โควิด-19 ฉุดดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทยร่วงต่อเนื่อง ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ หอการค้าไทยเผยผลสำรวจหอการค้าทั่วประเทศ พบภาคท่องเที่ยวกระทบหนักสุดจากการระบาดโควิด-19 ทำดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทยร่วงต่อเนื่องต่ำสุดในรอบ 28 เดือน ภาคเอกชน จี้รัฐบาลรีสตาร์ทธุรกิจ ป้องกันคนตกงานกว่า 7 ล้านคน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้สำรวจความเห็นประธานหอการค้าจังหวัด รองประธานหอการค้าจังหวัด ผู้ประกอบการ ทั่วประเทศจำนวน 364 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22-29 เม.ย. พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน เม.ย.2563 อยู่ที่ระดับ 32.1 ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 ที่เริ่มมีการสำรวจหรือ ต่ำสุดในรอบ 28 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นลดลงทุกภาค
ปัจจัยลบยังคงเป็นเรื่องของการระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีผู้ติดเชื้ออยู่อย่างต่อเนื่อง การใช้มาตรการล๊อคดาวน์ การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการปิดกิจการบางประเภท ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ปัญหาการวางงานจากการปิดธุรกิจในบางประเภท ขณะที่ปัจจัยบวกมาจากมาตรการรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ การส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.63 เพิ่มขึ้น 4.17 %
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทยที่ทรุดต่ำลงเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ได้รับผลกระทบจากปิดกิจการ ซึ่งก็ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะมีการรีสตาร์ทธุรกิจได้เมื่อไร โดยเฉพาะภาคใต้ที่โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวหนักมากที่ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ราคาพืชทางการเกษตรที่ลดลงทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน จนทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นลดต่ำกว่าระดับ 30 เป็นครั้งแรก
“มาตรการล๊อคดาวน์ การปิดธุรกิจ ส่งให้ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือ ภาคการท่องเที่ยว และซัพพลายเชน รวมทั้งการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ลดลง ผลที่ตามมาคือ การจ้างงงานที่ลดลง ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)คาดว่า หากธุรกิจยังไม่รีสตาร์ทธุรกิจในกลางเดือนพ.ค.จะทำให้คนตกงาน 7 ล้านคน แต่หากผ่อนคลายมาตรการล๊อคดาวน์ก็จะให้คนตกงานลดลงเหลือ 3 ล้านคน และเปิดกลุ่มธรกิจในเฟสที่ 3 ในเดือนมิ.ย.ความเชื่อมั่นก็จะหลับมารวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ประมาณปลายไตรมาส 3 หรือประมาณเดือน ก.ย.”
สำหรับ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา คือ การผ่อนปรนการเปิดกิจการ เพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงักไปมากกว่านี้ การผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของโควิด-19 โดยถ้าหากเปรียบเทียบประเทศอื่นมีการจ่ายเงินเยียวยาล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่หมดทุกครัวเรือนหรือกลุ่มทีได้รับผลกระทบชัดเจน ซึ่งต่างจากไทยที่ยังมีการคัดกรอง ส่งผลให้ประชาชนที่ยังไมได้รับการเยียวยาได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก
ทั้งนี้มาตรการจ่ายเงินเยียวยาที่เดิมเป็นมาตรการที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจแต่ขณะนี้ถือเป็นมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะทำให้ประชาชนนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจขับเคลื่อนได้ ซึ่งหากวันที่ 17 พ.ค.มีการรีสตาร์ทในเฟส 2 ก็จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นซึ่งจะสอดคล้องภาคการเกษตรที่ได้รับเงินเยียวยาในช่วงกลางเดือนพ.ค.
นอกจากนี้ภาคเอกชน ยังต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการรองรับธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนถึงขั้นต้องปิดกิจการลงชั่วคราว ทำให้ต้องปลดพนักงาน และหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจทำให้ต้องปิดกิจการ โดยต้องการให้ธนาคารผ่อนคลายเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี หรือซอฟโลน สามารถกู้เงินเพื่อมาจัดการสภาพคล่องทางการเงิน และจ้างงานได้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด ซึ่งตามหลักวิชาการการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อต้องติดลบ 6 เดือนติดต่อกัน แต่ปัจจุบันติดลบไปแล้ว 2 เดือนติดต่อต่อ เหลืออีก 6 เดือนซึ่งก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่อีก 4 เดือนจะติดลบต่อเนื่อง จนทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ในปีนี้ เนื่องจากประชาชนไม่มีกำลังซื้อ จากผลกระทบการปิดธุรกิจทำให้มีการเลิกจ้าง แต่สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลก มั่นใจว่า ปีหน้าภาวะดังกล่าวจะหายไปในปี 2564 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวในทิศทางทางที่ดีที่คาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป