ผู้เชี่ยวชาญทางทะเล แนะรัฐศึกษาข้อมูลทส.ในพื้นที่ ก่อนทำแผนเปิด-ปิดให้ธช.พักฟื้น
ชี้ แต่ละพื้นที่มีสภาพและความซับซ้อนต่างกัน
ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า แนวคิดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่เสนอจะให้มีการปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ หลังจากพบว่าสภาพธรรมชาติในพื้นที่ดูแลรับผิดชอบดีขึ้นจากการปิดชั่วคราวช่วงโควิด เป็นแนวคิดที่ดี
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ดร. ธรณ์ กล่าวว่า อาจต้องวางแผนให้รอบคอบและครบถ้วน โดยเฉพาะอุทยานฯ ทางทะเล
ทั้งนี้ เนื่องจากอุทยานฯ ทางทะเล ซึ่งมีอยู่ 26 แห่งของไทย ตั้งอยู่กระจายไปทุกพื้นที่ มีทรัพยากรต่างกัน และมีการใช้ประโยชน์ต่างกัน บางอุทยานฯ อาจมีนักท่องเที่ยวน้อย แค่หลักหมื่น ในขณะที่บางอุทยานฯ อย่างหมู่เกาะพีพี เกาะเสม็ด สิมิลัน มีนักท่องเที่ยวหลายแสนจนถึงสองล้านคน แม้แต่อุทยานที่มีคนเยอะ กลุ่มนักท่องเที่ยวก็ต่างกัน โดยบางแห่งมีถึง 95% ที่เป็นต่างชาติ ในขณะที่บางแห่งชาวไทยเยอะกว่า, ดร.ธรณ์กล่าว
ในขณะที่การปิด-เปิดอุทยานฯ โดยบางอุทยานฯ จะมีการปิดตามฤดูอยู่แล้ว เช่น สิมิลัน สุรินทร์ ที่ปิดปีละเกิน 3 เดือน ในขณะที่บางแห่งจะปิดเพียงบางพื้นที่ในบางฤดูกาล เช่น อช.ลันตาปิดเกาะรอกในฤดูมรสุม หรือบางแห่งปิดบางพื้นที่ถาวร เช่น อช.หมู่เกาะพีพีจะปิดเกาะยูงถาวร อช.สิมิลันปิดเกาะตาชัย และหลายๆ แห่งที่เปิดตลอดทั้งปี ไม่มีการปิด เช่น อช.สิรินาถ ทะเลบัน หรือเกาะเสม็ด เป็นต้น, ดร.ธรณ์กล่าว
“เอามาให้เพื่อนธรณ์ดูคร่าวๆ ว่ามันซับซ้อนมาก และอุทยานเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเต็มๆ สร้างรายได้มหาศาล เอาเฉพาะภูเก็ต ก็ปีละ 4.4 แสนล้าน
“การอนุรักษ์ที่รอบคอบ จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่ดีงาม การพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจที่พอเพียง อยากทำเช่นนั้น เราต้องมองครบทุกมุม เอาข้อมูลมาซ้อนเป็นชั้นๆ สภาพทรัพยากร แนวปะการัง แหล่งสัตว์หายาก แหล่งท่องเที่ยวระดับต่างๆ ฯลฯ จากนั้นดูในภาพใหญ่รวมกัน โดยแบ่งให้ถูกต้อง," ดร.ธรณ์กล่าว
ดร.ธรณ์ กล่าวว่า เมื่อมีการศึกษารวบรวมฐานข้อมูลเรียบร้อย จึงนำเสนอตามลำดับขั้นจากกรมสู่กระทรวง และข้ามกระทรวง ทั้งนี้ เพราะพื้นที่ธรรมชาติและกิจกรรมดังกล่าว ไม่ได้มีเพียงแต่พื้นที่อุทยานฯ หากยังมีพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมและกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงการท่องเที่ยว เป็นต้น
"เมื่อได้แผนคร่าวๆ ว่าจะปิดเปิดที่ไหนอย่างไร ลองกลับไปที่พื้นที่ พูดคุยปรับเปลี่ยนให้เหมาะ จากนั้นส่งมารวมกันอีกที แล้วค่อยลงมือทำให้เกิดผลทางปฏิบัติ ทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าซับซ้อนและกินเวลาพอสมควร ไม่ง่ายเหมือนแค่สั่งไปให้แต่ละอุทยานหาเวลาปิด 3 เดือนมา
"หากเรารอบคอบ เริ่มต้นแบบเหนื่อยหน่อย เราจะได้ระบบที่ดีและถาวร และการอนุรักษ์จะไปคู่กับการพัฒนาได้," ดร.ธรณ์แนะ พร้อมให้กำลังใจกระทรวงที่ริเริ่มแผน New Normal ด้านอนุรักษ์
ภาพ/ ฝูงปลาโลมาปากขวดอวดโฉมที่ อช.สิมิลัน/ อช.สิมิลัน/ อส.