีดีพี การส่งออก การท่องเที่ยว ถึงแม้ว่าสถานการณ์การระบาดในประเทศไทยจะคลี่คลายลง และภาครัฐผ่อนปรนให้บางธุรกิจเปิดดำเนินการได้ แต่หลายฝ่ายออกมาเตือนว่า หากการป้องกันการระบาดหย่อนลง จะเสี่ยงต่อการเกิดการระบาดรอบ 2 ในประเทศไทยได้
ที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการลดผลกระทบและเยียวยาผ่านการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท รวมถึงมาตรการอื่นอีกหลายมาตรการ แต่ถ้าเกิดการระบาดรอบ 2 ขึ้นมา มีคำถามเกิดขึ้นว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณเพียงพอที่จะเยียวยาอีกแค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมามีข้อเสนอของนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ในการตั้งโรงทานที่เป็นวิธีหนึ่งที่ทั่วโลกใช้กันเมื่อเกิดวิกฤติ เพื่อช่วยเหลือปากท้องประชาชน ซึ่งภาครัฐอาจมีเงินเดือนหรือไม่มีเงินเดือนให้ แต่ยืนยันได้ว่าจะไม่อดอาหารจนเสียชีวิต
ก่อนหน้านี้บางหน่วยงานเริ่มตั้งโรงทานแล้ว เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่สั่งการให้สถานีตำรวจทุกแห่งดำเนินการ แต่หากจะมีการเตรียมโรงทานในทุกพื้นที่เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤติโควิด จะต้องมาวางรูปแบบการบริหารจัดการ รวมถึงงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) งบประมาณจังหวัด รวมถึงงบของวัดที่อาจจะปรับจากการสร้างศาสนสถานมาเป็นโรงทานแทน รวมถึงงบประมาณสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจที่รัฐบาลตั้งไว้ 400,000 ล้านบาท ก็สามารถนำมาใช้ในส่วนนี้ได้
แนวทางการตั้งโรงทานเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมานาน เมื่อเกิดภาวะวิกฤติภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ซึ่งจะเห็นความร่วมมือของคนในชุมชนท้องถิ่นร่วมกันตั้งโรงทาน เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นทุกคนจะเข้าใจตรงกันในการช่วยออกทรัพย์หรือออกแรง เป็นการร่วมมือช่วยเหลือกันจนพ้นวิกฤติ ถือเป็นวิถีดังเดิมในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การดำเนินการที่จะเกิดขึ้นจะต้องสร้างการมีส่วนร่วม เช่น ใครมีอาหารสดหรือผักก็นำมาบริจาคให้โรงทาน การจัดการภายในโรงทานก็ให้คนในท้องถิ่นร่วมจัดการ
ขณะนี้จำเป็นที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้ากรณีเกิดการระบาดรอบ 2 รัฐบาลควรนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณา เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วโรงทานจะทำให้ทุกคนอยู่รอดพ้นวิกฤติครั้งนี้ได้ การเตรียมการอาจมาพิจารณาให้เกิดโรงทานทั่วถึงในทุกพื้นที่ และมีระบบการเข้าโรงทานที่ยังคงรักษาระยะห่างทางสังคม จึงทำให้การมีส่วนร่วมของชุมชนมีความสำคัญมาก เพราะโรงทานจะต้องตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของชุมชน เช่น วัด องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)