ทำไมราคาน้ำมันช่วงนี้...ถึงขยับขึ้น!?

ทำไมราคาน้ำมันช่วงนี้...ถึงขยับขึ้น!?

จากประเด็นคำถามว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ทำไมราคาน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันถึงขยับตัวสูงขึ้น ทั้งที่ช่วงเดือนก่อนหน้านี้ ราคาน้ำดิบโลกตกลงจนกลายเป็นจุดต่ำสุด บทความนี้จะมาวิเคราะห์ 4 ปัจจัยหลักๆ ที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว

หลายคนน่าจะแปลกใจอยู่บ้างที่เมื่อกลางสัปดาห์ จู่ๆ ราคาน้ำมันหน้าสถานบริการน้ำมันที่ประกาศในบ้านเราก็ขยับสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 เดือน ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่สูงขึ้นมาจากจุดต่ำสุดเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา

โดยราคาน้ำมัน WTI ถือว่าปรับขึ้นกว่า 1 เท่าตัวในรอบเวลาเพียงประมาณกว่า 2 สัปดาห์เท่านั้น สอดคล้องกับการประกาศปริมาณคงคลังน้ำมันดิบจากหน่วยงาน EIA ของสหรัฐเมื่อวานนี้ ที่สูงขึ้นเพียง 4.6 ล้านบาร์เรล ต่ำกว่าที่คาดไว้ว่าจะสูงขึ้น 8.67 ล้านบาร์เรล โดยบทความนี้จะขอวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวดังนี้

1.ปัจจัยฝั่งอุปสงค์ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนแรกราคาน้ำมันเบนซินหรือ Gasoline ในสหรัฐ ที่มีปริมาณการใช้ในตอนนี้สูงขึ้นจากกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กว่า 9% โดยเพิ่มจาก 49% มาสู่ 58% ของระดับที่ใช้กันสำหรับช่วงเวลาเศรษฐกิจในภาวะปกติ

ส่วนที่ 2 การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ของบางประเทศในฝั่งยุโรป อาทิ เยอรมนี สเปน และอิตาลี รวมถึงบางรัฐในสหรัฐเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ซึ่งส่งผลให้อุปสงค์ของน้ำมันในพื้นที่เหล่านี้และของโลกสูงขึ้น 

ส่วนที่ 3 ความหวังว่าโอกาสที่สถานการณ์โควิด-19 จะรุนแรงขึ้นจาก Second Wave ของโรคระบาดจนก่อให้เกิดการกลับมาขยายเวลาล็อกดาวน์อีกครั้งจะมีน้อยลงในช่วงนี้ ได้ทำให้ประมาณการจีดีพีของภูมิภาคต่างๆ ของโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 1-3%

2.การผ่อนคลายลงของปัญหาการจัดเก็บน้ำมัน (Storage Problem) ทั้งนี้แม้ว่าในสหรัฐแหล่งจัดเก็บน้ำมันที่มีขนาดใหญ่ อย่างเมืองคุชชิง ในโอคลาโฮมา จะมีอัตราการจัดเก็บที่สูงขึ้นกว่า 10% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จนจะแตะระดับ 60 ล้านบาร์เรล เหลืออีกเพียง 25 ล้านบาร์เรลก็จะเต็มความจุทั้งหมดก็ตาม หรือแม้แต่แหล่งจัดเก็บใต้ดิน อย่าง Salt Caverns ที่มีขนาดการจัดเก็บน้ำมันใหญ่ที่สุดก็เริ่มที่จะจัดเก็บน้ำมันใกล้เต็มความจุรวม

อย่างไรก็ดี บริษัทน้ำมันได้แก้ปัญหาดังกล่าวแบบชั่วคราวด้วยการใช้แหล่งเก็บน้ำมันแบบที่ลอยเหนือน่านน้ำหรือ Supertanker ที่ทางรอยเตอร์สคาดการณ์ว่าเก็บได้ราว 160 ล้านบาร์เรลในสหรัฐ

แต่ที่ดูแล้วถือว่าน่าสนใจ ได้แก่ การจัดเก็บแบบ Frac tank ซึ่งปกติแล้วถังเก็บเหล่านี้จะจัดเก็บสารเคมีที่เป็นของเหลวที่เรียกว่า frac fluids โดยในช่วงนี้ได้มีการปรับถังเก็บเหล่านี้มาเก็บน้ำมันแทน โดยข้อดีของวิธีนี้คือมีต้นทุนที่ถูก โดยแต่ละ frac tank สามารถจัดเก็บน้ำมันได้ราว 500 บาร์เรล หากมีถังเหล่านี้หลายๆ หน่วยก็ถือว่าเป็นแหล่งจัดเก็บน้ำมันขนาดย่อมได้ โดยที่ข้อดีอีกอย่างคือ สามารถขนถ่ายไปยังจุดที่เป็นรถขนน้ำมันได้ง่ายอีกด้วย โดยแน่นอนว่าราคาของ frac tank ก็สูงขึ้นมาในช่วงนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากข้อดีดังกล่าว

3.ปัจจัยกองทุน USO โดยกองทุนตราสาร ETF แบบ Passive อย่าง United States Oil Fund (USO) ได้เป็นปัจจัยที่มีส่วนทำให้ราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ขยับสูงขึ้น โดยที่ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ในช่วงที่ราคาสูงขึ้นนั้นราคา ETF ของน้ำมันดิบจะสูงกว่าราคาน้ำมันที่ใช้เป็น Underlying หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ETF นี้ Overpriced ซึ่งจะทำให้ปริมาณการซื้อขายของ ETF นี้สูงขึ้น นั่นคือจะมีอุปสงค์ต่อน้ำมันในส่วน Underlying เยอะขึ้นดันให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น

นอกจากนี้ หน่วยงานที่กำกับ USO อย่าง CME ยังได้ประกาศให้ USO ยกเลิกการใช้ Crude Futures ที่หมดอายุในเดือน พ.ค.นี้ เป็นสินทรัพย์ที่นำมาคำนวณราคา ETF โดยให้ไปเพิ่มสัญญา Futures เดือน เม.ย.2021 แทนซึ่งส่งผลให้ราคาของ USO สูงขึ้นโดยธรรมชาติ

อีกทั้ง CME ยังกำหนดลิมิตของจำนวนของสัญญาที่ USO จะสามารถออกได้ในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญญาแบบ Short ทั้งหมดล้วนส่งผลดีต่อราคาน้ำมันดิบในช่วงสั้นจากปัจจัย USO

ท้ายสุดปัจจัยด้านอุปทานในช่วงนี้ จากการที่อุปสงค์น้ำมันโลกที่ลดลงเป็นอย่างมาก โดยคาดว่าจะลดลงถึง 30% ในไตรมาสนี้ ได้ส่งผลให้บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของสหรัฐทำการ Shut-ins หรือลดกำลังการผลิตคาดว่ากว่า 4 แสนบาร์เรลต่อวัน รวมถึงโอเปคภายใต้การนำของรัสเซียและซาอุดีอาระเบียที่จะลดกำลังการผลิตลง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงตลาดยังคาดหวังไปถึงการลดกำลังการผลิตอีกครั้งสำหรับการประชุมโอเปคครั้งต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ได้มีรายงานว่าแหล่งผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐได้ลดกำลังการผลิตในช่วงนี้ลงราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบก็ยังมีโอกาสกลับไปทดสอบระดับที่เป็นจุดต่ำสุดเดิมในช่วงกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หากความชัดเจนของ Second Wave ของโควิด-19 ปรากฏชัดเจนขึ้นในสหรัฐยุโรปและจีน ว่ามาแบบค่อนข้างรุนแรง รวมถึง First Wave ที่น่าจะมาแรงอย่างในบราซิล อินเดีย และแอฟริกา


หมายเหตุ : หากผู้อ่านสนใจงานสัมมนาแบบ Online ในหัวข้อ  “มุมมองการลงทุนและเศรษฐกิจในวิกฤติโควิด” ที่จะจัดในวันเสาร์ที่ 23 พ.ค.นี้ สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง FB fan Page : MacroView หรือเบอร์โทร.094-354-2002